อยากเป็นผู้นำที่ดี อย่ามี EGO สูงเกินไป

อยากเป็นผู้นำที่ดี อย่ามี EGO สูงเกินไป

5 ก.ค. 2021
อยากเป็นผู้นำที่ดี อย่ามี EGO สูงเกินไป | THE BRIEFCASE
..มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง
..มั่นใจในความคิดและการกระทำของตนเอง
เหล่านี้คือลักษณะของคนที่มีความมั่นใจสูง
ซึ่งเป็นบุคลิกที่ดี โดยเฉพาะสำหรับคนที่อยู่ในฐานะผู้นำ
อย่างไรก็ตาม ถ้าคนคนนั้น มีความมั่นใจที่ “สูงเกินไป” จนมาพร้อมกับความเชื่อที่ว่า ความคิดและการกระทำของตนเองนั้นถูกต้องเสมอ จนไม่ต้องการเปิดรับฟังสิ่งใหม่ ๆ จากคนอื่น
นั่นอาจนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “อีโก” (EGO) ที่สูงเกินไป..
ถ้าให้สรุปความหมายของคำว่าอีโกนี้ให้เข้าใจง่าย ๆ จะหมายถึง “การถือตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ”
การถือตัวเอง และความคิดตัวเองเป็นสิ่งสำคัญจนเกินไป อาจทำให้เรากลายเป็นคนที่จมอยู่กับความคิดของตนเอง และมักจะเลือกที่จะไม่รับฟังความคิดเห็นของคนที่เห็นต่างออกไป
การมีอีโกที่สูงนั้น มักเกิดจากคนที่ผ่านความสำเร็จมาแล้วบ่อยครั้ง มีหน้าที่การงานหรืออยู่ในตำแหน่งสูง ๆ ขององค์กร จนเชื่อว่าตัวเองนั้น เก่งกว่าคนอื่น ๆ
โดยอีโกนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคนหลายวงการไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง นักแสดง นักกีฬา รวมไปถึงผู้บริหารระดับสูงในองค์กร
Robin S. Sharma ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาภาวะผู้นำชาวแคนาดา เคยกล่าวไว้ว่า “การที่คนคนหนึ่งจะเป็นผู้นำที่ดีได้นั้น เขาต้องรู้จักวางอีโกของตัวเองลง เพื่อช่วยทำให้ตัวเขาสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ลองดูภาพว่า ถ้าเรามีหัวหน้าหรือผู้นำ 2 แบบ
แบบที่ 1
- หัวหน้าที่รับฟังความคิดเห็นและการกระทำที่แตกต่างของลูกน้อง
- หัวหน้าที่เปิดโอกาสให้ลูกน้องสามารถเข้าหาได้ง่าย
- หัวหน้าที่ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
- หัวหน้าที่ไม่เห็นแก่ตัว
แบบที่ 2
- หัวหน้าที่ไม่เคยรับฟังความคิดและการกระทำที่แตกต่างของลูกน้อง
- หัวหน้าที่ไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องสามารถเข้าหาได้ง่าย
- หัวหน้าที่มักเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง อะไรที่ผิดไปจากความคิด ความเชื่อของตัวเอง ก็จะไม่ยอมเชื่อ
- หัวหน้าที่เห็นแก่ตัว
แน่นอนว่าถ้าให้เลือก ทุกคนก็คงอยากทำงานกับหัวหน้าหรือผู้นำแบบที่ 1 มากกว่า
ลองคิดดูว่า ถ้าวันนี้เรามีแนวคิดหรือไอเดียที่น่าสนใจ เช่น หาวิธีลดต้นทุนการทำงาน หาทางเพิ่มยอดขาย ได้ซึ่งถือว่าจะส่งผลดีต่อบริษัท
แต่พอนำเสนอหัวหน้า หัวหน้ากลับไม่แม้แต่จะฟัง หรือไม่เปิดโอกาสให้อธิบาย
เพียงเพราะว่า หัวหน้าเชื่อว่าวิธีที่เขาทำอยู่นั้นมันถูกต้องแล้ว
ถ้าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ ยิ่งนานวัน คงไม่มีใครอยากแสดงความคิดเห็นหรือเสนออะไรใหม่ ๆ ออกมา จนสุดท้ายก็อาจส่งผลเสียหายต่อบริษัทในที่สุด
กรณีศึกษาที่น่าสนใจในการพยายามลดอีโกของตัวเองคือ เคสของคุณ Cees 't Hart ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของคาร์ลสเบิร์ก บริษัทผลิตเบียร์และเครื่องดื่มระดับโลกสัญชาติเดนมาร์ก
ย้อนกลับไปในปี 2015 วันแรกที่คุณ Cees 't Hart เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอของบริษัท ผู้ช่วยของเขาได้เอา คีย์การ์ดสำหรับใช้ลิฟต์มาให้
โดยที่คีย์การ์ดใบนี้มีความพิเศษตรงที่ ตอนที่เขาใช้ลิฟต์ขึ้นตึกนั้น การ์ดใบนี้จะล็อกลิฟต์ชั้นอื่น ๆ ทั้งหมดเพื่อทำให้เขาสามารถตรงขึ้นไปทำงานที่ห้องของเขาที่ชั้น 20 ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาตอนที่ลิฟต์แวะชั้นอื่น ๆ เหมือนพนักงานทั่วไปในบริษัท
นอกจากนี้ ภายในห้องทำงานของเขายังสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามภายในเมืองโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก
แต่เขาสังเกตว่า ตลอด 2 เดือนแรกที่มารับตำแหน่ง เขาเจอพนักงานในบริษัทเพียงไม่กี่คน นั่นก็เพราะว่าลิฟต์ของเขานั้นไม่เคยหยุดชั้นอื่นเลย ซึ่งเขามองว่า นั่นเป็นปัญหาที่เกิดจากตำแหน่งของเขาที่สูงในบริษัท จนทำให้เขาขาดโอกาสที่จะได้พบปะกับพนักงานส่วนใหญ่ของบริษัท
หลังจาก 2 เดือนผ่านไป เขาจึงตัดสินใจบอกให้ผู้ช่วยของเขาช่วยจัดการเปลี่ยนที่ทำงานของเขาจากที่เคยอยู่ชั้น 20 มาอยู่เป็นโต๊ะโล่ง ๆ โล้น ๆ ในชั้นที่ต่ำลงมา และขอคีย์การ์ดปกติเหมือนพนักงานเพิ่มอีกใบ เผื่อวันไหนที่เขาไม่รีบต้องขึ้นไปชั้นที่ทำงาน ก็จะได้ขึ้นลิฟต์ที่ได้เจอพนักงานคนอื่น ๆ บ้าง
เขาบอกว่า “การที่ผมแทบไม่ได้เจอคนในองค์กร แล้วผมจะรู้ได้อย่างไร ว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ และถ้าผมไม่ได้เอานิ้วไปวางบนชีพจรขององค์กร ผมก็ไม่สามารถนำพาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ซึ่งเคสนี้ Harvard Business Review เคยวิเคราะห์ไว้ว่า
การที่คุณ Cees 't Hart เลือกทำแบบนั้น เพราะเขาต้องการหลีกเลี่ยงจากความเสี่ยงที่ว่า ยิ่งคนเราเป็นผู้นำในตำแหน่งที่สูงมากขึ้น เรายิ่งมีความเสี่ยงของการมีอีโกที่สูงขึ้น
และยิ่งอีโกสูงขึ้นเรื่อย ๆ มันจะทำให้เกิดฟองสบู่มากั้นเราไว้จากบุคคลอื่น ๆ จนทำให้ตัวเราเองต้องสูญเสียปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างไปในที่สุด
ประเด็นสำคัญคือ ถ้าเราอยู่ในฐานะผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นในระดับครอบครัว ระดับองค์กร หรือแม้แต่ระดับประเทศ ลองนึกภาพว่า การที่เราเป็นคนที่มีอีโกสูงเกินไป สิ่งนี้อาจทำลายพฤติกรรมด้านบวกของคนคนนั้น จนอาจทำให้กลายเป็นคนก้าวร้าว มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น
ซึ่งอีโกที่สูงมากเกินพอดี จนทำให้เราไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นหรือเปิดใจรับฟังคนในครอบครัว คนในบริษัท หรือคนในประเทศ ลองนึกภาพว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบตามมาแก่ตนเองมากแค่ไหน
ไม่ใช่ว่าการมีอีโกสูง ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับการเป็นผู้นำ
เพราะความมั่นใจสูง เป็นคุณสมบัติที่ดีอย่างหนึ่งของผู้นำ
แต่ถ้ามีอีโกสูงเกินไปจนไม่ฟังใคร ไม่เชื่อสิ่งที่ขัดจากความคิดตัวเองเลย แบบนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไรนัก
ดังนั้น มันคงจะดีขึ้น หากคนที่มีอีโกสูง สามารถก้าวถอยหลังไปสักก้าว ลดความเป็นตัวตน ไม่ยึดติดกับอุดมการณ์และความเชื่อ พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นและการกระทำของคนที่เห็นต่างออกไป
มันอาจไม่เพียงแต่ช่วยให้ตัวเขาสามารถหาทางแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น
แต่ยังอาจทำให้สามารถค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ที่ดี ที่เกิดจากความเห็นที่แตกต่างของคนอื่น ก็เป็นได้..
References:
-https://hbr.org/2018/11/ego-is-the-enemy-of-good-leadership?utm_medium=social&utm_campaign=hbr&utm_source=facebook&tpcc=orgsocial_edit&fbclid=IwAR3TxNlKUh_QcK5uLus2I7ZRGqrDi8X8R02WztGz57Gen5cn_eJ_7MdSTQk
-https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27740
-https://en.wikipedia.org/wiki/Carlsberg_Group
-https://www.brainyquote.com/quotes/robin_s_sharma_628769
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.