บราซิล ประเทศที่เจอวิกฤติ แต่ธุรกิจธนาคารรุ่งเรือง

บราซิล ประเทศที่เจอวิกฤติ แต่ธุรกิจธนาคารรุ่งเรือง

17 พ.ค. 2021
บราซิล ประเทศที่เจอวิกฤติ แต่ธุรกิจธนาคารรุ่งเรือง / โดย ลงทุนแมน
ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ มักจะสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจในทิศทางเดียวกัน
เพราะความต้องการใช้เงิน หรือความสามารถในการจ่ายคืนหนี้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง
ก็ล้วนเป็นผลพวงจากมุมมองต่อเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศบราซิล กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น..
เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว ธนาคารพาณิชย์ในบราซิล กลับทำกำไรให้เติบโตขึ้นและยังสามารถคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับสูงได้ โดยสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ราว 52% ต่อปี
แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุให้ธนาคารในบราซิล
มีผลประกอบการที่สวนทางกับทิศทางของเศรษฐกิจ
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
โดยปกติแล้ว เมื่อเศรษฐกิจหดตัว หรืออัตราการเติบโตของ GDP ติดลบ
อัตราเงินเฟ้อมักจะอยู่ในระดับต่ำ และบางครั้งถึงขั้นติดลบ หรือที่เรียกว่า “ภาวะเงินฝืด”
จึงทำให้ธนาคารกลางต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
ซึ่งภาวะแบบนี้ แน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อธนาคารพาณิชย์
เพราะว่ารายได้ส่วนหนึ่งก็มาจากการเรียกเก็บดอกเบี้ย อย่างเช่นจากเงินกู้และบัตรเครดิต
เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง ธนาคารพาณิชย์จึงต้องปรับลดดอกเบี้ยตาม
เลยทำให้รายได้จากดอกเบี้ยลดลงไปด้วย
และเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี โอกาสที่ลูกค้าจะเลื่อนการจ่ายหนี้คืน หรือไม่จ่ายหนี้เลย ก็มีสูงขึ้น
สิ่งที่ธนาคารต้องทำก็คือ แบ่งเงินจากรายได้ออกมามากขึ้น
เพื่อกันไว้เป็นเงินสำรองหากมีการผิดนัดชำระหนี้
ซึ่ง 2 ปัจจัยหลักนี้ ต่างส่งผลให้กำไรของธนาคารพาณิชย์ลดลง
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2020 ที่ผ่านมา ผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัว
GDP หดตัว -6.1%
อัตราเงินเฟ้อ -0.8%
จึงทำให้กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ลดลง -46.0%
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศบราซิล กลับตรงกันข้าม
อย่างในปี 2015 ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิลติดลบ
GDP หดตัว -3.6%
อัตราเงินเฟ้อ +9.0%
กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เติบโต +25.5%
โดยในปี 2014 ถึง 2018 เศรษฐกิจของบราซิลหดตัวเฉลี่ย -0.4%
แต่ในช่วงเดียวกันนี้ กำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลับเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.0%
แล้วอะไรที่ทำให้ธนาคารยังคงเติบโตได้อย่างโดดเด่น ?
ปัจจัยอย่างแรกก็คือ ประเทศบราซิลเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่เรียกว่า “Stagflation”
หรือคือช่วงที่อัตราการเติบโตของ GDP ติดลบ
แต่อัตราเงินเฟ้อ กลับพุ่งสูงขึ้น
ซึ่งเป็นภาวะทางเศรษฐกิจที่เจอได้ไม่บ่อยนัก
สาเหตุสำคัญก็มาจากการที่รัฐบาลบราซิล ทุ่มเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2011
และยังก่อหนี้มหาศาลกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกและโอลิมปิกเกมส์ ในปี 2014 และ 2016
แต่ผลลัพธ์กลับไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างที่ตั้งใจเอาไว้
สุดท้ายแล้วเม็ดเงินที่ใช้ไป กลับทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 6.2% ในปี 2013 ไปสูงสุดที่ 9.0% ในปี 2015 และทรงตัวอยู่ที่ 8.7% ในปี 2016
ในขณะที่ GDP พลิกจากการเติบโต 3.0% ในปี 2013 มาเป็นหดตัวเฉลี่ยปีละ -3.4% ในปี 2015 และ 2016
นั่นเท่ากับว่า ประเทศบราซิลต้องเผชิญกับภาวะ Stagflation ถึง 2 ปีติดต่อกัน
กลายเป็นว่าในยามเศรษฐกิจย่ำแย่ แต่อัตราเงินเฟ้อสูง
แทนที่ธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เหมือนช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวแบบทั่วไป
ธนาคารกลางกลับต้องเลือกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น
โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 10.00% ในปี 2013 ไปสูงสุดที่ 14.25% ในปี 2015
ซึ่งดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนี้ แม้จะยิ่งไปซ้ำเติมให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลง
แต่ธนาคารพาณิชย์กลับได้ประโยชน์จากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
และเพิ่มขึ้นในระดับที่ชดเชยผลกระทบด้านลบจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีได้
ทำให้สุดท้ายแล้ว ธนาคารพาณิชย์ในบราซิลยังทำกำไรให้เติบโตขึ้นได้
แต่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางวิกฤติ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
เพราะยังมีอีกสาเหตุที่สำคัญ นั่นก็คือ “อำนาจต่อรองของธนาคารพาณิชย์”
ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและคิดค่าธรรมเนียมในระดับที่สูงมาก
ซึ่งก็เป็นผลมาจากการที่อุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์
ถูกผูกขาดโดยธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรก
โดยธนาคารเหล่านี้มีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อรวมกันถึง 86% ของสินเชื่อทั้งหมดในประเทศ
และเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจาก “Real Plan” ในปี 1994 ซึ่งเป็นแผนเพื่อฟื้นฟูประเทศ
หลังจากเผชิญกับวิกฤติน้ำมันและเงินเฟ้อที่รุนแรง ในช่วงต้นทศวรรษ 1980s
โดยในตอนนั้น ภาครัฐได้เข้าแทรกแซงเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์
และช่วยเหลือบางธนาคารไม่ให้ล้มละลาย จึงมีการควบรวมกิจการกันอย่างต่อเนื่อง
จนเหลือเป็น 5 ธนาคารยักษ์ใหญ่แบบในปัจจุบัน
แล้วดอกเบี้ย ที่ว่าสูงนั้น สูงขนาดไหน ?
เรามาดูอัตราดอกเบี้ยในประเทศบราซิลกัน
ดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อบริษัทเอกชนเฉลี่ย 21%
ดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเฉลี่ย 46%
ดอกเบี้ยบัตรเครดิตเฉลี่ย 350%
ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยอยู่ที่ 9% เท่านั้น
นั่นหมายความว่า ส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากโดยเฉลี่ย จึงสูงกว่า 30%
ซึ่งเกือบจะสูงที่สุดในโลกเลยทีเดียว..
นี่จึงส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ในบราซิล มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงมาก
เมื่อเทียบกับทั่วโลก ที่เผชิญกับดอกเบี้ยต่ำใกล้ระดับ 0% มานาน หลังจากวิกฤติการเงินโลก
โดยธนาคารพาณิชย์ในบราซิล ความสามารถในการทำกำไรจากดอกเบี้ย หรือ NIM
อยู่ที่ประมาณ 6% มากกว่าธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาและไทยถึง 1 เท่าตัว
และมีความสามารถในการทำกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE สูงถึง 16%
สูงกว่าทั้งธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาและไทย ที่ทำได้ไม่เกิน 10% ในปัจจุบัน
ซึ่งความสามารถในการทำกำไรนี้ แม้จะยังอยู่ในระดับที่สูง
แต่ก็ถือว่าเริ่มลดลงจากค่าเฉลี่ยในอดีต เพราะหลายฝ่ายในประเทศต่างก็เล็งเห็นถึงปัญหาว่า อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมนั้นสูงเกินไป
ทำให้ตอนนี้ ธนาคารพาณิชย์ในบราซิล กำลังเจอความท้าทาย
ทั้งเรื่องที่ธนาคารกลางบราซิลเริ่มออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น
รวมถึงผลกระทบจากโควิด 19 ที่ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อ ลดลงมาเหลือ 3.2%
ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสามารถปรับลงมาอยู่ที่ 3.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี

อย่างไรก็ตาม เรายังไม่รู้ว่า อัตราดอกเบี้ยที่ลงมาต่ำระดับนี้ จะเป็นเพียงผลกระทบชั่วคราวจากวิกฤติโควิด 19 หรือจะกลายเป็นความปกติแบบใหม่ ให้ธนาคารพาณิชย์ในบราซิลต้องปรับตัวแบบถาวรกันแน่
แต่ถ้าถามว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุด
ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศบราซิล คืออะไร ?
คำตอบก็คือ การเข้ามาแข่งขันของธนาคารดิจิทัล
ที่มีต้นทุนต่ำกว่าจากการไม่ต้องมีหน้าสาขา
จึงสามารถคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมถูกกว่า
หนึ่งในนั้นก็คือสตาร์ตอัปที่ก่อตั้งขึ้นมาเพียง 8 ปีชื่อว่า Nubank
ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าชาวบราซิลไปแล้วกว่า 34 ล้านคน
คิดเป็น 1 ใน 6 ของประชากรทั้งประเทศ
และกำลังแย่งชิงลูกค้าจากธนาคารแบบดั้งเดิมไปเรื่อย ๆ..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
คุณ Joseph Safra ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศบราซิลมาอย่างยาวนาน
และความมั่งคั่งนี้ ก็มาจากอาณาจักรธุรกิจของเขา ที่ชื่อว่า Safra Group
ซึ่งดำเนินธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงิน โดยเป็นเจ้าของธนาคาร Banco Safra ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีทรัพย์สินมากสุดอันดับ 6 ของบราซิลนั่นเอง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.