Flow State ภาวะที่เรารู้สึกว่า เวลาผ่านไปเร็วกว่าปกติ

Flow State ภาวะที่เรารู้สึกว่า เวลาผ่านไปเร็วกว่าปกติ

18 มิ.ย. 2021
Flow State ภาวะที่เรารู้สึกว่า เวลาผ่านไปเร็วกว่าปกติ | THE BRIEFCASE
เชื่อว่าหลายคน คงเคยสงสัยว่า ทำไมบางวันเวลาทำงานถึงผ่านไปอย่างรวดเร็ว
แต่บางวันเวลากลับผ่านไปอย่างเชื่องช้าทั้ง ๆ ที่เวลาทำงานก็เท่ากัน
บางวันเรารู้สึกสนุกกับการทำงาน แต่บางวันกลับรู้สึกว่างานที่ทำเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย
วันนี้ THE BRIEFCASE จะพาทุกคนมารู้จักกับภาวะที่เรียกว่า Flow State
ซึ่งเป็นภาวะทางจิตใจอย่างหนึ่ง ว่าด้วยการที่เราจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
เราจะใช้สมาธิทั้งหมดของเราในการทำสิ่งนั้น ราวกับว่าหลุดเข้าไปอยู่ในโลกอีกใบหนึ่ง
ในขณะที่เราตกอยู่ในภาวะ Flow State
เราจะมีสมาธิและประสิทธิภาพในการทำงานและการเรียนรู้ในระดับสูง
ที่สำคัญเรายังมีความสุขตลอดการทำงานอีกด้วย
Flow State ต่างจากการทำงานหนักหรือไม่ ?
แม้การทำงานหนัก กับทำงานในภาวะ Flow State ในบางครั้งจะเป็นการทำงานโดยใช้เวลานานเหมือนกัน
แต่ต้องบอกว่าการทำงานทั้งสองแบบนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
หากเราอยู่ในภาวะ Flow State เราจะมีความรู้สึก
1. “เพลิดเพลิน” เป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่กำลังทำอยู่
2. “ท้าทาย” แต่เราจะรู้สึก “สนุก” ที่ได้เจอกับความท้าทายนั้น
3. “ลืมเวลา” การรับรู้เวลาของเราจะหายไป นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมหลายครั้งเราจึงรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว
4. รู้สึก “มีความสุข” ที่ได้ทำงาน เราจะรู้สึกว่าประสบความสำเร็จ แม้จะเป็นงานเล็ก ๆ หรือส่วนย่อย ๆ ส่วนหนึ่งของงานก็ตาม
ซึ่งแตกต่างกับการทำงานหนัก ที่เราต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน โดยเรารู้สึกว่างานนั้นเป็นภาระหรือหน้าที่
หากเราไม่ได้เพลิดเพลินกับสิ่งที่เราทำอยู่ หรือสมาธิไม่ได้จดจ่อกับงานมากพอ นั่นอาจบอกได้ว่าเราไม่ได้อยู่ในภาวะ Flow State
แม้ภาวะ Flow State จะไม่ได้เกิดขึ้นง่ายสำหรับหลาย ๆ คน
แต่ข้อดีคือมีเงื่อนไขบางอย่างที่เราสามารถควบคุมได้
แล้วเราจะสามารถเข้าสู่ภาวะ Flow State ได้อย่างไร ?
1. ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และสามารถวัดผลได้
พูดง่าย ๆ คือเราจะต้องมีแผนที่ชัดเจนว่าเราจะทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร และเราจะวัดผลลัพธ์ได้ด้วยวิธีไหน
2. ไม่มีสิ่งรบกวน
สิ่งรบกวน เช่น เสียงพูดคุยที่ดังเกินไป เสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ อาจทำให้สมาธิเราหลุดได้และนั่นเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เราเข้าถึงภาวะ Flow State ได้ยากขึ้น
3. ต้องเป็นสิ่งที่ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป
ช่วงระดับความยากที่เหมาะสมคือ ใกล้เคียงหรือมากกว่าระดับความสามารถสูงสุดของเราเล็กน้อย
การทำงานที่มีความยากในระดับนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกท้าทายที่จะทำมันให้สำเร็จ
หากยากจนเกินไปจะทำให้เรารู้สึกท้อ และหากง่ายจนเกินไปอาจทำให้เรารู้สึกเบื่อได้
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ
Flow State เป็นแนวคิดของ Mihaly Csikszentmihalyi (อ่านว่ามิฮาลี ชิคเซนมิฮาย) นักจิตวิทยาชาวฮังการี โดยเริ่มจากความสงสัยว่าความสุขของแต่ละคนเกิดจากอะไร
จากการสัมภาษณ์คนจำนวนมาก เขาก็พบว่า มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีความสุขจากการได้ทำงาน
ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มองว่าตัวเองกำลังทำงานอยู่ แต่มองว่าพวกเขาแค่ทำในสิ่งที่เขารัก
ที่น่าแปลกใจคือ คนกลุ่มนี้กลับเป็นคนที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างบุคคลที่เราน่าจะรู้จักกัน เช่น
- อนิตา ร็อดดิก ผู้ก่อตั้ง The Body Shop
- มาซารุ อิบูกะ ผู้ก่อตั้ง Sony
ไม่น่าเชื่อว่า การที่เราได้ทำงานหรือทำในสิ่งที่เรารัก
เพียงเท่านี้ ก็เพิ่มความสุขในชีวิตให้เราได้แล้ว..
References:
-https://thematter.co/thinkers/flowstate/45461
-https://www.youtube.com/watch?v=fXIeFJCqsPs
-https://www.dropbox.com/th_TH/business/resources/flow-state
-https://en.wikipedia.org/wiki/Flow_(psychology)
-https://en.wikipedia.org/wiki/Mihaly_Csikszentmihalyi
-https://positivepsychology.com/mihaly-csikszentmihalyi-father-of-flow/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.