ความสนุก เปลี่ยนพฤติกรรมคน ให้ดีขึ้นได้

ความสนุก เปลี่ยนพฤติกรรมคน ให้ดีขึ้นได้

13 พ.ค. 2021
ความสนุก เปลี่ยนพฤติกรรมคน ให้ดีขึ้นได้ | THE BRIEFCASE
ถ้าเราอยากจะโน้มน้าวพฤติกรรมของคนคนหนึ่งเราจะมีวิธีการอย่างไร ?
ยกตัวอย่างคือ ถ้าเราอยากให้คนทิ้งขยะให้ลงถัง
เราจะเลือกสร้างบทลงโทษขึ้นมา โดยการปรับเงินคนที่ทิ้งขยะไม่ลงถัง
หรือเราจะเลือกใช้วิธีการวาดฝาถังขยะให้เป็นรูปแป้นบาสเกตบอล เพื่อให้คนอยากทิ้งขยะให้ลงถังมากขึ้น
เราลองมารู้จักกับ Fun Theory ทฤษฎีที่จะช่วยให้เรา โน้มน้าวใจคนได้ โดยไม่ต้องบังคับ
แล้วทฤษฎีนี้น่าสนใจอย่างไร ?
THE BREIFCASE จะสรุปให้ฟัง
กลไกของ Fun Theory ก็คือ การนำความสนุก มาเป็นแรงเสริมให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
โดยแทนที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมพวกเขาด้วยการทำให้คนคนนั้นรู้สึกผิด
กลับเป็นการใช้ความสนุกและตื่นเต้นในการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมนั้นแทน
ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่ได้นำหลักของ Fun Theory มาใช้ จนกลายเป็นที่โด่งดังก็คือ Volkswagen
โดยในปี 2009 ทางบริษัทต้องการที่จะทดสอบว่า การที่พวกเขาทำให้รถ Eco Car นั้นขับขี่ได้ดีขึ้น
หรือไม่สูญเสียความสนุกในการขับขี่เหมือนรถที่ใช้น้ำมันทั่วไป
จะมีผลในการทำให้คนเลือกใช้ Eco Car มากขึ้นหรือไม่
แต่แทนที่พวกเขาจะทดสอบด้วยการยิงการตลาดแบบตรง ๆ
ทางฝั่งผู้ผลิตโฆษณา ก็ได้เสนอให้ ทำการตลาดโดยการทดลองว่าความสนุกจะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของคนได้มากน้อยแค่ไหน โดยพวกเขาก็ได้ทำการทดลองอยู่หลายอย่าง
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ แคมเปนที่ชื่อว่า “A Piano Staircase”
โดยพวกเขาได้ทำการตกแต่งขั้นบันไดที่บริเวณสถานีรถไฟให้คล้ายกับคีย์บอร์ดเปียโน
แล้วทำให้บันไดแต่ละขั้นมีเสียง
พอเวลามีคนเหยียบขั้นบันได ก็จะมีเสียงตัวโน้ตดังขึ้น เหมือนเวลาเล่นเปียโน
ซึ่งหลังจากติดตั้งบันไดเปียโนนี้ ผลปรากฏว่าจากที่ปกติ คนมักจะใช้บันไดเลื่อนที่อยู่ข้าง ๆ
พวกเขากลับเปลี่ยนมาใช้บันไดเปียโนนี้แทน แล้วพากันสร้างสรรค์ตัวโน้ตเป็นบทเพลง
โดยทาง Volkswagen ก็ได้บันทึกวิดีโอของคนเหล่านั้น แล้วปล่อยคลิปออกมาตามสื่อต่าง ๆ จนกลายเป็นไวรัลบนโลกอินเทอร์เน็ต
ที่น่าสนใจคือ จากผลการสำรวจของแคมเปนนี้พบว่า
ผู้ใช้บริการที่สถานีหันมาเดินขึ้นบันไดกันมากขึ้นถึง 66% เลยทีเดียว
และก็ทำให้เห็นว่า ความสนุกนั้นสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไปในทางที่ดีขึ้นได้
ซึ่งความจริงแล้วเราก็สามารถนำ Fun Theory มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการตลาดออนไลน์ในปัจจุบันได้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น การใส่คอนเทนต์สนุก ๆ ลงไปในสินค้า
อย่างกรณีของแบรนด์โคคา-โคลา ที่เคยมีการพิมพ์ชื่อคนลงไปบนลายกระป๋อง
ซึ่งกลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผู้บริโภค เพราะพวกเขาจะได้มีโอกาสมีชื่อของตัวเองบนกระป๋องโค้กเป็นครั้งแรก
นอกจากแคมเปนนี้จะช่วยดึงดูดลูกค้าแล้ว ยังเป็นการตลาดที่กระตุ้นให้ลูกค้าเป็นคนสร้างคอนเทนต์ได้อีกด้วย จะเห็นได้จากการแชร์รูปกระป๋องโค้กที่มีชื่อของตัวเองบนโลกออนไลน์
สรุปแล้วแก่นของ Fun Theory ก็คือ เราไม่จำเป็นต้องโน้มน้าวพฤติกรรมคนด้วยความรุนแรงหรือบทลงโทษเสมอไป เพราะความสนุกก็สามารถดึงดูดให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้เช่นกัน
ในโลกของการตลาดก็เหมือนกัน ถ้าให้เลือกสินค้าที่ดูจืดชืด กับสินค้าที่เราสามารถสนุกไปกับมันได้
ถ้าเป็นเรา เราจะเลือกซื้ออันไหน..?
References
-https://www.martechadvisor.com/articles/influencer-marketing/fun-theory-influencer-marketing/
-https://goodvertising.site/the-fun-theory/?zd_source=mta&zd_campaign=14892&zd_term=chiradeepbasumallick
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.