อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง เกินความเป็นจริง

อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง เกินความเป็นจริง

3 พ.ค. 2021
อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง เกินความเป็นจริง | THE BRIEFCASE
ตอนเราเด็ก ๆ เราอาจจะมั่นใจมากว่า “ตัวเราเก่งคณิตศาสตร์” เพราะตอนนั้นเราบวกลบคูณหารได้ถูกตลอด
นั่นก็เพราะเรายังไม่ได้รู้ว่า โลกของคณิตศาสตร์ มันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้นอีกมากมาย
หรือตอนมาเปิดกิจการ ทำธุรกิจเอง ช่วงเริ่มต้นบางคนอาจคิดว่า น่าจะทำได้ไม่ยาก
เพราะตอนเป็นพนักงาน ก็เคยขายของได้ยอดที่ดี มีตัวเลขที่สวยงามมาก่อน
ซึ่งเรื่องนี้เป็นอคติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ และมีชื่อที่เรียกอาการนี้ว่า “Dunning-Kruger Effect”
โดยคนที่เป็นเจ้าของทฤษฎีนี้ชื่อว่า David Dunning และ Justin Kruger เป็นนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล
Dunning-Kruger Effect คืออะไร แล้วทำไมเราถึงจำเป็นต้องสนใจเรื่องนี้ ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
Dunning-Kruger Effect คือทฤษฎีที่บอกว่า มนุษย์มักจะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตผิดพลาด
เพราะคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าความเป็นจริง และเมื่อคิดว่าตัวเองเก่งมากพอแล้ว
ก็จะมองไม่เห็นข้อบกพร่องของตัวเอง และแก้ไขมันช้า หรือบางทีก็อาจจะแก้ไขไม่ทันแล้ว..
ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นในทุกวงการ ตั้งแต่การใช้ชีวิต การทำธุรกิจ หรือแม้แต่การลงทุน
ตัวอย่างเช่น
- มีการทำวิจัยในสหรัฐฯ พบว่า นักศึกษากว่า 93% ประเมินว่าตัวเองมีทักษะในการขับขี่เก่งกว่าคนทั่ว ๆ ไป ซึ่งนำไปสู่การขับขี่ที่ประมาทและอุบัติเหตุทางรถยนต์
- นักโทษคดีอาชญากรรมจำนวนมาก มักจะมีความมั่นใจว่าตัวเองมีความสามารถสูงกว่าคนทั่วไป
และไม่มีวันพลาดจนถูกจับ แต่เราก็คงได้เห็นแล้วว่า ทุกวันนี้ในห้องขังมีนักโทษจำนวนมากมาย จนแทบจะขังไม่พอ
- เจ้าของร้านอาหารหลายร้านในสหรัฐฯ ก็บอกว่า อาหารของเขานั้นมีคุณภาพดี รสชาติอร่อย
บางคนถึงขนาดบอกว่า ตัวเองจะต้องได้รับรางวัลอะไรสักอย่าง อย่างแน่นอน
แต่สุดท้ายร้านส่วนใหญ่ในงานวิจัยนี้ ก็ปิดตัวลงภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี
- บางคนคิดว่า การลงทุนในตลาดคงไม่ใช่เรื่องยากอะไร แค่ดู P/E ดูกราฟ ก็น่าจะทำกำไรได้ไม่ยาก
แต่เราก็คงจะเห็นแล้วว่า โลกนี้มีคนที่ชนะตลาดและร่ำรวยจริง ๆ เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์..
เรื่องความมั่นใจเหล่านี้ เกิดจากการที่เรายังไม่ได้เรียนรู้และยังไม่ได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มากพอ เพราะแต่ละเรื่องที่เราเข้าไปสัมผัส มักมีความลึกซึ้งและมีรายละเอียดอีกมากมายมหาศาลที่เรายังไม่รู้
อีกทั้งโลกของเรามีความไม่แน่นอน และมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อยู่เต็มไปหมด
แต่หลายคน เมื่อทำอะไรสำเร็จได้เพียงหน่อยเดียว ก็คิดไปเองว่าตัวเองสามารถควบคุมทุกอย่างได้ทั้งหมด
จนนำไปสู่ความประมาท และมองข้ามข้อผิดพลาดหรือปัจจัยเล็ก ๆ ไป
ดังนั้นทุกครั้งที่เราทำอะไรสำเร็จ ก็อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุป ว่าสิ่งต่อไปจะสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เหมือนเดิม
ควรสังเกตปัจจัยรอบข้าง หาบทเรียนทั้งจากความสำเร็จและความผิดพลาด
เพราะการทำตัวให้ยืดหยุ่นอยู่เสมอ เวลาที่ล้ม ก็จะไม่เจ็บมาก..
References
-https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-art-thinking-clearly/201306/the-overconfidence-effect
-https://en.wikipedia.org/wiki/Dunning%E2%80%93Kruger_effect
-https://www.verywellmind.com/an-overview-of-the-dunning-kruger-effect-4160740
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.