เทคนิคการคิดแบบ หมวก 6 ใบ กระตุ้นความคิดรอบด้าน ในที่ประชุม

เทคนิคการคิดแบบ หมวก 6 ใบ กระตุ้นความคิดรอบด้าน ในที่ประชุม

15 มิ.ย. 2021
เทคนิคการคิดแบบ หมวก 6 ใบ กระตุ้นความคิดรอบด้าน ในที่ประชุม | THE BRIEFCASE
ในบางครั้งการประชุมก็ยากที่จะหาข้อสรุปได้
ผู้เข้าร่วมประชุมมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน เกิดเป็นการประชุมที่ยืดเยื้อ
ทำให้เสียเวลาไปเปล่า ๆ หรือในบางครั้งก็เกิดความผิดพลาดจากการคิดที่ไม่รอบด้าน
ทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
ซึ่งการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ก็มีวิธีการที่หลากหลาย รวมไปถึงการฝึกคิดให้รอบด้าน
และการฝึกคิดอย่างรอบด้านก็ไม่ได้เป็นพรสวรรค์ที่มีมาแต่กำเนิด
แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถฝึกฝนกันได้
โดยหนึ่งในวิธีที่ใช้ฝึกความคิดนอกกรอบก็คือ เทคนิคการคิดแบบหมวก 6 ใบ
แล้วเทคนิคการคิดแบบหมวก 6 ใบ คืออะไร ?
เทคนิคการคิดแบบหมวก 6 ใบ เป็นเทคนิคที่คิดค้นขึ้นโดย ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน
ซึ่งเขาเป็นผู้คิดค้นเทคนิคการคิดนอกกรอบที่โด่งดังทั่วโลก ที่เรียกว่า Lateral Thinking
ที่ช่วยให้สามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และวางแผนงานได้ดีขึ้น
ยกตัวอย่างคนที่นำแนวคิดนี้ไปใช้แล้วประสบความสำเร็จ
เช่น คุณปีเตอร์ อิวบร็อธ ประธานกรรมการจัดกีฬาโอลิมปิก ที่ได้ใช้เทคนิค Lateral Thinking จาก ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน มาคิดวิธีจัดกีฬาโอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิสเมื่อปี 1984 จนสามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากขาดทุนจากการจัดงานโอลิมปิกมา 2 ครั้ง
โดยเทคนิคการคิดแบบหมวก 6 ใบเป็นเทคนิคที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อจัดการระบบความคิดออกเป็น 6 ด้าน
ทำให้สามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจด้วยการคิดทีละด้านอย่างเป็นระบบ
เป็นการเพิ่มศักยภาพให้ทักษะการคิด ทำให้ไม่คิดกระโดดไปกระโดดมา
หรือคิดพร้อมกันทุกอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้สับสน ใช้เวลานาน และสรุปไม่ได้
ซึ่งเทคนิคนี้มักจะใช้ในที่ประชุม
โดยหมวก 6 ใบนี้จะแบ่งตามสี 6 สี ได้แก่ ขาว เหลือง ดำ แดง เขียว และฟ้า
แต่ละสีก็จะมีความหมายแตกต่างกันออกไป คือ
- สีขาว หมายถึง ต้องการข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ต้องการความคิดเห็น
- สีเหลือง หมายถึง การคิดถึงจุดเด่น โอกาส การพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
- สีดำ หมายถึง ความเสี่ยง หรือปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
- สีแดง หมายถึง การใช้อารมณ์ความรู้สึก ว่าชอบ ไม่ชอบ ไม่ต้องมีข้อเท็จจริงมารองรับ
- สีเขียว หมายถึง การแสดงความคิดหรือไอเดียใหม่ ๆ
- สีฟ้า เป็นสีที่ผู้นำทีมหรือผู้บริหารใช้ในการดูแลความคิดของหมวกสีอื่น ๆ
โดยในการประชุม ทุกคนจะถูกสวมหมวกสีเดียวกัน เพื่อให้มุ่งไปที่ประเด็นเดียว
จากนั้นค่อยเปลี่ยนสีไปเรื่อย ๆ
เช่น หากสวมหมวกสีขาวอยู่ ก็จะต้องนำเสนอแต่ข้อเท็จจริงเท่านั้น
จากนั้นค่อยสวมหมวกสีดำ แล้วคิดถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา
อย่างไรก็ตาม กระบวนการคิดแบบหมวก 6 ใบ ก็ไม่ได้มีรูปแบบตายตัว
ไม่ได้มีการกำหนดว่าควรจะสวมหมวกสีอะไรก่อนหลัง
แต่ใช้เรียงลำดับตามความเหมาะสมของแต่ละปัญหา
ซึ่งข้อดีของวิธีการสวมหมวกทีละใบในแต่ละครั้ง
ก็เพื่อให้สมาชิกแต่ละคนโฟกัสไปที่สิ่งเดียว ในเวลานั้น
ทำให้การแสดงความเห็นออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่คิดฟุ้งซ่านปนกันในหัว
จากนั้นค่อยวนเปลี่ยนสีไปเรื่อย ๆ
ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิด การคิดให้รอบด้าน โดยไม่ฟุ้งซ่าน นั่นเอง..
References:
-https://www.debonogroup.com/services/core-programs/six-thinking-hats/
-http://person.ddc.moph.go.th/hrd/images/DATA/080825607.pdf
-https://www.entrepreneur.com/article/367350
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.