3 เทคนิค ลดความโดดเดี่ยวตอน Work From Home แบบฉบับ NASA

3 เทคนิค ลดความโดดเดี่ยวตอน Work From Home แบบฉบับ NASA

1 ก.ค. 2021
3 เทคนิค ลดความโดดเดี่ยวตอน Work From Home แบบฉบับ NASA | THE BRIEFCASE
ถูกจำกัดพื้นที่เป็นเวลานาน..
ปฏิสัมพันธ์ได้เฉพาะคนที่อยู่อาศัยร่วมกัน..
ไม่สามารถพบเจอบุคคลภายนอกได้อย่างปกติ..
และการโต้ตอบทางสังคม ก็ทำได้เพียงผ่านวิดีโอคอลเท่านั้น..
ความรู้สึกบางส่วนเหล่านี้กำลังสร้าง “ความรู้สึกโดดเดี่ยว” มากขึ้นเรื่อย ๆ
หลังจากการเกิดการระบาดของโควิด 19
ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ ๆ กลายเป็น New Normal
หนึ่งในนั้นก็คือ การทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home
แม้ว่าการทำงานอย่างโดดเดี่ยวแบบ WFH ของ “มนุษย์โลก” จะเริ่มเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
รู้หรือไม่ว่า คนนอกโลกอย่าง “มนุษย์อวกาศ” ต่างเผชิญหน้ากับปัญหาความโดดเดี่ยวเหล่านี้มาแล้วทั้งนั้น
แล้วองค์กร NASA บริหารความรู้สึกโดดเดี่ยวของมนุษย์อวกาศเหล่านี้อย่างไร ?
คุณ Tom Williams นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมมนุษย์ของ NASA
ได้ทำการศึกษาโครงการวิจัยมนุษย์ (HRP) เพื่อค้นหาคำตอบของการมีสุขภาพจิตที่ดีของมนุษย์
แล้วก็ได้พบ 3 เทคนิคสำคัญช่วยให้มนุษย์อวกาศ รับมือกับความรู้สึกโดดเดี่ยวจากการทำงานนอกโลกได้
ซึ่งเทคนิคที่ว่านี้ ก็สามารถประยุกต์ใช้กับมนุษย์โลกในช่วงเวลานี้ได้เช่นกัน
แล้ว 3 เทคนิคที่ว่านี้ คืออะไร ?
1. มองเห็นความสำคัญของงาน มองเห็นความสำคัญของตัวเอง
ต้องยอมรับว่า การลงจอดบนดวงจันทร์ของมนุษย์อวกาศ
ไม่ใช่แค่ผลงานความสำเร็จของเขาคนเดียว แต่มันคือความสำเร็จระดับประเทศ
คุณ Tom Williams จึงแนะนำว่า เมื่อองค์กรชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของงานมากขึ้นเท่าไร
ตัวเราเองที่มีส่วนร่วมในงานนั้น ก็จะเห็นคุณค่าตนเองมากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งการเห็นคุณค่าตนเองนี่เอง ที่จะช่วยให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวลดน้อยถอยลงไปได้
ดังนั้น หนึ่งวิธีง่าย ๆ ที่จะแก้ปัญหาความรู้สึกโดดเดี่ยวจากการ WFH ของมนุษย์โลก
ก็คือ การเข้าใจในความสำคัญของงานที่ทำ รวมทั้งการมองเห็นความสำคัญของเพื่อนร่วมทีม
ซึ่งจะช่วยให้เกิดกำลังใจ, การสานสัมพันธ์ และการเป็นหนึ่งเดียวกัน กลับคืนมาได้ไม่ยาก
2. เปิดใจกว้าง พร้อมปรับตัวตามสถานการณ์
ความเครียดจากความรู้สึกโดดเดี่ยว ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพจิตของมนุษย์อวกาศ
คุณ James Picano นักจิตวิทยาปฏิบัติการของ NASA กล่าวว่า จิตวิทยาที่สำคัญต่อมนุษย์อวกาศ
ก็คือ การลดความขัดแย้ง, การเคารพพื้นที่ส่วนบุคคล และการดูแลเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยทักษะพื้นฐานที่เรียกว่า “การเปิดใจกว้าง”
ซึ่งคนที่เปิดใจกว้าง มักจะมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้มองเห็นวิธีการแก้ปัญหา และการปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายในชีวิตได้ง่ายขึ้น จึงทำให้มีความรู้สึกโดดเดี่ยวได้ยากกว่าคนทั่วไป
ดังนั้น หนึ่งวิธีที่จะช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวจากการ WFH ของมนุษย์โลกได้
ก็คือ การกลับมาสำรวจตนเองก่อนว่า เราเป็นคนเปิดใจกว้าง เพื่อรับสิ่งท้าทาย หรือการทำงานรูปแบบใหม่ แล้วหรือยัง..
3. มีองค์กรเป็นเพื่อนแท้ยามยาก
รู้หรือไม่ว่า NASA ไม่เพียงจะเป็นสถานที่ทำงาน แต่ยังต้องทำหน้าที่เป็นเพื่อนแท้ของมนุษย์อวกาศ
ที่จะคอยดูแลทั้งในเรื่องการพักผ่อน, การออกกำลังกาย, โภชนาการอาหาร
รวมทั้งการรับมือกับปัญหาทางอารมณ์, ความรู้สึกโดดเดี่ยว และความเครียดของมนุษย์อวกาศ
พูดง่าย ๆ ว่า NASA กลายเป็นเพื่อนแท้ที่จะคอยดูแลทั้งเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจเลยทีเดียว
กลับมาที่มนุษย์โลกอย่างเรา..
ความรู้สึกโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นจากการ WFH ในตอนนี้
ต้องยอมรับว่า นอกจากจะเกิดขึ้นมาจากสภาพจิตใจของตัวเราเองแล้ว
ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลกระทบจากการขาดความดูแลเอาใจใส่ขององค์กรด้วย
ดังนั้น หากเราอยู่ในตำแหน่งงานที่สามารถช่วยให้องค์กรกลับมาเป็น “เพื่อนแท้ยามยาก” ของพนักงานได้
ก็ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ ความรู้สึกโดดเดี่ยวของพนักงาน ลดน้อยถอยลงไป
แต่ยังจะทำให้พนักงานกลับมา รักองค์กรอย่างหมดหัวใจ และทำงานอย่างเต็มที่ได้อีกด้วย
สุดท้ายแล้ว ความรู้สึกโดดเดี่ยวจากการทำงานคนเดียว..
ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับ มนุษย์อวกาศ หรือมนุษย์โลกที่ต้องทำงาน WFH ในตอนนี้
ทางออกสำคัญก็คือ การหันกลับมาเห็นความสำคัญของงาน, การปรับตัวตามสถานการณ์
รวมทั้งความเอาใจใส่ขององค์กรที่เราทำงานในฐานะเพื่อนแท้ นั่นเอง..
References:
-https://www.nasa.gov/feature/isolation-what-can-we-learn-from-the-experiences-of-nasa-astronauts
-https://www.nasa.gov/feature/an-astronaut-s-tips-for-living-in-space-or-anywhere
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.