6 ต้นตอ ที่ก่อให้เกิด วงจรลาออกจากงาน ที่ไม่จบสิ้น

6 ต้นตอ ที่ก่อให้เกิด วงจรลาออกจากงาน ที่ไม่จบสิ้น

2 ส.ค. 2021
6 ต้นตอ ที่ก่อให้เกิด วงจรลาออกจากงาน ที่ไม่จบสิ้น | THE BRIEFCASE
การลาออก ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิตการทำงานที่เรามักเห็นกันอยู่ทั่วไป ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีตำแหน่งเล็กไปจนถึงตำแหน่งใหญ่ในบริษัท
บางครั้ง การลาออก ก็เป็นการลาจากกันด้วยดี ระหว่างตัวพนักงานเองหรือบริษัท
แต่ก็มีหลายครั้งเช่นกันที่ การลาออกนั้น จะเป็นการจากลากันที่ไม่ค่อยดีนัก
ซึ่งก็มีทั้งออกไปแล้วไม่ได้ทำงานต่อ และออกไปเพื่อไปทำงานที่บริษัทอื่น
แล้วสาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานลาออกจากบริษัท เข้าสู่วงจรการลาออกจากงาน ที่ไม่จบสิ้นคืออะไร ?
1. หนีปัญหาเรื่องคนในบริษัท
พนักงานหลายคนรักงานที่ตนเองทำ เพราะมีรายได้ดี มีความถนัดกับงานที่ทำ
แต่หลายคนก็เลือกที่จะลาออก เพื่อไปทำงานแบบเดิมกับบริษัทใหม่ เพราะว่าตัวพนักงานเองมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน มีความขัดแย้งกับเจ้านาย หรือทะเลาะกับคนอื่น ๆ ในบริษัท
หลายคนที่เจอบรรยากาศแบบนี้นานเข้า จึงไม่มีความสุขในการทำงาน สุดท้าย พวกเขาจึงเลือกที่จะลาออกจากงานที่ทำ เพื่อหนีปัญหาเรื่องคนในบริษัท
2. ต้องการเงินเดือน และสวัสดิการที่ดีกว่าเดิม
ต้องยอมรับว่า “เงิน” กลายเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต
ถ้าพนักงานรู้สึกว่า เขาได้รับเงินเดือนน้อยกว่าปริมาณงานที่ได้รับ หรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนั้น จึงทำให้เขาเลือกที่จะลาออกเพื่อไปรับเงินที่ใหม่ที่ให้มากกว่าที่เก่า
หรือแม้แต่เรื่องของสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสุขภาพ การรักษาพยาบาล ประกันชีวิต วันหยุด การให้ทุนการศึกษา ค่าเดินทาง และค่าล่วงเวลา
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกไปทำงานที่อื่น หากพวกเขาได้รับข้อเสนอสวัสดิการที่ดีกว่าในที่ใหม่
3. ทำงานหนักเกินไป จนมีอาการหมดไฟในการทำงาน
ขณะที่หลายบริษัทต้องการคนทำงานได้หลายหน้าที่ (Multi-functions) หรือต้องการให้พนักงานสามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multitaskings)
ซึ่งทำให้พนักงานที่ทำงานหลายหน้าที่ หรือทำงานหลายอย่างพร้อมกัน นำไปสู่ภาวะที่มีงานมากเกินไป (Work Overload) ต้องทำงานล่วงเวลา ต้องกลับบ้านดึก ๆ ดื่น ๆ
ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป จึงทำให้พนักงานมีอาการหมดไฟ และต้องการลาออกไปหางานที่ไม่หนักจนเกินไป
4. ไม่มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน
Lack of Career Growth หรือ ขาดโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงาน เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานเลือกที่จะลาออก เพราะบางบริษัทก็ให้พนักงานทำงานไปเรื่อย ๆ โดยไม่ได้วางเป้าหมายการเติบโตในหน้าที่การงานไว้อย่างชัดเจน
เรื่องนี้ก็ส่งผลให้พนักงาน ทำงานไปโดยไม่มีเป้าหมาย เพราะไม่รู้ว่าหน้าที่การงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร
สุดท้ายจึงส่งผลให้พนักงานขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเอง ขาดการใฝ่หาความรู้เพิ่มประสบการณ์ทำงาน ซึ่งในระยะยาว เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อตัวพนักงานเอง แต่ยังรวมไปถึงบริษัทด้วย
5. ต้องการสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีกว่าเดิม
สภาพแวดล้อมและบรรยากาศในสถานที่ทำงานที่สะอาด ปลอดภัย เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่บริษัทต้องคำนึงถึง
เพราะแม้ว่าพนักงานจะได้ผลตอบแทนดี สวัสดิการที่เหมาะสม ได้ทำงานที่ชอบ
แต่ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีที่เสี่ยงมาก มีอันตรายสูง ไม่ปลอดภัย
จนส่งผลต่อชีวิตและสุขภาพของพนักงาน
ก็ไม่แปลกใจ หากพนักงานเลือกที่จะลาออกไปหาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีกว่า
6. ความต้องการส่วนตัวของพนักงาน
แม้ว่าบริษัทจะให้ผลตอบแทนดี มีการมอบโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงานที่ชัดเจน รวมไปถึงมีสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในการทำงานที่ดี
แต่สุดท้าย พนักงานเลือกที่จะลาออก เพราะความต้องการส่วนตัวก็ได้เช่นกัน
เช่น การไปเรียนต่อ การไปดูแลครอบครัว รวมไปถึง ปัญหาด้านสุขภาพของพนักงานเอง
มาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า การลาออกของพนักงานนั้น
มีทั้งปัจจัยที่บริษัทสามารถควบคุมได้ ขณะที่บางปัจจัยก็ไม่สามารถควบคุมได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ต้องพยายามค้นหาสาเหตุและหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีป้องกันเพื่อลดปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกิดมาจากบริษัทเอง
โดยบางบริษัท อาจใช้วิธี Exit Interview คือการสัมภาษณ์พนักงานที่กำลังจะลาออก เพื่อรับทราบเหตุผลของพนักงานที่ต้องการจะลาออก พร้อมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขต่อไป
นั่นก็เพราะว่า “การหาพนักงานใหม่” เพื่อมาแทนพนักงานที่ออกไป
บริษัทจะมีต้นทุนหลายอย่าง เช่น ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหาคน การต้องจัดสรรเวลามาสัมภาษณ์ รวมถึงการสูญเสียเวลาในการเรียนรู้ระบบการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรของพนักงานใหม่ ๆ
ขณะเดียวกัน ตัวพนักงานเอง ไม่ว่าสาเหตุของการลาออกจะเกิดมาจากเรื่องอะไร ก่อนที่จะตัดสินใจลาออก ก็ควรคิดให้รอบคอบ อย่าตัดสินใจโดยใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล
เพราะทุกการลาออกไม่ได้การันตีว่า เหตุการณ์หรือบุคคลที่เป็นสาเหตุของการลาออกครั้งนี้ จะไม่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนอีกครั้งในอนาคต
สุดท้ายแล้ว การลาออกจากบริษัทที่ดีที่สุด ควรเป็นการจากลากันด้วยดี นั่นเอง..
References:
-https://th.hrnote.asia/tips/th-190123-resignjobreason/
-https://th.jobsdb.com/th-th/articles/%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81/
-https://www.workstars.com/recognition-and-engagement-blog/2020/03/19/why-employees-quit-11-evidence-based-reasons/
-https://www.myempeo.com/blog/how-to-prevent-turnover/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.