เทคนิค ทำธุรกิจกับครอบครัว ให้ไม่มีปัญหา

เทคนิค ทำธุรกิจกับครอบครัว ให้ไม่มีปัญหา

5 ส.ค. 2021
เทคนิค ทำธุรกิจกับครอบครัว ให้ไม่มีปัญหา | THE BRIEFCASE
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เริ่มต้นมากับคนในครอบครัวนั้น บ่อยครั้งอาจเกิดปัญหา ที่เราไม่ได้พบเจอในการทำบริษัททั่ว ๆ ไป
เพราะคนในครอบครัวนั้น ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อนร่วมงานที่เราจะคุยหรือไม่คุยด้วยก็ได้ และคนในครอบครัวก็ไม่ใช่แค่เพียงพนักงานทั่วไปที่ทำผิดก็สามารถไล่ออกหรือตักเตือนได้ง่าย ๆ
แล้วเราจะสามารถแบ่งระหว่างงานและเรื่องส่วนตัวได้อย่างไร เมื่อคนในครอบครัว กับเพื่อนร่วมธุรกิจเป็นคนเดียวกัน ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง..
วิธีที่ 1 - สร้างขอบเขตหน้าที่ให้ชัดเจน
แน่นอนว่า เวลาทำงานกับคนในครอบครัว หลาย ๆ คนคงอดไม่ได้ที่จะเอาเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง แต่ถ้าให้ดีในเวลาที่ทำงานกันนั้น เราต้องรู้จักสร้างขอบเขตให้ชัดเจนว่า คนที่เป็นหัวหน้าเราหรือคนที่เป็นลูกน้องเรา ไม่ใช่คนในครอบครัว
ดังนั้น เราต้องกล้าที่จะพูด ตักเตือน ไม่ใช่ในฐานะ พ่อ แม่ น้า อา แต่เป็นในฐานะเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง เพราะอย่าลืมว่าการที่องค์กรจะพัฒนาได้ต้องมาจากการพูดคุยแบบตรงไปตรงมา เพราะการกลัวว่าจะทำร้ายจิตใจอีกฝ่ายหนึ่ง อาจเป็นการซ่อนเร้นปัญหา และสะสมไปเรื่อย ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว
วิธีที่ 2 - พยายามทำทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจกับใคร ไม่ว่าจะกับคู่ค้า กับเพื่อนสนิท หรือแม้แต่คนในครอบครัว สิ่งที่สำคัญที่จะต้องมีก็คือการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะหากทุกคนทำทุกอย่างด้วยสัญญาปากเปล่า หรือการรับปากทั่ว ๆ ไป การทำธุรกิจก็คงจะดูไม่มีความหมาย
ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นคนในครอบครัว ก็ควรระบุเป็นสัญญาลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนว่า ใครทำตำแหน่งอะไร มีหน้าที่อะไร ได้รับผลตอบแทนเท่าไร
ซึ่งผลดีของการทำเช่นนี้ จะเป็นเหมือนการสร้างข้อผูกมัดทางธุรกิจ มากกว่าการสร้างข้อผูกมัดในครอบครัวนั่นเอง
วิธีที่ 3 - อย่าพยายามควบคุมทุกอย่างเกินไป
พยายามอย่าคิดว่า เมื่อเราเป็นสมาชิกในครอบครัวเราจะมีสิทธิ์ในการควบคุมทุกอย่าง
ยิ่งถ้าเราเป็นคนที่มีประสบการณ์น้อยกว่า หรือเข้ามารับช่วงต่อ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะสามารถเข้ามาแทนที่หรือทำอะไรได้ตามใจทันที
หลายครอบครัวที่ธุรกิจประสบความสำเร็จก็มักให้ทายาทรุ่นต่อ ๆ ไป ตั้งต้นจากตำแหน่งเล็ก ๆ ง่าย ๆ ในบริษัทก่อน แล้วจึงค่อย ๆ หมุนเวียนสับเปลี่ยนตำแหน่งไป เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก่อนที่จะรับผิดชอบในหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น
วิธีที่ 4 - แต่งตั้งคนกลาง
แน่นอนว่าการทำงานร่วมกัน ต้องมีการถกเถียงกัน หรือไม่ยอมกันบ้าง ซึ่งทางออกที่ดีก็คือการแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากทั้งสองฝ่ายมาช่วย หรือมามีอำนาจในการตัดสิน หรือแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้คนคนนั้นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนในครอบครัวก็ได้ แต่อาจเป็นคนที่มีความสามารถที่รู้จักกันมานาน มีความสุขุมรอบคอบ น่าเชื่อถือ หรือแม้แต่ทนายความของครอบครัว
ซึ่งสิ่งที่สำคัญเลยคือ ทั้งสองฝ่ายต้องยินยอม และให้ความเด็ดขาดกับบุคคลนั้นเพื่อช่วยในการตัดสิน
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจกับครอบครัวที่ไม่ควรมองข้าม
แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าการทำธุรกิจกับครอบครัวนั้น เราจะเจอแต่เรื่องไม่ดีเสมอไป
เพราะอีกหนึ่งข้อดีของการทำธุรกิจครอบครัวก็คือ เวลาที่เราล้มหรือต้องเจอกับปัญหา คนที่จะอยู่คอยช่วยเหลือ และร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับเราก็คือคนในครอบครัวนั่นเอง..
References:
-http://sladelaw.com/8-essential-rules-for-going-into-business-with-family/#.YQJ0lVMzYUo
-https://www.inc.com/amrita-khalid/carols-daughter-siete-foods-lisa-price-migeul-garza-family-business.html
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.