รู้จัก Spotlight Effect ภาวะที่คิดว่าตัวเอง กำลังเป็นจุดสนใจ เกินจริง

รู้จัก Spotlight Effect ภาวะที่คิดว่าตัวเอง กำลังเป็นจุดสนใจ เกินจริง

3 มิ.ย. 2021
รู้จัก Spotlight Effect ภาวะที่คิดว่าตัวเอง กำลังเป็นจุดสนใจ เกินจริง | THE BRIEFCASE
หากคุณเคยทำเรื่องน่าอายในที่สาธารณะ เคยพูดผิดในที่ประชุม หรือเคยถูกเจ้านายว่าต่อหน้าคนจำนวนมาก
แล้วคุณรู้สึกอับอายกับเหตุการณ์เหล่านี้ จนคิดมากไม่เป็นอันทำอะไร
ความจริงแล้ว อาการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด
เพียงแต่เป็นอาการของภาวะ Spotlight Effect หรือ ภาวะหลงคิดว่าตัวเอง “กำลังเป็นจุดสนใจ”
ซึ่งผู้ที่ให้คำนิยามคำว่า Spotlight Effect เป็นคนแรกของโลก คือ โทมัส กิโลวิช และเคนเนธ ซาวิตสกี นักวิจัยด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ โดยได้ให้นิยามของคำนี้ไว้เมื่อปี ค.ศ. 1999
โดย Spotlight Effect คืออาการหรือภาวะของคน ที่มีความต้องการเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้างและสังคมมากจนเกินไป ซึ่งเข้าข่ายโรคทางจิตวิทยาชนิดหนึ่งที่ไม่น่ากลัว อย่างไรก็ตาม หากมีอาการหนัก ก็ควรเข้ารับการบำบัดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
รู้หรือไม่ว่า Spotlight Effect เป็นคำที่ล้อมาจากปรากฏการณ์ที่เราเห็นในการแสดงละครเวที
เมื่อแสงจากไฟสปอตไลต์ฉายลงไปที่ตัวละครไหน ก็หมายความว่านักแสดงคนนั้น กำลังมีบทบาทสำคัญที่ผู้ชมจะต้องให้ความสนใจ มากเป็นพิเศษนั่นเอง
แล้ว Spotlight Effect ส่งผลต่อกระบวนการคิดของมนุษย์อย่างไร ?
โทมัส กิโลวิช ได้ทำการทดลองอยู่หลายครั้ง เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงว่า Spotlight Effect นี้ จะส่งผลกับร่างกายหรือกระบวนการคิดของมนุษย์อย่างไรบ้าง
- ตัวอย่างที่ 1
การทดลองในปี ค.ศ. 2000 โทมัส กิโลวิช ได้ทำการทดลอง เพื่อศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ ที่มักเชื่อว่าคนอื่นรอบตัว สนใจพวกเขา เหมือนที่พวกเขาสนใจตัวเอง
โดย กิโลวิช ได้รวบรวมนักศึกษากลุ่มตัวอย่าง แล้วแบ่งกลุ่มให้พวกเขาทำแบบสำรวจในห้องประชุม โดยในแต่ละกลุ่ม จะมีการสุ่มเลือกนักศึกษาหนึ่งคน ที่จะได้รับเวลานัดหมายช้ากว่าคนอื่น 5 นาที และเมื่อเขามาถึง ทุกคนในห้องก็นั่งทำแบบสำรวจกันอย่างพร้อมเพรียงแล้ว
นอกจากนี้ กิโลวิช ยังได้ขอให้นักศึกษาที่มาสายคนนั้น สวมเสื้อยืดสกรีนลาย แบร์รี แมนิโลว์ (นักร้องชาวอเมริกันยุค 70s) ก่อนเข้าห้อง ซึ่งเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในหมู่นักศึกษาทั่วไป และในขณะเดียวกันก็เป็นเสื้อที่หากใครได้สวมใส่ ก็จะต้องอับอายอย่างแน่นอน
และก่อนจะปล่อยตัวนักศึกษาที่มาสายให้เข้าห้อง พร้อมกับเสื้อลายแบร์รี แมนิโลว์ ทีมผู้ทำวิจัยได้ถามเขาว่า “คุณคิดว่าในห้องจะมีสักกี่คน ที่สามารถบอกชื่อ หรือจดจำนักร้องบนเสื้อยืดคุณได้”
ผลการศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว นักศึกษาที่ถูกบังคับให้ใส่เสื้อยืดสกรีนลายแบร์รี แมนิโลว์ จะคิดว่า 50% ของคนในห้องนั้น สามารถจำเสื้อยืดของเขาได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีเพียงแค่ 25% ของคนในห้องเท่านั้น ที่รู้จักนักร้องคนนั้น
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างนักศึกษาที่มาสาย มักจะเข้าใจไปเองว่าคนรอบตัวสนใจเสื้อยืดที่น่าอับอายที่ตัวเองใส่มา มากกว่าความเป็นจริงเสมอ
- ตัวอย่างที่ 2
การทดลองหนึ่ง กิโลวิชได้ให้นักศึกษาที่มาสายสวมเสื้อยืดแบร์รี แมนิโลว์ ในระยะเวลาที่นานขึ้น ก่อนจะปล่อยให้เดินเข้าห้องประชุม เหตุผลก็เพื่อให้นักศึกษาที่สวมเสื้อ เริ่มคุ้นเคยกับมัน
ผลลัพธ์คือ พวกเขาประเมินจำนวนคนที่สนใจเสื้อยืดน้อยลง ตามเวลาที่ใส่นานขึ้น สาเหตุก็เป็นเพราะกลไกจิตใจของมนุษย์ ที่มักคิดว่าคนรอบตัวจะสนใจ แปรผันตามสิ่งที่ตัวเองสนใจนั่นเอง
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า..
เรามักจะคิดว่าทุกคนให้ความสนใจในตัวเรามากกว่าความเป็นจริงเสมอ จึงไม่แปลกใจว่า เวลาเกิดเหตุการณ์น่าอับอาย เรามักจะมีความกังวลหรือรู้สึกอับอายมากกว่าปกติ
แล้ว Spotlight Effect มีประโยชน์อย่างไร ?
หากมองในอีกมุมหนึ่ง Spotlight Effect ก็มีประโยชน์ต่อการเข้าสังคมด้วยเช่นกัน เพราะมันคือตัวกระตุ้น ที่ทำให้เราปรับตัวเข้ากับสังคมและสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้
อย่างเช่น ในการทำงาน Spotlight Effect ก็จะช่วยให้เรารู้จักระมัดระวังตัวมากขึ้น และไม่ทำสิ่งที่อาจเป็นข้อผิดพลาดในการทำงาน หรือสร้างความลำบากใจให้ผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม.. เราควรทำให้ทุกอย่างอยู่ในจุดสมดุล
เพราะถ้าเรามีภาวะ Spotlight Effect มากเกินไป การใช้ชีวิตของเราก็จะเหนื่อย กดดัน และไม่มีความสุข
หากใครสงสัยว่า ตัวเองกำลังมีภาวะ Spotlight Effect ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะอาการเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ อีกทั้งยังมีวิธี ที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขไปพร้อม ๆ กับภาวะนี้อีกด้วย เช่น
1) ทบทวนเรื่องราว แล้วบิดมุมมอง
ให้ลองนึกถึงเหตุการณ์น่าอายที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคุณอีกครั้ง แล้วเปลี่ยนไปสนใจรายละเอียด ในเรื่องที่ไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจแทน
เช่น ลองจินตนาการถึงวันที่คุณออกไปนำเสนองานหน้าห้องประชุม แต่ดันพูดผิดพูดถูกจนทำให้เสียความมั่นใจ ให้ลองเปลี่ยนจากมุมมองของนักแสดงหลัก ที่กำลังถูกไฟสปอตไลต์ส่องลงมา มาเป็นมุมมองของผู้กำกับแทน
โดยให้ลองย้ายความสนใจไปยังคนที่อยู่ในห้องประชุม ว่ามีใครนั่งอยู่บ้าง พวกเขาแต่งตัวอย่างไร สภาพอากาศวันนั้นเป็นอย่างไร หรือสิ่งที่คุณเคยมองข้ามอื่น ๆ ซึ่งก็จะช่วยให้ภาวะ Spotlight Effect ทุเลาลง
2) กล้าที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
บางครั้งการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการพุ่งชนปัญหานั้นไปเลย
เพราะในเมื่อเราคิดว่าคนอื่น รู้สึกไม่ดีกับสิ่งที่เราทำ
ก็ให้ลองเปิดใจ กล้าถามคนเหล่านั้นไปเลย ว่าจริง ๆ แล้ว พวกเขารู้สึกอย่างไร
เช่น เคยถูกเจ้านายว่า ต่อหน้าคนจำนวนมาก แล้วรู้สึกแย่ไปทั้งวัน
ทางแก้ก็คือ ให้ลองถามฟีดแบ็กจากเพื่อนร่วมงานหลาย ๆ คนว่า
เราทำผิดขนาดนั้นจริงไหม มีอะไรที่เราจะต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมไหม
เมื่อเราถามความคิดเห็นจากคนหลาย ๆ คน
เราก็จะเห็นมุมมองที่กว้างขึ้น และค้นพบข้อเท็จจริง ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า Spotlight Effect หรือ ภาวะหลงคิดว่าตัวเองกำลังเป็นจุดสนใจ
แม้จะดูเหมือนมีข้อด้อยแฝงอยู่ แต่ในนั้นก็มีข้อดีหลายอย่างเช่นกัน
เพราะหากคุณมีสติในการใช้ชีวิต.. ไม่ว่าจะมีภาวะน่าอายใดผ่านเข้ามา
คุณก็จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมันอย่างมีความสุขได้
นี่อาจเป็นข้อความจากการทดลองของ โทมัส กิโลวิช ผู้ค้นพบภาวะ Spotlight Effect ที่ต้องการจะสื่อสารแก่เราทุกคนอยู่ ก็เป็นได้..
References
-https://www.unlockmen.com/all-new-haval-h6-hybrid-suv
-https://www.themacho.co/2020/spotlight-effect/
-http://johjaionline.com/opinion/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-spotlight-effect/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.