มุมมองต่อความล้มเหลว ของบริษัทระดับโลก เป็นแบบไหน ?

มุมมองต่อความล้มเหลว ของบริษัทระดับโลก เป็นแบบไหน ?

28 มิ.ย. 2021
มุมมองต่อความล้มเหลว ของบริษัทระดับโลก เป็นแบบไหน ? | THE BRIEFCASE
ความล้มเหลวและความกลัวที่จะผิดพลาด
มักจะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลาย ๆ คนกลัว
เพราะกลัวว่าจะต้องสูญเสียทั้งเงินและทรัพยากรไปอย่างมหาศาล
แต่ในบางครั้งการที่จะริเริ่มสร้างนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ ออกมา
ก็มักจะต้องเริ่มจากศูนย์ จากการที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และต้องแลกมาด้วยการผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกบริษัท
ไม่เว้นแม้กระทั่งบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่
แล้วบริษัทที่ประสบความสำเร็จระดับโลก มีมุมมองต่อความล้มเหลวอย่างไร ?
มาเริ่มกันที่บริษัทแรก คือยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซอย่าง Amazon.com
ก่อนอื่นต้องมาเข้าใจนิยามความล้มเหลวของ Amazon กันก่อน
สำหรับที่ Amazon ความล้มเหลว คือ การที่เราได้เรียนรู้สิ่งสำคัญจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ไม่ใช่การผิดพลาดกับเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่ไม่ได้สร้างประสิทธิภาพในการทำงานขึ้นมา
และหนึ่งในความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ของ Amazon ก็คือ Fire Phone ซึ่งเป็นสมาร์ตโฟนที่เปิดตัวในปี 2014
หลังจากเปิดตัวไปได้เพียงปีเดียว เสียงตอบรับที่ได้กลับไม่ได้ดีอย่างที่คิดไว้ ผู้คนต่างเข้ามาวิจารณ์ถึงประสิทธิภาพที่ห่วยของสมาร์ตโฟนเครื่องนี้กันเต็มไปหมด
แน่นอนว่า หัวหน้าโปรเจกต์สมาร์ตโฟนในครั้งนั้นอย่างคุณ Ian Freed คงอยู่ไม่เป็นสุข
แต่สิ่งที่ เจฟฟ์ เบโซส ทำหลังจากเกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้น คือ การเดินไปบอกคุณ Ian Freed ว่า “คุณห้ามรู้สึกแย่กับเรื่องนี้แม้แต่นาทีเดียวเลยนะ และสัญญากับผมว่า คุณจะนอนให้หลับ”
ความล้มเหลวในครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับ Amazon ราว 5,400 ล้านบาท
แต่ เจฟฟ์ เบโซส มองว่า ยิ่งบริษัทใหญ่ขึ้น โอกาสที่จะเกิดความล้มเหลวก็มากขึ้นตามไปด้วย
เพราะถ้าโอกาสในการเกิดความล้มเหลวไม่เพิ่ม แสดงว่าเราไม่ได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ เลย
และหากสิ่งที่เราคิดค้นประสบความสำเร็จ อาจจะชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็เป็นได้
หลังจากที่ Fire Phone ไม่ประสบความสำเร็จ
คุณ Ian Freed ก็ได้กลับไปพัฒนาและเรียนรู้ความผิดพลาดในครั้งนั้น
โดยเขากลับมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่
นั่นคือ ซอฟต์แวร์ของ Fire Phone ที่สามารถจดจำเสียงและตอบสนองต่อคำสั่งต่าง ๆ
ด้วยการเข้าถึงข้อมูลในระบบคลาวด์
หลังจากนั้นไม่นาน เจฟฟ์ ก็ได้เริ่มสร้างทีมและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองต่อคำสั่งเสียงเป็นของตัวเอง
เพราะในช่วงแรก ซอฟต์แวร์เสียงใน Fire Phone เป็นการได้รับอนุญาตมาจากบริษัทอื่น
แต่เจฟฟ์ต้องการเทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเขาเอง
สี่เดือนหลังจากเปิดตัว Fire Phone คุณ Ian Freed ก็ได้เปิดตัว Echo และ Alexa
ในขณะนั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า Echo และ Alexa เป็นนวัตกรรมใหม่ทั้งหมดที่ไม่มีบริษัทไหนเทียบได้เลย
เพราะเป็นลำโพงอัจฉริยะ ที่สามารถฟังคำสั่งและตอบสนองได้ตลอดเวลา
สุดท้าย Echo และ Alexa ก็ได้กลายมาเป็นสินค้าที่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายของ Amazon
เพราะหลังจากเปิดตัวได้ไม่นาน ก็สามารถขายได้นับล้านเครื่องทั่วโลก
และเจฟฟ์มองว่าความสำเร็จของ Amazon ในครั้งนี้ ส่วนสำคัญมาจากเวลา และความล้มเหลวของ Fire Phone เนื่องจากในขณะที่ Fire Phone ล้มเหลว บริษัทสามารถเรียนรู้ และเร่งความพยายามในการสร้าง Echo และ Alexa ขึ้นมา
อีกหนึ่งบริษัทที่น่าสนใจ ก็คือ Apple บริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก
ที่หลายคนมักจะคิดว่า ไม่ว่า Apple จะออกสินค้าอะไรมาก็ประสบความสำเร็จอยู่เสมอ
ไม่ใช่ว่า Apple ไม่เคยล้มเหลว แต่ ทิม คุก CEO คนปัจจุบันมองว่า เราต้องพยายามล้มเหลวก่อนที่จะส่งสินค้าให้กับลูกค้า เพราะเราไม่ต้องการให้ลูกค้าเข้าไปพัวพันกับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้เขายังบอกอีกว่า ความล้มเหลวก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ไม่ว่าคุณจะเป็นสตาร์ตอัปหรือบริษัทที่ดำเนินกิจการมาระยะหนึ่งแล้ว
เพราะความล้มเหลว หมายถึง เราได้พัฒนาสิ่งต่าง ๆ ถึงแม้มันจะไม่ออกมาเป็นสินค้าสู่สายตาผู้บริโภค
แต่เราก็ได้เริ่มลงมือทำและในบางครั้งเราก็เรียนรู้ได้มากจากสิ่งที่เกิดขึ้น
จะเห็นได้ว่า ทั้ง เจฟฟ์ เบโซส และ ทิม คุก ต่างก็มองว่า
ความล้มเหลวเหล่านั้น เป็นเหมือนบทเรียน
ที่ให้เราได้เรียนรู้ ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา
และช่วยให้เรา ประสบความสำเร็จได้ ในอนาคต..
References:
-https://aws.amazon.com/blogs/enterprise-strategy/failing-creating-a-culture-of-learning/
-https://newsbinding.com/entrepreneurs/tim-cook-just-explained-a-brutal-truth-about-failure-that-most-people-never-acknowledge/
-https://www.cnbc.com/2020/05/22/jeff-bezos-why-you-cant-feel-bad-about-failure.html
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.