รู้จัก วิกฤติวัยกลางคน ที่เกิดจาก ความผิดหวังในตัวเอง

รู้จัก วิกฤติวัยกลางคน ที่เกิดจาก ความผิดหวังในตัวเอง

23 ก.ค. 2021
รู้จัก วิกฤติวัยกลางคน ที่เกิดจาก ความผิดหวังในตัวเอง | THE BRIEFCASE
หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า Middle-life Crisis หรือ “วิกฤติวัยกลางคน” ซึ่งเป็นโมเมนต์หนึ่งในชีวิต ของคนที่มีอายุระหว่าง 45-65 ปี
วิกฤตินี้ เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา ซึ่งถูกอธิบายโดยคุณ Elliott Jaques นักจิตวิทยา นักวิทยาศาสตร์ด้านสังคม และที่ปรึกษาด้านการจัดการ ชาวแคนาดา ในปี 1965
รู้หรือไม่ว่า สาเหตุของการเกิดวิกฤติวัยกลางคน มาจากการกลัวความตาย และรู้สึกว่าชีวิตยังขาดอะไรอยู่..
เขาได้อธิบายว่า วิกฤติวัยกลางคน มาจากการที่เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวเขาจะเริ่มตระหนักเกี่ยวกับความตาย รวมทั้งมีการตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้นว่าชีวิตยังขาดอะไรอยู่ ทำให้คนคนนั้นเกิดความเครียด และไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต
วิกฤติดังกล่าว มักจะพบในคนที่มีอายุตั้งแต่ 45-65 ปี แต่บางกรณีก็อาจพบเจอได้ในคนอายุน้อย เช่น อายุเพียง 20 ปีต้น ๆ ก็พบได้เหมือนกัน
ที่เป็นแบบนี้ เนื่องจากแต่ละคนจะมีวิถีการใช้ชีวิต และประสบการณ์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละคนอาจเจอช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติแตกต่างกัน
โดยปรากฏการณ์นี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่จากการศึกษาพบว่า ผู้ชายจะเป็นผู้ที่อยู่ในช่วงวิกฤตินี้นานกว่าผู้หญิง
ซึ่งเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ Dan Jones หัวหน้าและที่ปรึกษาภาควิชาจิตวิทยาจากสถาบันจิตวิทยาแห่ง Appalachian State University เคยกล่าวไว้ว่า ผู้ชายมักเป็นเพศที่ถูกคาดหวังเกี่ยวกับความสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงาน มากกว่าผู้หญิง จึงทำให้โอกาสเกิดช่วงวิกฤติวัยกลางคนยาวนานกว่า
ทั้งนี้ มีต้นเหตุมากมายที่ทำให้คนเรารู้สึกเครียดเพราะความคาดหวัง และพบกับวิกฤติวัยกลางคน เช่น
- ความกดดันจากสภาพสังคม ทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตที่ตั้งเอาไว้
- ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก หรือแม้แต่การสูญเสียคนรัก
- ความเสื่อมถอยของสุขภาพและร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น
- การสูญเสียคนที่ใกล้ชิด คนในครอบครัว
- ตระหนักถึงเวลาชีวิต ที่คิดไปเองว่าเหลืออยู่อีกไม่มาก
นอกจากสาเหตุที่ว่ามานี้แล้ว ก็อาจเกิดจากปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เพียงแต่เรากลับปล่อยสิ่งแวดล้อมบางอย่างมาครอบงำพฤติกรรม รวมทั้งจิตใจเรามากเกินไป อย่างเช่น การใช้เวลาบนโลกโซเชียลมีเดียนาน ๆ
แล้วโลกโซเชียลมีเดีย มีผลต่อวิกฤติวัยกลางคนอย่างไร ?
กรมสุขภาพจิตของไทยเคยออกมาระบุว่า โซเชียลมีเดีย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนป่วยเป็น โรคซึมเศร้า มากขึ้น
เนื่องจากมนุษย์มีพฤติกรรมตามธรรมชาตินั่นคือ การเปรียบเทียบทางสังคม หรือ Social Comparison ซึ่งเป็นความต้องการที่จะเป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น แต่เมื่อไม่ได้รู้สึกเป็นที่ยอมรับ จึงเกิดอาการของโรคซึมเศร้าตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่วิกฤติวัยกลางคนได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนเราโพสต์ข้อความหรือรูป ซึ่งในเวลาต่อมา กลับมีคนมาคอมเมนต์ภาพหรือข้อความดังกล่าวในแง่ลบ จนทำให้คนที่โพสต์ เมื่ออ่านแล้วกลับรู้สึกไม่สบายใจ
ถ้าตัวเขาเจอเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้งเข้า ก็อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า จนนำไปสู่วิกฤติวัยกลางคนได้
หรือเมื่อเข้าไปเล่นโซเชียลมีเดียแล้ว เห็นชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่โชว์แต่ด้านดีให้คนอื่นเข้ามาชื่นชม คนที่เข้าไปรับข้อมูลเหล่านี้มาก ๆ ก็อาจรู้สึกว่า ทำไมชีวิตตัวเองไม่ดีเท่าหรือประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่นบ้าง
เรื่องนี้ก็อาจนำไปสู่การเปรียบเทียบตัวเอง และก็อาจทำให้ตัวเองรู้สึกหดหู่ จนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า จนนำไปสู่วิกฤติวัยกลางคนได้เช่นกัน
แล้วเราจะรับมือกับ วิกฤติวัยกลางคน ได้อย่างไร ?
สิ่งสำคัญในการรับมือกับวิกฤติวัยกลางคนก็คือ
การย้อนกลับไปทบทวนว่าในอดีตนั้น สิ่งใดที่ทำให้ตัวเรามาสู่จุดนี้ เพื่อที่ตัวเราจะได้แก้ไขกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในวันนี้ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีกในอนาคต
รวมไปถึงการทำความเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงของทุกอย่างในโลกนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตทุกประเภทต้องเจอ พูดง่าย ๆ ว่าลดความคาดหวังต่อสิ่งต่าง ๆ แล้วเปิดใจยอมรับความจริง นั่นเอง
นอกจากนี้ หากเราพยายามทบทวนตัวเองว่า บางครั้งชีวิตเราอาจไม่จำเป็นต้องมีอะไรเยอะมากมาย เหมือนกับที่เราเห็นจากคนอื่น โดยเฉพาะจากโลกโซเชียลมีเดีย
รวมไปถึงการพยายาม Focus ในสิ่งที่เรามีมากกว่าสิ่งที่เราขาด
ก็จะช่วยให้เราเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ ลดความคาดหวังทะเยอทะยาน และรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าขึ้นมาได้
จริงอยู่ที่บางคนอาจทำให้เรารู้สึกไม่ดี หรือไม่มีความสุขได้ในบางครั้ง
แต่ที่สุดแล้ว เราจะมีความสุขและจะสนุกกับชีวิต หรือจะจมอยู่กับความรู้สึกขาดอะไรไป
เราเท่านั้น ที่จะเป็นคนกำหนด..
References:
-https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30184
-https://www.voathai.com/a/mid-life-crisis-ct/5154431.html
-https://en.wikipedia.org/wiki/Midlife_crisis
-https://en.wikipedia.org/wiki/Elliott_Jaques
-www.ops.moe.go.th/ops2017/สาระน่ารู้/3154-วิกฤติวัยกลางคน-สาเหตุเสียคนตอนแก่
-https://www.youtube.com/watch?v=wA1d0VnnnUY
-https://www.youtube.com/watch?v=llKPZXT-wEs
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.