กรณีศึกษา การลงทุนที่ผิดพลาด ของ เซอร์ไอแซก นิวตัน

กรณีศึกษา การลงทุนที่ผิดพลาด ของ เซอร์ไอแซก นิวตัน

24 ก.ค. 2021
กรณีศึกษา การลงทุนที่ผิดพลาด ของ เซอร์ไอแซก นิวตัน | THE BRIEFCASE
หลาย ๆ คนคงรู้จัก เซอร์ไอแซก นิวตัน ในฐานะนักฟิสิกส์ชื่อดังผู้ค้นพบกฎแรง​โน้มถ่วงของโลก และผู้ร่วมพัฒนาหลักแคลคูลัส ที่ถือเป็นความรู้สำคัญในวิชาคณิตศาสตร์
แต่ถ้าพูดถึงในแง่ของการเป็น “นักลงทุน” ต้องบอกว่า เซอร์ไอแซก นิวตัน นั้นไม่ประสบความสำเร็จในด้านนี้เอาเท่าไรเลย
ทำไม เซอร์ไอแซก นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ถึงเป็นนักลงทุนที่ล้มเหลว วันนี้เราจะไปหาคำตอบกัน..
ถ้าถามว่า หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในช่วงศตวรรษที่ 17 ต้องมีชื่อของเซอร์ไอแซก นิวตัน รวมอยู่ด้วย
โดยนิวตันนั้น เกิดในปี 1642 ที่ประเทศอังกฤษ
ในวัยเด็กนิวตัน เข้าเรียนที่ The King's School เมือง Grantham
ด้วยผลการเรียนที่ดี ทำให้ต่อมาเขาได้เข้าไปเรียนที่ Trinity College ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งการเข้ามาเรียนที่นี่ ทำให้ในเวลาต่อมาเขาสามารถต่อยอดความรู้ที่มีจนนำไปพัฒนาวิชาแคลคูลัส รวมไปถึงการค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงของโลก
เขาได้รับการยกย่องจากนักปราชญ์และสมาชิกสมาคมต่าง ๆ ของอังกฤษในสมัยนั้นอย่างมาก ว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่ฉลาดหลักแหลมในยุคนั้น
หลังเรียนจบ นิวตันได้ออกมาทำงาน เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภา รวมไปถึงผู้ดูแลโรงผลิตเหรียญกษาปณ์ของรัฐบาลอังกฤษ
ผลจากการทำงาน ทำให้เขาเริ่มมีเงินเก็บ และหนึ่งในที่ที่เขาต้องการนำเงินไปต่อยอด ก็คือตลาดหุ้น ซึ่งตอนนั้นเปรียบเสมือนสถานที่ที่สร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนได้อย่างงดงาม
และหนึ่งในการลงทุนที่สร้างความบอบช้ำให้แก่นิวตันก็คือ การลงทุนในหุ้นของ บริษัท South Sea Company
ในปี 1711 รัฐบาลอังกฤษได้ตั้งบริษัท South Sea Company ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาล ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการทำสงครามกับสเปนในช่วงนั้น
โดยบริษัท South Sea Company จะออกหุ้นมา โดยมีมูลค่าเท่ากับจำนวนหนี้สินของรัฐบาลทั้งหมด โดยหุ้นจำนวนดังกล่าว จะนำไปให้แก่เจ้าหนี้เพื่อแลกกับภาระหนี้ที่กู้มา
ซึ่งเจ้าหนี้จำนวนมากเห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะถ้าเขายังถือพันธบัตรต่อไป ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะสามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ไหม ถ้าเปรียบกับสมัยนี้ก็คล้าย ๆ กับกระบวนการ การแปลงหนี้เป็นทุนนั่นเอง
โดยรัฐบาลอังกฤษให้ข้อเสนอจูงใจแก่ผู้ที่มาถือหุ้น ด้วยการจ่ายผลตอบแทนหรือเงินปันผลปีละประมาณ 6% หลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ขณะที่ยังมอบสัมปทานผูกขาดในการค้าขายสินค้าภายในอาณานิคมในอเมริกาใต้ ให้แก่ South Sea Company อีกด้วย
แผนการนี้ ทำท่าจะไปได้ดี เพราะรัฐบาลโอนภาระหนี้ไปให้แก่บริษัท South Sea Company ขณะที่ผู้ถือหุ้นก็ได้การันตีเงินปันผลทุกปี และถ้าเกิดบริษัทไปได้ดีก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นในอนาคต
แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจของ South Sea Company นั้นจะไม่ได้เติบโตอย่างที่คาดไว้แต่แรก
ทั้งนี้เพราะสินค้าที่บริษัทค้าขายนั้นไม่ได้มากมายอย่างที่คิด มีเพียงแค่การค้าทาสเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ทำกำไรเท่าไร
รวมไปถึงผลกระทบจากสงครามที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ในทวีปอเมริกาใต้ ก็ทำให้ธุรกิจของบริษัทนั้นหยุดชะงักด้วย จึงส่งผลให้แท้จริงแล้วผลประกอบการบริษัทแห่งนี้ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คาดไว้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ราคาหุ้นของบริษัท South Sea Company พุ่งสูงขึ้นนั้น เกิดจากการที่บริษัทออกมาโปรโมตว่า “ธุรกิจของบริษัทจะเติบโตพร้อมกับการยังมีตลาดการค้าใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ”
เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ราคาหุ้น บริษัท South Sea Company เพิ่มขึ้นจาก 128 ปอนด์ในเดือนมกราคม ปี 1720 พุ่งไปถึง 1,050 ปอนด์ในเดือนกันยายน ปีเดียวกันนี้
การปรับของราคาหุ้น ยิ่งดึงดูดให้มีนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นตัวนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ บางคนนำเงินเก็บออมทั้งหมดที่มีมาลงทุน บางคนไปกู้ยืมธนาคารเพื่อมาลงทุน
โดยทุกคน ณ เวลานั้นตั้งแต่ชาวนาจนถึงชนชั้นสูงของอังกฤษ ต่างมีจุดหมายเดียวกันคือ ต้องการรวยจากการซื้อหุ้นตัวนี้ ไม่เว้นแม้แต่นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เซอร์ไอแซก นิวตัน
ที่น่าสนใจคือ จุดที่ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นไปจุดสูงสุด ส่งผลให้มูลค่าของบริษัท ณ เวลาหนึ่งนั้น เคยสูงกว่า มูลค่าที่ดินทั้งหมดในอังกฤษรวมกัน ถึง 2 เท่า เลยทีเดียว
แต่ ณ เวลานั้น คนส่วนใหญ่แทบไม่สนใจเรื่องนี้ ในเมื่อทุกคนที่เข้ามาร่วมงานนี้ต่างทำกำไรกันถ้วนหน้า
สำหรับนิวตันเองนั้น ช่วงแรกที่ราคาหุ้นเริ่มปรับขึ้น เขาได้ขายหุ้นทำกำไรไปได้พอสมควร
ก่อนตัดสินใจกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้งหลายเดือนต่อมา ในราคาทุนที่สูงกว่าเดิมมาก และครั้งนี้เขาใส่เงินเกือบทั้งหมดที่เขามี
อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกันนี้ คนจำนวนมากที่ไปกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้น ถึงเวลาต้องจ่ายคืนเงิน แน่นอนว่าก็ต้องขายหุ้นออกมาจ่าย
ประกอบกับในช่วงนั้น ยังเกิดวิกฤติฟองสบู่ในยุโรป อย่างวิกฤติ Mississippi ในปี 1720 ที่ประชาชนในฝรั่งเศสขาดความเชื่อมั่นในธนบัตรของฝรั่งเศสที่ถูกพิมพ์ออกมาเกินกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่วางไว้
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลกับการถือหุ้น บริษัท South Sea Company จึงทำให้หลายคนตัดสินใจขายหุ้นออกมา
ทำให้ราคาหุ้นเริ่มดิ่งลดลงอย่างรวดเร็ว จนเหลือเพียง 100 ปอนด์ ในปีเดียวกันนี้ จนทำให้ฟองสบู่ราคาหุ้นนั้นแตกออก และสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ให้แก่นักลงทุนจำนวนมาก
แน่นอนว่ารวมถึง เซอร์ไอแซก นิวตัน ที่ขาดทุนจากการลงทุนในครั้งนี้จำนวนกว่า 140 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน ปรับด้วยเงินเฟ้อ)
เรื่องนี้ถึงขนาดทำให้นิวตัน เคยกล่าวประโยคคลาสสิก ประโยคหนึ่งว่า “ฉันสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวได้ แต่ไม่รวมถึงความบ้าคลั่งของมวลมนุษย์ได้”..
References:
-https://en.wikipedia.org/wiki/Isaac_Newton
https://www.businessinsider.com/isaac-newton-lost-a-fortune-on-englands-hottest-stock-2016-1
-https://www.reuters.com/article/us-england-finance-breakingviews-idUSKBN1YG2NH
-https://www.smithsonianmag.com/smart-news/market-crash-cost-newton-fortune-180961655/
-https://physicstoday.scitation.org/doi/10.1063/PT.3.4521
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.