3 เทคนิค ขี้เกียจอย่างไร ให้ได้งาน

3 เทคนิค ขี้เกียจอย่างไร ให้ได้งาน

19 ก.ค. 2021
3 เทคนิค ขี้เกียจอย่างไร ให้ได้งาน | THE BRIEFCASE
หลายคนบอกว่า ถ้าอยากทำงานได้ดี ทำงานมีประสิทธิภาพ เราต้อง “ไม่ขี้เกียจ”
แต่จริง ๆ แล้ว ความขี้เกียจ.. มันจะมีแต่ข้อเสียจริง ๆ หรือ ?
ถ้าลองสังเกตดี ๆ สินค้าและบริการรอบตัวเราในวันนี้ มีหลายอย่างที่เกิดขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ความขี้เกียจของเราและคนอีกจำนวนมากในสังคม
ที่เห็นชัด ๆ ก็เช่น บริการฟูดดิลิเวอรี ที่มีขึ้นมาตอบโจทย์คนที่ขี้เกียจออกไปซื้ออาหาร หรือออกไปทานอาหารข้างนอกบ้าน
ในเมื่อความขี้เกียจของเรา กลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ หรือบริการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจได้มากมาย
แล้วทำไมความขี้เกียจของเรา จะกลายมาเป็นแรงกระตุ้นให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ได้บ้างล่ะ ?
ลองมาดู 3 เทคนิคง่าย ๆ ว่าเราจะขี้เกียจอย่างไร ให้ได้งานกันบ้าง ?
1. ขี้เกียจทำงานทั้งวัน ให้ลองหา “Prime Time”
ในหนึ่งวัน เราทำงานเฉลี่ยประมาณ 8 ชั่วโมง ซึ่งหลายคนคงบอกว่า ใครจะไปตั้งใจทำงานได้อย่างเต็มที่ทั้ง 8 ชั่วโมง เพราะเต็มที่ 2-3 ชั่วโมง เราก็เหนื่อยและหมดพลังแล้ว
ถ้าใครที่ขี้เกียจทำงานทั้งวันแบบนี้ ก็มีวิธีแก้คือ ให้ลองหาช่วงเวลาที่เรารู้สึกกระปรี้กระเปร่า และมีพลังในการโฟกัสกับงานมากที่สุด หรือที่เรียกว่า “Prime Time” กันดู
Prime Time ของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน บางคนมีพลังตอนเช้าตรู่ ตี 5 ถึง 8 โมงเช้า บางคนมีพลังตอนบ่าย ช่วงบ่ายโมงถึงบ่ายสามโมง หรือบางคนมีพลังทำงานตอนกลางคืน
พอรู้ Prime Time ของตัวเองแล้ว ก็ให้เอางานยาก ๆ หรืองานสำคัญที่ต้องใช้พลังในการโฟกัสมาก ๆ มาทำในช่วงเวลานี้ รู้ตัวอีกที เราอาจทำงานของวันนั้นเสร็จหมดแล้วภายในช่วงเวลานี้ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ ยังมีข้อจำกัดตรงที่ว่า..
บางงานเราก็ไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาในการทำงานตรงนั้นด้วยตัวเราเองได้ นั่นเอง
2. ขี้เกียจทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ให้ลอง “ทำไป พักไป”
หลายคนน่าจะรู้จัก เทคนิคแบ่งเวลาทำงานแบบ “Pomodoro” โดยวิธีการของเทคนิคนี้ คือให้จับเวลา แล้วทำงานนั้นอย่างมีสมาธิโดยไม่หยุดเลย 25 นาที แล้วจึงหยุดพัก 5 นาที นี่คือ 1 Pomodoro เมื่อทำครบ 4 Pomodoro ก็ให้พักประมาณ 15-30 นาที แล้วจึงทำงานนั้นต่อ
พูดง่าย ๆ คือเราจะมีเวลาพักบ้างขณะทำงาน ไม่ลากยาวจนเหนื่อยล้าเกินไป ซึ่งก็น่าจะมาตอบโจทย์ คนที่ขี้เกียจทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานได้
ซึ่งเทคนิคนี้ก็มีข้อจำกัดตรงที่ บางงานอาจต้องอาศัยการทำงานหรือการโฟกัสเป็นเวลานาน
แต่อย่างไรก็ตาม เราก็สามารถปรับช่วงเวลาหยุดพัก ให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับงานนั้น ๆ ได้เช่นกัน
3. ขี้เกียจทำงานที่มีกระบวนการเดิมซ้ำ ๆ ให้ลอง “คิดเครื่องมือ” มาทำแทนเรา
เรื่องนี้จะพบเจอบ่อยในลักษณะงานที่ต้อง “ทำซ้ำ ๆ ทุกวัน” จนเราเบื่อและขี้เกียจที่จะทำมัน
ยกตัวอย่างเช่น การเช็กตัวเลขข้อมูลรายวัน ระหว่าง 2 ชุดข้อมูล ว่าตรงกันทุกรายหรือไม่ การมานั่งเทียบด้วยนิ้วมือและสายตา อาจทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ง่าย ๆ
วิธีแก้ก็คือการ “คิดเครื่องมือ” ที่ช่วยเราตรวจเช็กความถูกต้องนั้น แทนตัวเราเช็กเอง
เช่น ในโปรแกรม Microsoft Excel ลองสร้างกระดานตรวจสอบ ที่ผูกสูตรที่ใช้ในตรวจสอบ ว่าข้อมูลทั้ง 2 ชุดมีความแตกต่างกันจุดไหนหรือไม่ เอาไว้ในกระดานนั้น
ทีนี้หน้าที่เราก็เหลือเพียงแค่จับข้อมูล 2 ชุดยัดลงไปในกระดานตรวจสอบ แค่นี้เราก็รู้ผลแล้วว่าข้อมูล 2 ชุดนี้ตรงกันหมดหรือไม่ ไม่ต้องมานั่งไล่ตรวจสอบทีละรายการ ซ้ำ ๆ แบบนี้ในทุก ๆ วัน
สรุปแล้ว ถ้าเราเกิดความขี้เกียจขึ้นมา แต่เรามีมุมมองที่อยากจะเอาชนะความขี้เกียจเหล่านั้นให้ได้
ความขี้เกียจของเรา ก็จะกลายเป็นแรงผลักดัน ให้เราหาวิธีทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้เช่นกัน
แต่ถ้าหากเราขี้เกียจ แล้วไม่ทำการทำงานอะไรเลย
แบบนี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน..
Reference
-https://francescocirillo.com/pages/pomodoro-technique
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.