ต้นทุนค่าเสียโอกาส สำคัญอย่างไร ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม

ต้นทุนค่าเสียโอกาส สำคัญอย่างไร ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม

18 พ.ค. 2021
ต้นทุนค่าเสียโอกาส สำคัญอย่างไร ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม | THE BRIEFCASE
เมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาในตอนเช้า เราจะลุกไปทำงาน หรือ นอนต่อ ?
ถ้าต้องออกจากบ้าน เราจะเลือกเดินทางด้วยรถไฟฟ้า หรือ ขับรถไปเอง ?
เมื่อถึงเวลาอาหาร เราจะเลือกกินก๋วยเตี๋ยว หรือ ข้าวผัด ?
หรือเมื่อเงินเดือนออก เราจะนำเงินเก็บของเราไปฝากธนาคาร หรือ นำมาลงทุนในสินทรัพย์ชนิดอื่น ?
จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ การกระทำของเราต้องมีการตัดสินใจด้วยกันทั้งสิ้น
และเมื่อเราเลือกอย่างหนึ่ง เราก็อาจจะเสียอีกอย่างหนึ่งไปเลยก็ได้
ซึ่งสิ่งที่เราเสียไปก็มีต้นทุนที่เรียกว่า “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” เกิดขึ้น
แล้วต้นทุนค่าเสียโอกาส คืออะไร ?
THE BRIEFCASE จะเล่าให้ฟัง
ต้นทุนค่าเสียโอกาสก็คือ มูลค่าที่เราเสียไป เมื่อเราเลือกทางเลือกอันหนึ่งอันใด
แล้วต้นทุนค่าเสียโอกาสวัดกันอย่างไร ?
ต้นทุนค่าเสียโอกาส สามารถวัดได้จากมูลค่าที่มากที่สุดของทางเลือกที่เราทิ้งไป
เช่น ถ้าเรามีเงิน 500,000 บาท และมี 3 ทางเลือก ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 นำเงิน 500,000 ให้เพื่อนยืมแล้วคิดดอกเบี้ย 1% ต่อปี คิดเป็น 5,000 บาท
ทางเลือกที่ 2 นำเงิน 500,000 ไปฝากธนาคาร ได้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี คิดเป็น 10,000 บาท
ทางเลือกที่ 3 นำเงิน 500,000 ไปลงทุนในพันธบัตร ที่ให้ผลตอบแทน 5% ต่อปี คิดเป็น 25,000 บาท
ถ้าเราเลือกทางเลือกที่ 2 คือนำเงินไปฝากธนาคาร
ต้นทุนค่าเสียโอกาสเราคือ 25,000 บาท จากการที่เราเลือกทิ้งทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด
นั่นคือ นำเงินไปลงทุนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ค่าเสียโอกาสก็ไม่จำเป็นต้องวัดออกมาเป็นมูลค่าหรือตัวเงินได้เสมอไป
เช่น ถ้าหากวันนี้เราเลือกที่จะอ่านหนังสือเพื่อเพิ่มพูนความรู้แทนการดูซีรีส์
ต้นทุนค่าเสียโอกาสของเราก็คือ ความสุขที่เราได้จากการดูซีรีส์เรื่องโปรด
ซึ่งไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเงินได้
โดยต้นทุนค่าเสียโอกาสจะเป็นต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งแตกต่างจากต้นทุนทางบัญชี
เพราะต้นทุนทางบัญชี คือ ค่าใช้จ่ายที่กิจการได้จ่ายออกไปจริง ๆ ที่บริษัทสามารถลงไว้ในบัญชีได้
แต่ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จะมีสิ่งที่เรียกว่า ต้นทุนไม่แจ้งชัด เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้น
แต่ไม่มีการจ่ายเป็นตัวเงินหรือสิ่งของออกมารวมเข้าไปจากต้นทุนทางบัญชีอีกที
ซึ่งต้นทุนค่าเสียโอกาสก็เป็นหนึ่งในประเภทของต้นทุนไม่แจ้งชัดนี้
ทำให้ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จะสูงกว่าต้นทุนทางบัญชี..
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นเจ้าของร้านขนม และมีเงิน 10,000 บาท
ทางเลือกที่ 1 นำไปซื้อวัตถุดิบมาผลิตขนม
ทางเลือกที่ 2 นำไปฝากธนาคาร อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี คิดเป็น 200 บาท
ถ้าเราเลือกนำไปซื้อวัตถุดิบมาผลิตขนม
ต้นทุนทางบัญชีของเราก็จะเท่ากับ 10,000 บาทที่เราใช้ซื้อวัตถุดิบ
แต่ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จะเท่ากับ 10,000 + 200 (ค่าเสียโอกาสจากการไม่นำเงินไปฝากธนาคาร)
รวมแล้วจะเท่ากับ 10,200 บาทนั่นเอง
แล้วต้นทุนค่าเสียโอกาสสำคัญอย่างไร ?
อย่างที่บอกไปข้างต้น ไม่ว่าเราจะตัดสินใจอย่างไร ก็จะมีต้นทุนที่เราต้องเสียไปเสมอ
สมมติว่าเราตัดสินใจที่จะเปิดร้านอาหาร แต่อยากลดต้นทุน
จึงเลือกทำเลการตั้งร้านของเราในซอยลึกที่มี “ค่าเช่า” ถูกกว่าริมถนน
แต่เราอาจลืมไปว่า ต้นทุนค่าเสียโอกาสของที่ดินในซอยลึก คือ “โอกาสที่ลูกค้าจะผ่านมาเห็น”
เพราะการที่ผู้บริโภคมองไม่เห็นร้านของเรา อาจส่งผลเสียเป็นมูลค่าที่มากกว่าค่าเช่าที่เราต้องการลดต้นทุนในแต่ละเดือนก็เป็นได้..
เพราะในชีวิตประจำวันของเรา จะต้องตัดสินใจอยู่เสมอ
ดังนั้น ก่อนที่เราจะตัดสินใจเลือกทุกครั้ง เราจะมีต้นทุนที่ต้องเสียไปเสมอ
ถ้าเราไม่คำนวณต้นทุนค่าเสียโอกาส หรือชั่งใจเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
อาจเกิดเหตุการณ์ตัดสินใจผิด เปลี่ยนชีวิตไปเลยก็ได้..
References
-หนังสือ Principles of Microeconomics โดย N. Gregory Mankiw
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/Doc_Publication/Book_Economic2555.pdf
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.