รู้จัก กฎของ Murphy “ทุกสิ่งที่ผิดพลาดได้ จะผิดพลาด”

รู้จัก กฎของ Murphy “ทุกสิ่งที่ผิดพลาดได้ จะผิดพลาด”

1 มิ.ย. 2021
รู้จัก กฎของ Murphy “ทุกสิ่งที่ผิดพลาดได้ จะผิดพลาด” | THE BRIEFCASE
"Anything that can go wrong will go wrong"
ทุกสิ่งที่สามารถผิดพลาดได้ จะผิดพลาด
นี่คือบทสรุปแบบง่าย ๆ ของ กฎของ Murphy หรือ Murphy's Law
เราเคยสงสัยไหมว่า หลายเหตุการณ์เราอาจคิดว่าไม่น่าจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น
แต่สุดท้ายแล้วกลับเกิดขึ้น และบางครั้งเราคงคิดว่ามันคือ ความโชคร้าย
กฎของ Murphy คืออะไร และที่ผ่านมา สามารถนำมาอธิบายเรื่องราวรอบตัวเราได้แค่ไหน ?
ก่อนอื่น ให้ทุกคนลองนึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้กันก่อน
- ไม่เอาร่มติดกระเป๋ามาในวันที่ฝนตก ทั้งที่เป็นช่วงฤดูฝน
- นัดลูกค้าไว้ตอนเช้าใจกลางเมือง แต่ไปไม่ทันเพราะรถเสีย
- ไม่ได้ต่อประกันรถยนต์ ในช่วงที่ขับรถแล้วประสบอุบัติเหตุ
- กำลังนำเสนองานในที่ประชุม แต่เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเก่าที่ใช้มานานดันเสียขณะนำเสนอ
สำหรับหลายคนถ้าเราไม่คิดอะไรมาก
ก็อาจเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ว่า “ความโชคร้าย”
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสังเกตให้ดี ทุกเรื่องในชีวิต เมื่อมันมีโอกาสที่จะสามารถผิดพลาด มันก็จะผิดพลาดได้สักวันหนึ่ง
ปรากฏการณ์แบบนี้ ถูกอธิบายด้วย “กฎของ Murphy”
จริง ๆ แล้วต้นกำเนิดของ กฎของ Murphy
ก็ยังมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ว่ามาจากไหน และเริ่มต้นมาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม แหล่งอ้างอิงที่ได้รับการยอมรับกันมากที่สุด คือคาดกันว่าเกิดมาจากชายชาวอเมริกัน ที่มีชื่อว่า “Edward Murphy” อดีตวิศวกรในฐานทัพอากาศของสหรัฐอเมริกา
วันหนึ่งในปี 1949 Edward Murphy และทีมของเขากำลังทำการทดลองเกี่ยวกับความอดทนของมนุษย์ที่มีต่อแรงโน้มถ่วงของโลก (G-Forces) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเอาผลการทดลองนี้ไปออกแบบเครื่องบินในอนาคต
แต่หลายครั้งระหว่างการทดลอง เขามักเผชิญกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผนและเกิดข้อผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ ซึ่งเขาก็พยายามตรวจหาสาเหตุหลายครั้ง แต่ก็ไม่พบต้นตอ
จนสุดท้ายเขาพบว่า ผู้ที่ก่อให้เกิดความผิดพลาดนี้
มาจากช่างเทคนิคในทีม ที่ต่อสายอุปกรณ์บางอย่างผิดพลาด
นอกจากความผิดพลาดในเรื่องนั้นแล้ว การทดลองของเขาก็เกิดข้อผิดพลาดขึ้นมากมาย
แต่สุดท้ายโปรเจกต์ของเขาก็สำเร็จ และได้ข้อสรุปที่ละเอียดครบถ้วน และสามารถนำไปต่อยอดการออกแบบเครื่องบินได้ในที่สุด
ไม่นานหลังจากนั้น สถาบันทดลองก็ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว เกี่ยวกับโปรเจกต์ที่ Edward Murphy ทำการทดลอง
เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งได้พูดกับสื่อว่า การทดลองครั้งนี้ลุล่วงไปด้วยดี และได้ผลการทดลองออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นเพราะคำพูดประโยคหนึ่งของ Edward Murphy
ประโยคนั้นคือ "Whatever can go wrong, will go wrong"
หรืออะไรที่สามารถผิดพลาดได้ มันจะผิดพลาด
ซึ่งเขาบอกว่า Murphy ยึดหลักคิดแบบนี้มาใช้ในการกำหนดโอกาสความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในการทดลอง จนกลายเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ทีมงานสามารถเก็บรายละเอียดความผิดพลาดในการทดลองได้มากและละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้
หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนนำแนวคิดนี้ไปพูดกันในวงกว้างมากขึ้น
และได้ไปปรากฏในนิตยสารด้านการบินและอวกาศของสหรัฐอเมริกา และยังเป็นที่พูดถึงไปในอีกหลายวงการ และทั่วโลก จนได้รับการยอมรับว่าเป็น “กฎ” เลยทีเดียว
ซึ่งถ้าลองเอากฎของ Murphy มาอธิบายกับเรื่องใกล้ตัวเรา
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ก็ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ด้วยกฎนี้ได้
เพราะจริง ๆ แล้วโลกของเรามีโอกาสเกิดโรคระบาดได้อยู่เสมอ
ซึ่งก็มีกลุ่มคนที่มองเห็นและออกมาเตือนอย่าง บิลล์ เกตส์
ที่เขาเคยพูดใน TED Talks ในปี 2015 ว่า โลกของเราจะเจอกับโรคระบาดครั้งใหญ่ในไม่ช้า และมนุษย์โลก ยังไม่พร้อมรับมือกับโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่เนื่องจากการแพทย์ในวันนี้นั้น ก้าวหน้าไปมาก เมื่อเทียบกับอดีต
หลายคนจึงไม่ทันได้ตระหนักอย่างจริงจังว่าจะมีการระบาดใหญ่เกิดขึ้นได้
แต่วันนี้ โควิด 19 ที่ระบาดหนักไปทั่วโลก ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว..
กฎของ Murphy จึงเป็นกฎที่บอกว่า อะไรที่มีโอกาสผิดพลาดได้ มันจะผิดพลาดเสมอ
ถึงแม้ตั้งแต่อดีตมาจนวันนี้ เราจะยังไม่เจอความผิดพลาดที่มีโอกาสเกิดนั้น
แต่สุดท้าย สักวันหนึ่งในอนาคต ความผิดพลาดนั้นมันก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี
กฎของ Murphy ยังถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจ หรือแม้แต่การบริหารประเทศ
โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ การบริหารความเสี่ยง
โดย กฎของ Murphy เปรียบเสมือนเครื่องย้ำเตือนผู้บริหารหรือผู้นำว่า ควรจะต้องคิดและพิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทุกครั้ง เวลาจะตัดสินใจในการทำงาน หรือดำเนินโครงการใด ๆ ไม่ว่าความเสี่ยงที่เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น จะมีน้อยมากเพียงใดก็ตาม
และกฎนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการประเมิน “Worst Case Scenario”
หรือการจำลองสถานการณ์ว่า หากเกิดข้อผิดพลาดหรือเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดขึ้นมา เราควรจะเตรียมรับมือกันอย่างไร
เพราะถึงแม้เราจะวางแผนหาทางป้องกันข้อผิดพลาดหรือเหตุการณ์ที่เลวร้ายต่าง ๆ อย่างรัดกุมแล้ว แต่บางครั้งสิ่งเหล่านั้น ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้
แต่อย่างน้อย ถ้ามันเกิดขึ้นจริง แล้วเรามีแนวทางหรือมาตรการมารับมือกับสิ่งนั้น
เราก็คงจะไม่ตระหนกตกใจจนเกินไป และก็คงรับมือกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ดีกว่า การไม่ได้เตรียมตัวอะไรไว้เลย..
References:
-https://www.mindtools.com/pages/article/newSTR_MurphyLaw.htm
-https://en.wikipedia.org/wiki/Murphy%27s_law
-https://people.howstuffworks.com/murphys-law.htm
-https://en.wikipedia.org/wiki/Edward_A._Murphy_Jr.
-https://wealthmeup.com/%E0%B8%81%E0%B8%8E-murphy/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.