Cunningham’s Law วิธีการตั้งคำถามที่ผิด เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง

Cunningham’s Law วิธีการตั้งคำถามที่ผิด เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง

26 เม.ย. 2021
Cunningham’s Law วิธีการตั้งคำถามที่ผิด เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง | THE BRIEFCASE
เคยเป็นไหม ? เวลาที่เราโพสต์ถามคำถามอะไรสักอย่าง ไปบนโซเชียลมีเดีย
หลายครั้งก็มักไม่ได้คำตอบกลับมา หรือไม่ค่อยมีคนให้ความร่วมมือสักเท่าไร
ตัวอย่างเช่น หากเราลองตั้งคำถามว่า ทำไมเรือไททานิกถึงจม ?
คนที่มาเห็นคำถามของเรา อาจสไลด์หน้าจอโทรศัพท์ผ่านไป โดยที่ไม่ได้สนใจอะไร
แต่หากเราลองโพสต์ตั้งคำถามแปลก ๆ หรือลองถามในสิ่งที่ผิด
เช่น “รู้ไหมว่า เรือไททานิกจม เพราะว่าถูกเอเลียนบุก..”
เชื่อไหมว่า อย่างน้อยต้องมีคนเข้ามาช่วยกันแสดงความเห็น หรือให้คำตอบ เพื่อแก้ไขในสิ่งที่เราถามอย่างแน่นอน
เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วยกฎที่ชื่อว่า Cunningham’s Law
ซึ่งผู้ที่คิดค้นกฎนี้ขึ้นมา ก็คือคุณ Ward Cunningham โปรแกรมเมอร์ชาวอเมริกัน ที่เป็นผู้พัฒนาเว็บไซต์ WikiWikiWeb ซึ่งถือเป็นเว็บไซต์ Wiki เวอร์ชันแรกของโลก
โดยคุณ Cunningham ได้อธิบายไว้ว่า..
“วิธีที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เราได้คำตอบที่ถูกต้องบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่ได้มาจากการตั้งคำถาม
แต่มาจาก การแสดงคำตอบที่ผิด ออกมาต่างหาก”
โดยเขาได้อธิบายต่อว่า คนเรามักให้ความสนใจกับการแก้ไขในสิ่งที่ผิด
มากกว่าการตอบคำถามทั่วไป
ซึ่งในภายหลัง กฎนี้ก็ถูกนำมาใช้ในการอธิบายกลไกของเว็บไซต์ ที่ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาแก้ไขข้อมูลได้อย่าง “Wikipedia” นั่นเอง
แล้วกฎนี้ใช้ได้จริงแค่ไหน ?
คุณ Rajeev R. Tripathi รองศาสตราจารย์จากสถาบัน Indian Institute of Management Bangalore (IIMB) ได้ทำการทดลอง โดยการให้นักเรียนในคลาสจำนวน 30 คน เข้ามาเล่นเกมที่ชื่อว่า Beautiful Mind ซึ่งเป็นเกมที่ดัดแปลงมาจาก เกม Guess 2/3 of the Average จากหนังสือเรื่อง The General Theory of Employment, Interest and Money
หลักการของเกม Guess 2/3 of the Average คือจะให้คนกลุ่มหนึ่ง เดาตัวเลขที่อยู่ในช่วง 0-100 โดยคนที่สามารถเดาเลขที่ใกล้เคียงกับ 2 ใน 3 ของค่าเฉลี่ยได้มากที่สุด คนนั้นจะเป็นผู้ชนะไป
ซึ่งตามหลักแล้ว หากเราอยากเป็นผู้ชนะเกมนี้ เราไม่ควรจะเดาเลขที่สูงกว่า 66.66
สาเหตุก็เป็นเพราะว่า โอกาสที่ค่าเฉลี่ยของตัวเลขทั้งหมดจะเท่ากับ 100 นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้
ดังนั้น 2/3 ของค่าเฉลี่ย ก็ไม่ควรที่จะเกิน 66.66 เช่นกัน
แต่ก่อนที่จะเริ่มเล่นเกม กติกาได้ถูกเปลี่ยนใหม่โดยที่ไม่ได้บอกให้ใครรู้
โดยปรับเป็น ผู้ที่ทายเลขได้ใกล้เคียง 1 ใน 3 ของค่าเฉลี่ยมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ
ซึ่งหลังจากที่เขาให้นักเรียนเล่นเกมในรอบนั้นเสร็จสิ้น
นักเรียนบางคนเริ่มเอะใจ และเคลือบแคลงในการตัดสิน ส่วนนักเรียนที่ตกรอบบางคนก็เริ่มสงสัยเช่นเดียวกัน ถึงรูปแบบการให้คะแนน ทำให้หลาย ๆ คนต่างต้องการฟังคำอธิบาย
จนบรรยากาศในห้องกลายเป็นเหมือนทีวีโชว์ มีการถกเถียงกันไปมา จนทำให้การแข่งขันต้องสิ้นสุดลงในที่สุด
ซึ่งการทดลองนี้ก็แสดงให้เห็นว่า การสร้างสถานการณ์แบบผิด ๆ เข้าไปในการทดลองนั้น
สามารถทำให้เกิดการ Brainstorm และการพูดคุยกันมากขึ้น พร้อมทั้งยังทำให้ผู้ร่วมทดลองนั้นรู้จักโต้แย้งกันเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องอีกด้วย
และเป็นการพิสูจน์ว่า กฎ Cunningham’s Law นั้น สามารถช่วยให้เกิดความร่วมมือจนทำให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องนั่นเอง
ซึ่งนอกจากจะใช้ในการเรียนการสอนได้แล้ว Cunningham’s Law ยังสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานได้อีกด้วย
หากใครที่กำลังเจอปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตประจำวัน การเรียน หรือแม้แต่การทำงาน
ลองนำหลักของ Cunningham’s Law มาใช้ดู แล้วดูว่าผลลัพธ์ที่ออกมา จะเป็นอย่างที่คุณ Rajeev ได้ทดลองไว้หรือไม่..
References
-https://www.linkedin.com/pulse/preach-falsehood-know-truth-cunninghams-law-can-group-tripathi/
-https://medium.com/mind-cafe/a-psychological-trick-to-evoke-an-interesting-conversation-144ce6a376ae
-https://theincidentaleconomist.com/wordpress/analysis-of-whats-23-of-the-average/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Ward_Cunningham?fbclid=IwAR0t6nItS-JxcI7P2hTpNflchQMjq02SNvRN4j_87apDnsfEGZoGtoPzKuI#Ideas_and_inventions
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.