เรียนรู้หลักการบริหาร จาก คัมภีร์ห้าห่วง วิถีแห่งการไร้พ่าย ของ “มิยาโมโตะ มุซาชิ”

เรียนรู้หลักการบริหาร จาก คัมภีร์ห้าห่วง วิถีแห่งการไร้พ่าย ของ “มิยาโมโตะ มุซาชิ”

24 เม.ย. 2021
เรียนรู้หลักการบริหาร จาก คัมภีร์ห้าห่วง วิถีแห่งการไร้พ่าย ของ “มิยาโมโตะ มุซาชิ” | THE BRIEFCASE
“มิยาโมโตะ มุซาชิ” นักดาบซามูไรระดับตำนาน ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น
ด้วยความสามารถในการสู้รบอันหลักแหลม ทำให้เขาได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่ไม่รู้จักความพ่ายแพ้ในการสู้รบ
ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นความสามารถในการ ปรับเปลี่ยนกระบวนท่าไปตามศัตรูนั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาได้ผันตัวมาเป็นปรมาจารย์สอนเพลงดาบ และยังได้รวบรวมประสบการณ์การสู้รบด้วยไหวพริบของเขาทั้งหมด แต่งเป็นคัมภีร์ออกมา ถึง 2 เล่ม คือ “คัมภีร์ 35 กลยุทธ์” และ “คัมภีร์โกะริงโนะโชะ” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “คัมภีร์ห้าห่วง” (The Book of Five Rings)
โดยคัมภีร์ที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดของเขาก็คือ “คัมภีร์ห้าห่วง”
ที่ถูกเปรียบเปรยว่า เป็นตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ แบบของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
แล้วคัมภีร์นี้สามารถนำมาปรับใช้กับการบริหารธุรกิจได้อย่างไร ?
ในบทความนี้ THE BRIEFCASE จะมาสรุปให้ทุกคนอ่านกัน
โดยแก่นแท้ของคัมภีร์ห้าห่วงนี้ ก็คือการกล่าวถึงธาตุทั้ง 5
ประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 จากธรรมชาติ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
และธาตุสุดท้าย คือ สุญญากาศ ที่เปรียบดั่งสัจธรรมของมนุษย์ หรือก็คือความว่างเปล่าในจิตใจ
ธาตุที่ 1 - “ดิน”
เปรียบเสมือนกับ การรู้จักพื้นฐานของตัวเอง
โดยในคัมภีร์ของธาตุดินนี้ มุซาชิจะกล่าวในเรื่องของการเรียนรู้ เข้าใจพื้นฐานของดาบ เพลงดาบ
รวมถึงตัวตนของผู้ฝึกวิชา
ซึ่งหากเราเปรียบเป็นกลยุทธ์การบริหารแล้ว สิ่งนี้คือการรู้จักจุดแข็ง จุดอ่อนของธุรกิจนั่นเอง
เมื่อรู้จุดแข็ง หรือข้อได้เปรียบของตัวเองแล้ว ก็จงหมั่นฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
นำจุดแข็งมาพัฒนาจุดด้อยของเรา
ดังที่มุซาชิได้กล่าวว่า “ผู้ที่จะเชี่ยวชาญในการรำดาบ ต้องใช้เวลาที่ยาวนาน และการฝึกฝนที่สม่ำเสมอ อย่าง ไม่มีที่สิ้นสุด”
ธาตุที่ 2 - “น้ำ”
เปรียบเสมือน การรู้จักการปรับตัว และความยืดหยุ่น
มุซาชิได้เขียนไว้ในคัมภีร์บทที่สอง เกี่ยวกับเทคนิคของการใช้เพลงดาบแบบพิเศษ
เพื่อที่นักดาบผู้ฝึกฝน จะได้มีกลยุทธ์เอาไว้ใช้ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ต่าง ๆ
สะท้อนกลับมาในมุมมองเชิงธุรกิจในสมัยใหม่
โดยหลักแนวคิดนี้ จะมีความคล้ายคลึงกับ คอนเซปต์ Resilience กล่าวคือ เราจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ และหากล้ม ก็ต้องเรียนรู้ที่จะลุกให้ไว
สุดท้าย ต้องมีกลยุทธ์และความสามารถในการเตรียมความพร้อมที่จะรองรับภาวะแปรปรวน ที่จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เช่น วิกฤติโควิด 19 ที่กำลังกระทบกับธุรกิจทุกภาคส่วน
ดังที่มุซาชิได้กล่าวว่า “จงเป็นน้ำที่ปรับเปลี่ยนรูปร่างและอัตลักษณ์ อย่าเป็นดั่งหินแข็ง ที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ หรือปรับรูปทรงได้”
ธาตุที่ 3 - “ลม”
เปรียบเสมือน การรู้จักคู่แข่ง
คัมภีร์บทนี้ ว่าด้วยการที่นักดาบจะเก่งได้ ต้องรู้จักอ่านกลยุทธ์ของคู่ต่อสู้ให้ออก
เมื่อเราอ่านสถานการณ์ออกแล้ว ก็ต้องปรับกลยุทธ์ตามให้ได้ด้วย
หากมองมาที่หลักการทำธุรกิจ เป็นธรรมดาที่ธุรกิจจะต้องมีคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งแบบแนวนอน ที่ทำธุรกิจเหมือนกับเรา หรือคู่แข่งแนวตั้ง ที่ทำธุรกิจไม่เหมือนเรา แต่มีความเกี่ยวข้อง อาจเป็นธุรกิจต้นน้ำ หรือปลายน้ำ
เราจำเป็นต้องอ่านสถานการณ์ของตัวเองและคู่แข่ง เพื่อที่เราจะได้รู้ว่า เวลาไหนควรแข่งขัน หรือเวลาไหนควรที่จะจับมือ เพื่อสร้างพันธมิตร
ดังที่มุซาชิได้กล่าวว่า “หากไม่มีการเปรียบเทียบตนเองกับศัตรูเลย เราก็จะไม่มีทางรู้ว่า เรากำลังใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้อง ที่ทำให้เราเดินหน้าได้เปรียบ หรือกำลังถอยหลังเสียเปรียบ”
ธาตุที่ 4 - “ไฟ”
เปรียบเสมือน การประเมินสถานการณ์ เพื่อหาจังหวะที่เหมาะสม และคว้าชัยชนะ
คัมภีร์บทนี้ อาจเรียกได้ว่า เป็นภาคต่อจากคัมภีร์ธาตุลมเลยก็ว่าได้ กล่าวคือ เมื่อเรารู้แล้วว่าศัตรูกำลังจะทำอะไร
สิ่งต่อไปที่ควรรู้คือ การมุ่งหน้าสู่ชัยชนะ จากการอ่านสถานการณ์ทั้งหมด ทำให้ศัตรูเผยจุดอ่อนออกมา และ ต้องเป็นฝ่ายหาจังหวะโจมตีคู่ต่อสู้ให้ได้ก่อน เพื่อชิงความได้เปรียบ และคว้าชัยชนะในที่สุด
ก็ไม่ต่างอะไรกับการบริหารองค์กร ที่บางทีหากเราต้องการมีความได้เปรียบทางธุรกิจ เราอาจจะเริ่มหาจังหวะที่ดี ในการสร้างสิ่งใหม่เป็นคนแรก ๆ หรือที่เรารู้จักกันว่า “First-Mover Advantage” ความได้เปรียบจากการเข้าสู่ตลาดก่อนคู่แข่งนั่นเอง
ทั้งหมดนี้ มุซาชิได้กล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า “จงสู้ เมื่อรู้ว่าจะชนะ คนเพียงคนเดียว ก็สามารถที่จะเอาชนะคน 10 คนได้”
ธาตุที่ 5 - “สุญญากาศ” หรือ ความว่างเปล่า
เปรียบเสมือน การคิดนอกกรอบ เพื่อที่จะสร้างโอกาสให้กับตัวเอง
สุญญากาศในที่นี้ มุซาชิเปรียบกับการที่เราสามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็น หรือสัมผัสได้ เช่น ความว่างเปล่า ธาตุอากาศ วิญญาณ หรือธรรมชาติรอบตัว
การรับรู้ถึงพลังงานเหล่านั้น และสามารถนำมาใช้ในการต่อสู้ได้ นักดาบผู้นั้นก็จะมีความได้เปรียบขั้นสุด
ถ้าเรามองสะท้อนมาในมุมของการบริหารและการทำธุรกิจ
ก็คือ เราต้องรู้ว่า เรากำลังมองไม่เห็นสิ่งไหน หรือว่าเรากำลังยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ มากเกินไปหรือไม่
วิธีการก็คือ การเริ่มต้นกลับมามองในมุมมองของภาพที่ใหญ่ขึ้น หรือการที่รับฟังความคิดเห็นคนอื่น ระดมสมองกับคนในทีม ก็อาจทำให้เราคิดนอกกรอบไปยังจุดที่เราอาจไม่เคยมองเห็น และสร้างอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาได้นั่นเอง
ดังที่มุซาชิได้กล่าวว่า “การที่เรารับรู้ว่าสิ่งไหนอยู่ใกล้ตัว ก็จะทำให้เรารับรู้ต่อว่า สิ่งไหนที่อยู่ไกลตัว”
อ่านถึงตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่า หลักการบริหารของมุซาชิ จะเน้นไปที่ปัจจัยพื้นฐานของตัวเองและสิ่งรอบตัว
ซึ่งเปรียบเสมือนกับธาตุทั้ง 5 ที่เป็นพื้นฐานของโลกใบนี้
THE BRIEFCASE ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ค้นหาและฝึกฝนธาตุทั้ง 5 กับการบริหารธุรกิจ และบริหารทีมงาน จนเกิดเป็นพื้นฐานแห่งความแข็งแกร่งที่ไร้พ่าย ดั่ง “มิยาโมโตะ มุซาชิ”
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/The_Book_of_Five_Rings
-https://www.gypzyworld.com/article/view/578
-https://www.nateliason.com/notes/book-five-rings-miyamoto-musashi
-https://medium.com/@rqaiserr/how-to-develop-a-strategic-mind-8479ae01458a
-https://madeyouthinkpodcast.com/the-book-of-five-rings-by-miyamoto-musashi/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.