5 เรื่องที่ตัดสินว่า สตาร์ตอัปไหน จะเป็นดาวรุ่ง หรือดาวร่วง

5 เรื่องที่ตัดสินว่า สตาร์ตอัปไหน จะเป็นดาวรุ่ง หรือดาวร่วง

29 มิ.ย. 2021
5 เรื่องที่ตัดสินว่า สตาร์ตอัปไหน จะเป็นดาวรุ่ง หรือดาวร่วง | THE BRIEFCASE
หลายปีที่ผ่านมา ใครหลายคนคงได้เห็นเหล่าสตาร์ตอัปเติบโตอย่างก้าวกระโดด
และบางรายได้กลายเป็นยูนิคอร์น หรือบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท
แม้กระทั่งประเทศไทยเอง ก็มียูนิคอร์นแล้วเช่นกัน
นั่นคือ Flash Express สตาร์ตอัปด้านโลจิสติกส์ ที่โตมาพร้อมกับกระแสอีคอมเมิร์ซ
แต่ในทางกลับกัน ก็มีเหล่าสตาร์ตอัปจำนวนมากที่ล้มหายตายจากไป
ซึ่งจากสถิติมีสัดส่วนสูงถึง 90% ของจำนวนทั้งหมด
ความแตกต่างของสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวคืออะไร
คงมีหลายคนที่น่าจะพยายามหาคำตอบของคำถามนี้
คุณ Bill Gross ผู้ก่อตั้ง Idealab แหล่งบ่มเพาะเหล่าสตาร์ตอัปแห่งหนึ่ง ก็เป็นอีกคนที่สงสัยเช่นเดียวกันและพยายามหาคำตอบมาโดยตลอด
เขาจึงไปสำรวจบริษัท 200 ราย จากสตาร์ตอัปที่อยู่ทั้งในและนอกใต้การดูแลของตน
เพื่อหาว่าอะไรคือปัจจัยร่วมที่ทำให้กลุ่มสตาร์ตอัปประสบความสำเร็จ
รวมถึงดูว่า กลุ่มธุรกิจที่ล้มเหลวขาดปัจจัยเหล่านี้หรือไม่
และแล้วก็ได้คำตอบว่า มีอยู่ 5 ปัจจัยหลัก ที่ตัดสินว่าสตาร์ตอัปมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือไม่
ซึ่งแต่ละปัจจัยมีลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันไป
แล้วปัจจัยทั้ง 5 มีอะไรบ้าง ?
1. จังหวะเวลา
ใครหลายคนคงนึกว่าไอเดียที่ล้ำสมัยหรือทีมที่มีความสามารถ
คงเป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
แต่จากการสำรวจกลับพบว่าเป็นเรื่องของ “Timing” หรือการเข้าถูกที่ถูกเวลา
ต่อให้ไอเดียธุรกิจดีอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าหากมาเร็วเกินไป ก่อนที่สภาพแวดล้อมจะเอื้ออำนวย
หรือพฤติกรรมของผู้คนยังปรับไม่ทัน ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ
ในทางกลับกัน หากมาสายเกินไป ตลาดจะเต็มไปด้วยการแข่งขันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
และหากเข้ามาได้ ก็ต้องเจอกับการแข่งขันกับรายใหญ่ ซึ่งโอกาสชนะนั้นน้อยมาก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า Timing เป็นสิ่งสำคัญคือ Airbnb
Airbnb ธุรกิจที่ให้ผู้คนปล่อยเช่าบ้านของตนแก่คนแปลกหน้า
ในช่วงแรกเป็นไอเดียที่ไม่มีใครคิดว่า จะมีใครกล้าเปิดบ้านให้คนอื่นเช่า
แต่ช่วงที่ Airbnb เข้าสู่ตลาด เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังถดถอย จากวิกฤติซับไพรม์
ผู้คนในเวลานั้นต้องการรายได้พิเศษ จึงทำให้ก้าวข้ามความกลัวที่ให้คนแปลกหน้ามาเช่าบ้าน
และจากเรื่องราวนี้ก็ส่งผลให้ Airbnb เติบโตจนกลายเป็นบริษัทมูลค่าเกือบ 3 ล้านล้านบาท ในปัจจุบัน
Zoom ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ดีเช่นกัน
จากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้คนจำนวนมากต้องทำงานและเรียนหนังสือจากบ้าน
ทำให้ Zoom ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Video Conference เติบโตอย่างก้าวกระโดด
จากสิ้นปี 2019 จำนวนผู้ใช้งาน Zoom รายวันอยู่ที่ 10 ล้านคน
สิ้นปี 2020 จำนวนผู้ใช้งาน Zoom รายวันกลับเพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านคน
คิดเป็นการเติบโตขึ้นถึง 2,900%
และผลักดันให้ Zoom มีมูลค่าบริษัทในปัจจุบันถึง 3.5 ล้านล้านบาท
ทีนี้มาดูสตาร์ตอัปที่ไอเดียดีแต่ประสบความล้มเหลวกันบ้าง..
Z.com สื่อบันเทิงออนไลน์ มีโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่งและยังได้ร่วมงานกับคนใน Hollywood แต่ก็ต้องเจอกับความล้มเหลว เพราะช่วงปี 1999 อินเทอร์เน็ตยังแย่เกินไปที่จะดูวิดีโอออนไลน์ได้
ดังนั้นหากอยากให้ธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จก็ต้องดูเรื่อง Timing ไว้ให้ดี
2. ทีมงาน
Y Combinator สถาบันบ่มเพาะสตาร์ตอัปชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ก็ใช้ปัจจัยนี้เป็นหลักในการคัดเลือกทีมสตาร์ตอัปเข้าร่วม
แม้บางครั้งไอเดียธุรกิจจะดูไม่น่าสนใจ แต่ถ้าสมาชิกในทีมดูมีทักษะและประสบการณ์
ก็จะถูกคัดเลือกให้ได้รับการสนับสนุนอยู่ดี
ซึ่งมีโอกาสมากกว่ากลุ่มสตาร์ตอัปที่ไอเดียดี แต่สมาชิกในทีมดูไม่มีความเชี่ยวชาญ
3. แนวคิดหรือไอเดียธุรกิจ ที่สร้างความแตกต่างและไม่เหมือนใคร
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไอเดียไม่สำคัญ
เพราะธุรกิจจะมีความโดดเด่นและมีจุดแข็งได้
ก็ต้องเริ่มจากการมีไอเดียที่ฉีกแนว ไม่เหมือนใคร และตอบโจทย์ผู้บริโภค
แต่ก็พูดได้ว่าไอเดียจะอยู่รอดได้นั้น ต้องพึ่งพา 2 ปัจจัยแรก เพราะหากขาด Timing ที่ดี ก็ยากที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนให้มาใช้สินค้าหรือบริการของเรา
อีกทางหนึ่ง หากขาดทีมงานที่ดี สุดท้ายก็จะโดนคู่แข่งรายอื่นที่บริหารดีกว่า เข้ามาตีตลาดในที่สุด
4. Business Model ที่ชัดเจน
เราต้องรู้ว่าสินค้าหรือบริการของเราคืออะไร มีคุณค่าอย่างไร ลูกค้าคือกลุ่มไหน จะสามารถสร้างรายได้ได้อย่างไร
ซึ่งแม้ว่าปกติแล้ว Business Model จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจ
แต่ที่ปัจจัยนี้ไม่ได้มีความสำคัญอันดับแรก ๆ เพราะว่า Business Model สามารถทำในภายหลังได้
หากยกตัวอย่างก็คงเป็น Facebook และ YouTube ช่วงแรกไม่ได้มี Business Model ที่ชัดเจน
Facebook และ YouTube ไม่รู้ว่าจะสามารถหารายได้ได้อย่างไร แต่ก็ดำเนินธุรกิจเรื่อยมา
จนในที่สุดก็ได้ไอเดียหารายได้จากค่าโฆษณาทั้งหลาย
5. เงินทุน
เงินทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สินค้าหรือบริการของบริษัทเกิดขึ้นได้จริงและเป็นที่รู้จัก
ซึ่งถึงแม้ในช่วงแรก ธุรกิจจะยังไม่มีเงินทุน แต่ถ้าไอเดียหรือธุรกิจได้รับผลตอบรับที่ดี สุดท้ายแล้วเม็ดเงินจะไหลเข้ามา ทั้งจากแพลตฟอร์มและนักลงทุนต่าง ๆ
ตัวอย่างช่องทางระดมเงินทุนสำหรับคนมีไอเดีย ก็อย่างเช่น Kickstarter แพลตฟอร์มระดมทุน ที่ให้ผู้คนที่มีไอเดียนำมาแปลงเป็นเงินทุน
โดยผู้ที่มีไอเดีย จะต้องนำผลงานของตนมาลงบนแพลตฟอร์ม
และผู้คนทั่วไป สามารถมาสนับสนุนไอเดียได้ โดยจะได้รับสินค้าหรือบริการนั้นเป็นผลตอบแทน
ซึ่งถือว่าเป็นการทดสอบไอเดียภายในตัวว่าสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจได้หรือไม่
จากเรื่องนี้คุณ Bill Gross สรุปให้ว่า ในทั้งหมด 5 ข้อนี้
เขาให้น้ำหนักกับเรื่อง Timing เป็นอันดับแรก
ซึ่งวิธีประเมิน Timing คือดูว่าช่วงเวลานั้นกลุ่มลูกค้าพร้อมกับสิ่งที่เราเสนอให้หรือไม่
ต้องประเมินอย่างตรงไปตรงมา เทียบผลลัพธ์กับสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่หลอกตัวเอง
เมื่อมีไอเดียธุรกิจที่ดี ทำธุรกิจด้วย Timing ที่เหมาะสม สร้างโมเดลรายได้ที่ชัดเจนได้ มีสุดยอดทีมงาน และมีเงินทุนไหลมา
สตาร์ตอัปนั้น ก็นับว่าฉายแววความเป็นดาวรุ่ง ที่น่าจับตามองได้แล้ว..
References:
-https://www.ted.com/talks/bill_gross_the_single_biggest_reason_why_start_ups_succeed/transcript?language=en
-https://www.longtunman.com/29510
-https://www.longtunman.com/8056
-https://www.investopedia.com/articles/personal-finance/040915/how-many-startups-fail-and-why.asp
-หนังสือ The Launch Pad: Inside Y Combinator, Silicon Valley's Most Exclusive School for Startups โดยคุณ Randall E. Stross
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.