รู้จัก Shrinkflation ปรากฏการณ์ ที่เราซื้อของแพงขึ้น โดยไม่รู้ตัว

รู้จัก Shrinkflation ปรากฏการณ์ ที่เราซื้อของแพงขึ้น โดยไม่รู้ตัว

3 ก.ค. 2021
รู้จัก Shrinkflation ปรากฏการณ์ ที่เราซื้อของแพงขึ้น โดยไม่รู้ตัว | THE BRIEFCASE
เคยรู้สึกไหมว่า ขนมที่เราซื้อกินเป็นปกติ ที่ภายนอกดูเหมือนเดิม ราคาก็เท่าเดิม
แต่เมื่อเปิดซองมาแล้วกลับมีความรู้สึกแวบเข้ามาในหัว นั่นคือ “ปริมาณของมันน้อยลงรึเปล่า”
และในบางครั้ง สิ่งเหล่านี้เราก็ไม่ได้คิดไปเอง เพราะมันน้อยลงจริง ๆ..
สิ่งที่เราเจอนี้ อธิบายได้ด้วยคำว่า “Shrinkflation”
แล้ว Shrinkflation คืออะไร ? THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
ในทางเศรษฐศาสตร์ Shrinkflation ก็คือ การที่ผู้ผลิตลดขนาดหรือปริมาณสินค้าลง
แต่ยังคงขายสินค้าเหล่านั้นในราคาที่เท่าเดิม หรือขึ้นราคาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ซึ่งผู้ที่ริเริ่มอธิบายคำนี้ ก็คือนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อว่า Pippa Malmgren
โดยเธอบอกว่าเรามักเจอปรากฏการณ์ Shrinkflation ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม
ซึ่งจริง ๆ แล้ว Shrinkflation ก็เหมือนกับเงินเฟ้อซ่อนรูป
เพราะแทนที่จะขึ้นราคาสินค้าอย่างโจ่งแจ้งให้ผู้บริโภครับรู้แล้ว
ผู้ผลิตกลับเลือกที่จะขายสินค้าราคาเท่าเดิมแต่ลดปริมาณ หรือขนาดของสินค้าลง
ซึ่งวิธีนี้ทำให้ผู้ผลิตสามารถขายราคาสินค้า “ต่อหน่วย” ได้แพงขึ้น
โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นราคาให้ผู้บริโภคสังเกตได้เลย
และสินค้าที่มักจะใช้วิธีนี้นั่นก็คือ สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เรากินกันเป็นประจำ
นั่นก็เป็นเพราะว่า เวลาที่เราไปซื้อของ เราก็มักจะซื้อของเดิม ๆ และจำแต่ราคาเท่านั้น
แต่เราแทบไม่เคยสังเกตเลยว่าปริมาณของสินค้าเหล่านั้นมันเท่าไรกันแน่
แล้วมีปัจจัยอะไรบ้างที่ก่อให้เกิด Shrinkflation ?
มาเริ่มกันที่ปัจจัยแรก นั่นคือ ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น
ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมักเป็นปัจจัยหลัก ๆ เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าน้ำมัน แพงขึ้น
สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าแพงขึ้นและส่งผลให้กำไรต่อหน่วยที่ผู้ผลิตจะได้รับนั้นลดลง
แต่การแก้ปัญหาด้วยการขึ้นราคาสินค้าก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเสมอไป ผู้ผลิตจึงเลือกที่จะลดปริมาณสินค้าลง
โดยพยายามไม่ให้ผู้บริโภคสังเกตเห็นได้ง่าย ๆ แทนที่จะขึ้นราคาสินค้า
เพราะจะได้ไม่กระทบกับจำนวนสินค้าที่จะขายได้นั่นเอง
ปัจจัยถัดมาก็คือ การแข่งขันกับผู้ขายรายอื่นในตลาด
การแข่งขันที่ดุเดือดเพื่อแย่งส่วนแบ่งลูกค้า ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถทำให้เกิด Shrinkflation ได้
โดยเฉพาะในสมรภูมิอาหารและเครื่องดื่มที่มีการแข่งขันสูง
ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการซื้อสินค้าอื่น ๆ มาทดแทนได้อย่างง่าย ๆ
ยิ่งหากเราขึ้นราคาสินค้า ผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปซื้อของจากแบรนด์อื่นมาทดแทนได้
ดังนั้นผู้ผลิตหลายรายจึงไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ แต่ต้องหันมาลดปริมาณลงแทน
เพื่อรักษากำไรต่อหน่วยและยอดขายให้อยู่ในระดับเดิม
แล้วเหตุการณ์ Shrinkflation เคยเกิดขึ้นกับแบรนด์ไหนบ้าง ?
มาเริ่มกันที่แบรนด์แรกอย่าง Coca-Cola
ที่ลดปริมาณน้ำโค้กลงจากขวดละ 2 ลิตร เหลือ 1.75 ลิตร ในปี 2014
แต่ตัวอย่างที่เห็นชัดจริง ๆ ก็คือ ในปี 2016 Toblerone ช็อกโกแลตรูปทรงสามเหลี่ยมเจ้าดัง
ได้ตัดสินใจออกมาประกาศที่จะลดปริมาณ Toblerone ลง 2 ขนาดด้วยกัน
คือ ขนาด 400 กรัม จะลดลงเหลือ 360 กรัม และขนาด 170 กรัม จะลดลงเหลือ 150 กรัม แต่ยังขายราคาเท่าเดิม
เพราะต้นทุนด้านวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาช็อกโกแลต
แต่ทางบริษัทไม่ต้องการขึ้นราคา จึงเลือกที่จะลดปริมาณลงแทน
แต่แทนที่ Toblerone จะลดขนาดความยาวของตัวช็อกโกแลตลง แล้วคงรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ตามเดิมทางบริษัทกลับเลือกที่จะคงความยาวเท่าเดิม จนสุดท้ายก็เกิดเป็นปัญหาขึ้น
เพราะปริมาณน้ำหนักที่ลดลง แต่ยังคงความยาวเท่าเดิม
รูปทรงสามเหลี่ยมที่วางเรียงกัน จากที่เคยอยู่ติดกันสวยงาม
กลับห่างออกไปจนไม่เหมือน Toblerone ที่ทุกคนรู้จัก
และทำให้เหล่าสาวกของแบรนด์ ต้องออกมาบ่นไปตาม ๆ กัน..
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ Shrinkflation ก็กำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง
จากวิกฤติโควิด ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น
โดยรายงานของ The United Nations FAO Food Price Index พบว่า
ดัชนี Food Price Index นั้นอยู่ที่จุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2011
แต่ผู้ผลิตไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าในสภาวะที่เศรษฐกิจกำลังเปราะบางเช่นนี้ได้
ทำให้มีนักเศรษฐศาสตร์ออกมาเตือนว่าผู้บริโภค อาจกำลังเผชิญกับ Shrinkflation ในวิกฤติครั้งนี้
สุดท้ายนี้ Shrinkflation ก็เป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่ผู้ผลิตใช้เพื่อรักษาระดับรายได้ให้กับตนเอง
แต่ถ้าเราไม่อยากตกเป็นเหยื่อกลยุทธ์เช่นนี้ เวลาที่เราไปซื้อของคราวหน้า ก็อย่าลืมเช็กทั้งราคาและปริมาณจะได้ไม่ต้องมานั่งสงสัยว่าเราได้ของน้อยลงจริง ๆ หรือเราคิดไปเองกันแน่..
References:
-https://www.cbsnews.com/news/grocery-prices-rise-supermarkets/
-https://corporatefinanceinstitute.com/resources/knowledge/economics/shrinkflation/
-https://www.washingtonpost.com/business/2021/06/01/package-sizes-shrink-inflation/
-https://thaipublica.org/2016/12/yangsamkum5/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.