การเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นพันธมิตรในแบบ เบนจามิน แฟรงคลิน

การเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นพันธมิตรในแบบ เบนจามิน แฟรงคลิน

16 พ.ค. 2021
การเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นพันธมิตรในแบบ เบนจามิน แฟรงคลิน | THE BRIEFCASE
เชื่อว่า ทุกคนอาจจะมีศัตรูหรือคู่อริที่ไม่ค่อยชอบเราสักเท่าไร
เพียงแค่เดินผ่านกันชั่วขณะ..
เราก็สามารถรับรู้ได้ถึงกิริยาท่าทางหรือสีหน้าของเขาที่ทำให้เรารู้เลยว่า เรากับเขานั้นอยู่ร่วมกันไม่ได้อย่างแน่นอน
แต่ถ้าโชคชะตากลับเล่นตลกกับเรา ทำให้เราบังเอิญต้องมาทำงานกลุ่มร่วมกับคนคนนี้
หรือยิ่งไปกว่านั้นก็คือเรากลับต้องมาทำงานในบริษัทเดียวกันกับเขา
แน่นอนว่าเมื่อเสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกัน ย่อมอยู่ร่วมกันไม่ได้และอาจเกิดปัญหามากมายตามมา
แล้วถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง เรื่องลำบากใจเรื่องนี้อาจจะกระทบกับหน้าที่การงานของเราก็เป็นได้
หากเป็นอย่างนั้น เราควรจะแก้ปัญหากับเรื่องลำบากใจเรื่องนี้อย่างไรดี ?
วันนี้ THE BRIEFCASE จะแนะนำหนึ่งในวิธีการหาทางออก เมื่อต้องทำงานกับคนที่เราไม่ลงรอย
ด้วยกลยุทธ์การเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นพันธมิตร ที่ “เบนจามิน แฟรงคลิน” หนึ่งในผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา นำมาใช้ เมื่อเขาต้องทำงานร่วมกับคนที่ไม่ชอบเขา
ด้วยความที่เขาเป็นทั้งนักการเมือง นักการทูต นักปรัชญา นักเขียน และยังทำสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย
จึงทำให้เขาได้บันทึกเรื่องราวของตัวเองลงในอัตชีวประวัติของเขาเอง
โดยส่วนหนึ่งในอัตชีวประวัติของเขาได้มีบันทึกว่าในช่วงที่เขาทำงานในสภานิติบัญญัติ
เขาต้องพบเจอกับคนที่ไม่ค่อยถูกใจเขาเท่าไร และคนคนนี้ก็พยายามที่จะเห็นตรงกันข้ามกับเขาเสมอ
ทำให้เขาทำงานได้อย่างยากลำบากและยังต้องลำบากใจที่รู้ว่ามีคนไม่ชอบเขาอีกด้วย
โดย THE BRIEFCASE ขอสมมติให้ชื่อ “ปีเตอร์สัน” เป็นชื่อของคนที่ไม่ชอบเบนจามิน แฟรงคลิน
ถึงแม้ว่าเขาจะไม่รู้สาเหตุที่ทำไมปีเตอร์สันถึงไม่ชอบเขา
แต่เขาก็พยายามที่จะหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาที่ค้างคาใจเขาครั้งนี้
แทนที่เขาจะเดินไปพูดคุยกับปีเตอร์สันโดยตรง หรือพยายามที่จะเอาคืนปีเตอร์สันจากการที่ชอบขัดแข้งขัดขาเขาอยู่บ่อยครั้ง แต่เขากลับใช้วิธีการทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นและไปขอยืมหนังสือจากปีเตอร์สัน
ด้วยความที่ เบนจามิน แฟรงคลิน ทราบมาว่าปีเตอร์สันเป็นคนที่รักการอ่านหนังสือมาก และชอบพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือ และยังมีหนังสือที่หายากมากอยู่ในครอบครองอีกด้วย จึงทำให้เขาเขียนจดหมายไปหาปีเตอร์สันเพื่อที่จะขอยืมหนังสือเล่มนี้
แทนที่ปีเตอร์สันจะทำเป็นไม่สนใจ เพราะปีเตอร์สันไม่ชอบคนที่ชื่อ เบนจามิน แฟรงคลิน
แต่เรื่องก็กลับกลายเป็นว่าปีเตอร์สันให้เขายืมหนังสืออย่างหน้าตาเฉย
หลังจากที่ เบนจามิน แฟรงคลิน อ่านหนังสือเล่มนี้จบก็ได้นำหนังสือเล่มนี้ไปคืน
พร้อมกับแนบกระดาษที่เขาเขียนขอบคุณปีเตอร์สันและเขียนบรรยายถึงความรู้สึกที่มีต่อหนังสือเล่มนี้และปีเตอร์สันอย่างสุดซึ้งอีกด้วย
หลังจากนั้น เมื่อทั้งสองคนได้เจอกัน กลับกลายเป็นว่าทั้งคู่ได้มีการพูดคุยกันในทางที่ดีขึ้น
หลังจากนั้นปีเตอร์สันก็ไม่ได้ขัดแข้งขัดขาเขาอีกเลย และทั้งคู่ก็ได้กลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด
หลังจากนักวิจัยและนักจิตวิทยาได้อ่านอัตชีวประวัติของ เบนจามิน แฟรงคลิน
จึงทำให้พวกเขาเรียกวิธีที่ เบนจามิน แฟรงคลิน ใช้ว่า “Ben Franklin Effect”
โดยล่าสุดก็ได้มีนักวิจัยมากมายทำการศึกษาเกี่ยวกับ Ben Franklin Effect
และได้ข้อสรุปว่า คนที่ตกอยู่ในปรากฏการณ์นี้ มักจะตกอยู่ในสภาวะขัดแย้งภายในตัวเอง
หรือที่เรียกว่า Cognitive Dissonance ซึ่งเป็นอาการที่ทัศนคติ ความคิด และการกระทำไม่สอดคล้องกันนั่นเอง
อย่างในกรณีคู่อริของ เบนจามิน แฟรงคลิน ที่กำลังเกิดความสับสนภายในตัวเองอยู่
เพราะถึงแม้ปีเตอร์สันจะไม่ชอบ เบนจามิน แฟรงคลิน สักเท่าไร แต่พอเป็นเรื่องหนังสือแล้วละก็
เขากลับไม่ติดที่จะพูดคุยเรื่องนี้ และก็ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทุกคน ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่ไม่ชอบหน้าก็ตาม
และเมื่อ เบนจามิน แฟรงคลิน ได้เริ่มแผนการผูกมิตรกับปีเตอร์สัน โดยใช้ความโปรดปรานของปีเตอร์สันในการเริ่มบทสนทนา นี่จึงเปรียบเสมือนเป็นการตอบโต้ปีเตอร์สันจากการที่เขาโดนขัดแข้งขัดขาอยู่เสมอ
แต่การตอบโต้ของเขานั้นไม่ใช่การเอาคืนแต่อย่างใด แต่เป็นการเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตรนั่นเอง
แล้วถ้าเราต้องการนำวิธีการของ เบนจามิน แฟรงคลิน มาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตร
และทำให้เรากลายเป็นที่รักของคนอื่น ๆ บ้างต้องทำอย่างไร ?
คุณ Barry Davret นักเขียนชื่อดังจากเว็บไซต์ Medium ได้สรุปเทคนิคที่จะทำให้เราสามารถนำวิธีการของ เบนจามิน แฟรงคลิน มาประยุกต์ใช้ได้ดังนี้
1. เรียนรู้เกี่ยวกับคนคนนั้น
สมมติว่าเราเป็นคนที่ไม่ชอบให้ใครมาพูดตะคอกใส่เรา แต่เพื่อนของเราก็ชอบมาตะคอกใส่ ทำให้เราเริ่มรู้สึกไม่พอใจ และเริ่มออกห่างจากเพื่อนคนนั้น
เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยากจะเป็นที่รักของใคร หรือต้องการที่จะเปลี่ยนศัตรูของเราให้กลายเป็นมิตร
เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจเขาคนนั้น
และถ้าเรารู้มาว่าคนคนนั้นชอบอะไร เราก็อาจจะใช้เรื่องนี้ในการเข้าหาเขา
อย่างในกรณีของ เบนจามิน แฟรงคลิน ที่ทราบมาว่าปีเตอร์สันนั้นชอบเกี่ยวกับหนังสือมาก
จึงทำให้เขาเปิดประเด็นกับปีเตอร์สันเกี่ยวกับหนังสือ ทำให้ทั้งคู่สามารถเริ่มบทสนทนากันได้นั่นเอง
2. ลองขอความช่วยเหลือจากคนคนนั้น
การขอความช่วยเหลือในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการขอยืมเงินจากคนที่เราอยากรู้จัก หรือคนที่เป็นคู่อริกับเรา
หรือขอให้เขาช่วยทำงานให้เรา ถ้าเราขอความช่วยเหลือแบบนี้กับพวกเขา สิ่งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคู่อรินั้นอาจจะดูแย่ลงไปอีก และคนที่เราอยากจะรู้จักคนนั้นคงจะไม่อยากรู้จักกับเราอีกเลย
แต่การขอในที่นี้หมายถึง การขอคำแนะนำจากพวกเขา เพราะการขอคำแนะนำจากพวกเขานี้เอง
จะทำให้พวกเขาคิดว่า เรามองพวกเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ
เช่น ถ้าเราอยากรู้จักใครคนหนึ่ง แล้วเราไปตามสืบมาว่าคนคนนั้นมีความชอบและกำลังสนใจในเรื่องการลงทุน
แล้วถ้าเราอยากเปิดประเด็นกับคนคนนั้นโดยการขอคำปรึกษาในเรื่องการลงทุน นอกจากจะทำให้เขารู้สึกดีที่มีคนคิดว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับหนึ่งแล้ว ยังทำให้เรามีเรื่องที่จะคุยกับพวกเขาได้อีกด้วย
หรือในกรณีของ เบนจามิน แฟรงคลิน ที่ทราบมาว่าปีเตอร์สันนั้น รักในการอ่านหนังสือมาก
จึงทำให้เขาใช้เรื่องหนังสือในการเปิดประเด็นและเริ่มต้นสนทนา จึงทำให้ปีเตอร์สันมีความภูมิใจที่ได้นำเสนอในสิ่งที่ปีเตอร์สันเชี่ยวชาญ และให้ความช่วยเหลือเขาโดยการให้ยืมหนังสือ
3. กล่าวขอบคุณแบบแซนด์วิช
ทำไมต้องกล่าวขอบคุณแบบแซนด์วิช เพราะแซนด์วิชเป็นอาหารที่มีขนมปัง 2 แผ่นประกบกับไส้ที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งเปรียบเสมือนกับการกล่าวขอบคุณ 2 ครั้ง และใส่ความรู้สึกของเราที่ได้รับความช่วยเหลือจากคนคนนั้น
อย่างในกรณีของ เบนจามิน แฟรงคลิน ที่หลังจากได้รับหนังสือจากปีเตอร์สันแล้ว เขาก็ได้เขียนโน้ตไปถึงปีเตอร์สัน โดยเริ่มต้นจากขอบคุณในครั้งแรกก่อน และตามด้วยความรู้สึกหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้และความรู้สึกที่มีต่อปีเตอร์สัน ในที่นี้อาจจะเป็นการชมเชยถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องหนังสือ และก็ปิดท้ายด้วยการขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง
ถ้าเป็นในชีวิตจริง เราไม่จำเป็นต้องเขียนโน้ตเหมือนกับคนในสมัยก่อนก็ได้
แต่เราสามารถใช้หลักการขอบคุณแบบแซนด์วิชโดยการทักแช็ตส่วนตัว
หรือพูดขอบคุณต่อหน้าก็ได้ด้วยเช่นกัน
สุดท้ายแล้ว การที่เรามีคนชอบมากกว่าคนที่ไม่ชอบเรานั้นย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า
และถ้ามีใครคนหนึ่งไม่ชอบเราถึงขั้นเป็นคู่อริกับเรา การที่เราต้องเป็นฝ่ายเริ่มเข้าหาคู่อริคนนั้นก่อนเพื่อที่จะปรับความเข้าใจ ก็ไม่ได้ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียหายแต่อย่างใด
มิหนำซ้ำการกระทำเช่นนี้ยังทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง ที่นอกเหนือจากตัวเราเองสามารถเปลี่ยนคู่อริให้กลายเป็นมิตรได้แล้ว ยังรู้สึกดีกับตัวเองที่เป็นคนกล้าเผชิญกับทุกปัญหาที่เข้ามาในชีวิตเราอีกด้วย
เรื่องนี้ไม่ได้เป็นผลดีเพียงแค่ตัวเราเอง แต่ยังเป็นผลดีต่องานที่เราได้รับมอบหมายให้ทำคู่กับอดีตคู่อริคนนั้นให้ออกมาดีอีกด้วยเช่นกัน..
References
-https://effectiviology.com/benjamin-franklin-effect/
-https://medium.com/swlh/practice-the-ben-franklin-effect-to-become-super-likable-23f98bf1ecdb
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.