The Trinity Portfolio วิธีบริหารพอร์ตลงทุน ให้รอดทุกสถานการณ์

The Trinity Portfolio วิธีบริหารพอร์ตลงทุน ให้รอดทุกสถานการณ์

13 มิ.ย. 2021
The Trinity Portfolio วิธีบริหารพอร์ตลงทุน ให้รอดทุกสถานการณ์ | THE BRIEFCASE
ปกติแล้ว เรามักจะคุ้นชินกับการบริหารพอร์ตลงทุนแบบแบ่งสัดส่วนสินทรัพย์อย่างชัดเจน
เช่น ถ้าหากเป็นนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงต่ำ
เราก็อาจจะกระจายเงินลงทุนไปยังตราสารหนี้ 80%
หุ้น 20%
สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากหน่อย
ก็อาจจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้น
โดยที่เราจะคงสัดส่วนแบบนี้ไปตลอด
และหากสัดส่วนใดน้อยหรือมากจากเดิมก็จะมีการปรับการลงทุนใหม่
เช่น หากปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 30% ในขณะที่ราคาสินทรัพย์อื่น ๆ มีมูลค่าไม่เปลี่ยนแปลง
เราก็จะต้องทำการขายหุ้นบางส่วน มาลงทุนสินทรัพย์อื่น เพื่อคงสัดส่วนการกระจายการลงทุนเดิม
แต่มีผู้บริหารกองทุนคนหนึ่งชื่อ Meb Faber ไม่เห็นด้วยกับวิธีการบริหารพอร์ตแบบดั้งเดิมนี้
เพราะแม้จะกระจายการลงทุนสินทรัพย์แล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสขาดทุนที่สูงอยู่ดี
และบางครั้งยังเป็นการลดผลตอบแทนที่ควรจะได้อีกด้วย
ดังนั้น เขาจึงได้เสนอวิธีการบริหารพอร์ตการลงทุนแบบใหม่
ที่จะช่วยลดความผันผวนให้น้อยลงและเพิ่มผลตอบแทนให้มากขึ้น
โดยหัวใจสำคัญก็คือ เพื่ออยู่รอดได้ทุกสภาวะเศรษฐกิจ
วิธีการนี้มีชื่อว่า “The Trinity Portfolio”
แล้วการบริหารพอร์ตแบบนี้ น่าสนใจอย่างไร ?
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ผลงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการบริหารพอร์ตแบบดั้งเดิมเทียบกับแบบใหม่
ซึ่งพอร์ตดั้งเดิมจะเริ่มต้นด้วยการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ในสหรัฐอเมริกา
ดังนั้น ผลการดำเนินงานจะแตกต่างกับของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ใจความของเนื้อหาในงานวิจัยนี้
สามารถนำไปปรับใช้ได้กับการลงทุนทุกประเทศ
ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา
จากที่เกริ่นไปว่าวิธีการบริหารพอร์ตแบบใหม่มีชื่อว่า The Trinity Portfolio
หลักการในการบริหารพอร์ตจึงมีอยู่ 3 หลักการ
โดยหลักการแรกคือ กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ให้ทั่วทุกมุมโลก
ตัวเลขหนึ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญคือ “Max Drawdown”
หรือผลตอบแทนจากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุดในอดีต
Meb Faber พบว่าหากบริหารพอร์ตแบบดั้งเดิม
แบ่งหุ้น 60% ตราสารหนี้ 40% ในช่วงปี 1932
จะพบว่าการลงทุนของเราจะมีโอกาสขาดทุนสูงสุดถึง 60%
นั่นหมายความว่า หากเราอยากให้พอร์ตกลับมาเท่าเดิม
เราต้องสร้างผลตอบแทนให้ได้มากถึง 125%
แม้ว่าจากสถิติย้อนหลังในอดีต ตลาดหุ้นจะสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้
แต่ในช่วงเวลาที่เราขาดทุนหนัก มันก็อาจจะส่งผลต่อสภาพจิตใจเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การบริหารพอร์ตแบบดั้งเดิมก็ยังมีข้อดี
นั่นคือ ความผันผวนจะต่ำกว่าการซื้อสินทรัพย์เพียงอย่างเดียว
หากเราซื้อหุ้นเพียงอย่างเดียวในปี 1932
เราจะมีโอกาสขาดทุนสูงสุดถึง 80%
และในช่วงปีถัด ๆ มา เช่น ปี 1942, ปี 1975, ปี 2003, ปี 2008 และปี 2020
เราจะมีโอกาสขาดทุนสูงสุดที่ 40 ถึง 50%
จะเห็นได้ว่าการลงทุนหุ้นเพียงอย่างเดียว อาจทำให้เราขาดทุนมหาศาล
นั่นจึงทำให้ไอเดียการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย
ก็จะเข้ามาช่วยลดความผันผวนและลดผลการขาดทุนของเราได้
วิธีการที่ดีขึ้นไปอีกจากเดิมคือ “ลงทุนสินทรัพย์ให้ครอบคลุมทั่วโลก”
ไอเดียนี้จะทำให้เราไม่ต้องคอยกังวลว่าประเทศใดบ้างจะมีปัญหา
หากนึกใกล้ตัว ย้อนกลับไปปีที่แล้ว
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนที่แย่
ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกากลับทำ New High
หรือแม้แต่ธุรกิจใกล้ตัวอย่าง SEA เจ้าของ Shopee และ Garena
ที่แม้จะไม่ใช่ของคนไทย แต่คนไทยใช้บริการเป็นประจำ ก็ปรับตัวขึ้นมามากเป็น 4 เท่า
หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราเองอย่าง ประเทศเวียดนาม
ที่เราเห็นว่าเขากำลังกลายมาเป็นอีกแหล่งการผลิตสำคัญของโลก
กองทุนดัชนีหุ้นเวียดนาม Top 30 ก็ยังให้ผลตอบแทนที่ดีถึง 25% ในปีที่แล้ว
แม้ว่าจะเป็นหุ้นในหลายประเทศ แต่มันก็ยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน
ทั้งนี้ เรายังมีสินทรัพย์อีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “Real Assets” หรือสินทรัพย์ที่จับต้องได้
เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ
ซึ่งการเพิ่มสินทรัพย์เหล่านี้ช่วยลดการขาดทุนในช่วงตลาดหมี
หรือช่วงที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อได้ดี
แต่การกระจายสินทรัพย์ทั่วโลกก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการบริหารพอร์ต
จึงมาสู่หลักการที่ 2 คือ “ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีพื้นฐานรองรับและมีโมเมนตัมของราคา”
หลักการก่อนหน้านี้ทำให้เรามีตัวเลือกในการลงทุนมากขึ้นแล้ว
ต่อไปนี้เป็นการประเมินว่าสินทรัพย์ใดน่าลงทุน
วิธีประเมินสินทรัพย์ว่าพื้นฐานรองรับหรือไม่
หากเปรียบกับหุ้น ก็ต้องดูว่ากิจการมีความแข็งแกร่งหรือไม่
โอกาสในการเติบโตเป็นอย่างไร
ประเมินมูลค่ากิจการด้วย P/E หรือคิดลดกระแสเงินสด
ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ก็ใช้วิธีเดียวกันได้
เช่น หากลงทุนในที่พักอาศัย
ก็ต้องดูว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างไร
ประเภทไหนที่คุ้มค่าที่จะลงทุน
สินทรัพย์ที่มีโมเมนตัม อธิบายง่าย ๆ ก็คือ
สินทรัพย์มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาหรือไม่
ถ้าหากราคานิ่ง จะถือว่าสินทรัพย์นั้นไม่มีโมเมนตัม
สาเหตุที่ Meb Faber บอกว่าต้องดู 2 สิ่งนี้ควบคู่กันไป
เพราะหากมีแต่พื้นฐานรองรับ ผลตอบแทนจะไม่ไปไหนหรืออาจเกิดค่าเสียโอกาส
ในขณะที่สินทรัพย์ที่ราคามีโมเมนตัม แต่ไม่มีพื้นฐานรองรับ ราคาจะขึ้นไปได้ไม่นาน
และทั้ง 2 สิ่งนี้จะต้องอยู่บนกลยุทธ์ Global Tactical Asset Allocation
หรือการจัดสรรสินทรัพย์ไปทั่วโลกตามภาวะตลาด
มาที่หลักการสุดท้ายคือ ใช้กลยุทธ์ Trend Following หรือลงทุนตามแนวโน้ม
ณ จุดนี้เรามีกลยุทธ์ Buy and Hold หรือซื้อและถือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ก็ต้องประสบกับปัญหา เมื่อบางครั้งต้องเห็นพอร์ตลด 10% 20% 30% หรือมากกว่านั้น
สิ่งนี้เองจะนำไปสู่พฤติกรรมการลงทุนที่ไม่ดี
เช่น การขายสินทรัพย์ในช่วงตลาดถดถอย ซึ่งจะสร้างผลขาดทุนมหาศาล
และอาจทำให้เราไม่กล้ากลับเข้ามาลงทุนอีกเลย
ทางเลือกในการแก้ปัญหาเหล่านี้คือ
การใช้ Trend Following ซึ่งเป็นหลักการของเทคนิเกิล
เพื่อตรวจสอบว่า สินทรัพย์นั้น ๆ กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง
โดยการดูราคาสินทรัพย์ในปัจจุบัน
เทียบกราฟ SMA 200 วัน หรือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน
หากมากกว่า แปลว่าสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น
ถ้าน้อยกว่า แปลว่าสินทรัพย์กำลังอยู่ในช่วงขาลง
แม้ว่าวิธีการนี้จะไม่ได้แม่นยำ 100%
แต่ก็สามารถป้องกันการขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญได้หลายครั้ง
หลายคนอาจคาดหวังการใช้กลยุทธ์ Trend Following จะสามารถลงทุนได้ถูกจังหวะทุกครั้ง
แต่ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้วพื้นฐานของกลยุทธ์นี้ออกแบบมาช่วยเสริมการซื้อแล้วถือมากกว่า
โดยลดความผันผวนและโอกาสขาดทุนให้ต่ำลง
ซึ่งการทำตามหลักการทั้งหมดนี้ จะส่งผลให้พอร์ตการลงทุนของเรามีผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ความผันผวนที่ลดลง และ Max Drawdown ต่ำลงอีกด้วย
จากงานวิจัยนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่ามาคิดต่อ
เปรียบเทียบกับพอร์ตการลงทุนของตัวเอง
ว่ายังมีส่วนใดอีกบ้างในการบริหารหรือการลงทุนของเรายังคงขาดหาย
เพื่อที่เราจะได้นำมาพัฒนาพอร์ตของเราให้อยู่รอดและสามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว
References
-http://www.cambriainvestments.com/wp-content/uploads/2016/07/Trinity_DIGITAL_final.pdf
-https://www.set.or.th/education/th/start/start_start_3_6.pdf
-https://finance.yahoo.com/quote/SE?p=SE&.tsrc=fin-srch
-https://en.wikipedia.org/wiki/Global_tactical_asset_allocation
-https://www.google.com/finance/quote/E1VFVN3001:BKK
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.