ทำไมหลายโรงเรียนในไทย เลิกใช้ระบบที่มีแค่ "สายวิทย์-ศิลป์"

ทำไมหลายโรงเรียนในไทย เลิกใช้ระบบที่มีแค่ "สายวิทย์-ศิลป์"

20 ส.ค. 2021
ทำไมหลายโรงเรียนในไทย เลิกใช้ระบบที่มีแค่ "สายวิทย์-ศิลป์" | THE BRIEFCASE
ใครที่ผ่านชีวิตวัยมัธยมปลายมา ก็คงจะผ่านประสบการณ์การเลือกสายวิชาเรียนกันมาเป็นอย่างดี
สายวิทย์-คณิต สายศิลป์-คำนวณ หรือสายศิลป์-ภาษา ซึ่งก็กลายเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่าเด็กที่ไม่ได้ชอบแค่วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และไม่ได้ชอบแค่ภาษา ควรจะเลือกเรียนอะไร ?
และที่สำคัญแผนการเรียนที่ไม่มีความหลากหลาย ก็ยิ่งทำให้เด็กหลายคนหาเป้าหมายของตัวเองไม่เจอ
ซึ่งเป็นปัญหาต่อการตัดสินใจเลือกคณะ ในระดับมหาวิทยาลัย และอาชีพที่จะไปต่อในอนาคต
แต่ตอนนี้ก็มีหลายโรงเรียนในไทย ที่ปรับแผนการศึกษาใหม่ อย่างเช่น ใช้ระบบเลือกแผนการเรียนเหมือนเวลาเลือกวิชาเอกในมหาวิทยาลัย, เริ่มปรับขยายสายการเรียน เพื่อให้ครอบคลุมคณะยอดฮิต ระดับมหาวิทยาลัย
อะไรที่ทำให้หลายโรงเรียนต้องปรับแผนการเรียนการสอน
และการเรียนรูปแบบใหม่นี้ มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง..
หนึ่งในสาเหตุหลัก ที่ทำให้โรงเรียนเริ่มปรับแผนการเรียนการสอน นั่นก็คือ
ระบบ Admission ที่เป็นรูปแบบใหม่ ไม่ใช่แค่นั่งทำข้อสอบวิชาสามัญ
ระบบ Admission ที่เป็นรูปแบบใหม่นี้ เรียกว่า TCAS ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีการคัดเลือกทั้งหมด 5 รูปแบบ ซึ่งหนึ่งในวิธีการสอบคัดเลือกก็คือการใช้ Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) เพื่อยื่นเข้าคณะที่ตัวเองต้องการ โดยจะไม่มีการสอบข้อเขียน จากนั้นอาจจะมีการสอบสัมภาษณ์หรือสอบทักษะเฉพาะทางอีกทีหนึ่ง
ซึ่ง TCAS นี้ ทำให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ต่างต้องปรับแผนการเรียนใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้ามหาวิทยาลัย โดยจะต้องมีผลงานที่ตรงกับสายการเรียน ซึ่งถ้าเรียนแค่วิทย์ คณิต และภาษา ในรูปแบบเดิม ๆ ถ้านักเรียนอยากเข้าคณะที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ พวกเขาจะเอาผลงานที่ไหนมายื่นเข้ามหาวิทยาลัย ?
และอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญก็คือ ที่ผ่านมามีเด็กจำนวนไม่น้อย ที่เลือกเรียนผิดคณะ เพราะไม่รู้ว่าสาขาที่เข้าไปเรียน เรียนเกี่ยวกับอะไร พอเรียนแล้วไม่ชอบ ไม่ถนัด ทำให้ต้องซิ่ว (เรียนใหม่) หรือบางคนก็ต้องฝืนใจเรียนต่อ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็ก ๆ ไม่น้อย
ซึ่งถ้าเด็กนักเรียนจบไปอย่างไม่มีคุณภาพ ยังค้นหาตัวเองไม่ได้ โรงเรียนก็จะถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ
และนี่เองจึงเป็นสาเหตุให้หลายโรงเรียนเริ่มปรับตัว เพื่อให้นักเรียนได้ค้นพบตัวเอง และได้เลือกเรียนในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุดในระดับมหาวิทยาลัย
มาดูตัวอย่างโรงเรียนในไทย ที่ปรับหลักสูตรใหม่ ว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ?
- โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ทางโรงเรียนใช้ระบบเหมือนกับตอนที่เลือกคณะในมหาวิทยาลัย
โดยจะมีให้เลือกทั้งหมด 15 สายการเรียน
เช่น วิศวกรรมการบินและอวกาศ
บริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ บัญชี
นิเทศศาสตร์ ภาพยนตร์ และสื่อดิจิทัล
วิทยาศาสตร์การกีฬา
โดยหลักสูตรจะยังคงมีวิชาพื้นฐานให้เรียนครบหน่วยกิตตามที่กระทรวงกำหนด แต่ใส่วิชาเพิ่มเติม ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสายนั้น และลดทอนวิชาที่ไม่จำเป็นลง เช่น ลดสัดส่วนวิชาชีวะในสายวิศวะ หรือลดทอนวิชาเคมีในสายสถาปัตย์
- โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม)
โดยทางโรงเรียนก็ได้ปรับแผนการสอน โดยการแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่
คือ กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มศิลปกรรมศาสตร์ กลุ่มมนุษยศาสตร์ โดยมีวิชาเอกมากถึง 28 เอก
เช่น เอกอาหารการโรงแรมและภาษาเพื่อการสื่อสาร
เอกดิจิทัล มีเดีย อาร์ต
เอกแอนิเมชัน
เอกพลศึกษาและภาษาเพื่อการสื่อสาร
แล้วจากเรื่องนี้มีประเด็นอะไร ที่น่าสนใจบ้าง ?
1. หากอยากให้ระบบการศึกษาไทยยังสำคัญ ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์โลก
โลกนี้มีอาชีพที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง AI นักการตลาด นักวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ ไม่ได้มีเพียงแค่แพทย์ วิศวกร ล่าม เท่านั้น ที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ประสบความสำเร็จ
หากโรงเรียนไม่ปรับตัวให้ทันโลก ผู้ปกครองและนักเรียนก็คงไม่เห็นความสำคัญของโรงเรียนอีกต่อไป
ซึ่งถ้ามีจำนวนคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะส่งผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
2. ครูคือคนสำคัญที่ต้องปรับทั้งหลักสูตร ปรับทั้ง Mindset
ครูยุคใหม่จะต้องเชื่อก่อนว่า เด็กแต่ละคนมีความถนัดและศักยภาพที่แตกต่างกัน
การใช้เกณฑ์เดียวในการประเมินความสามารถของเด็กในรูปแบบเดิม ๆ อาจไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว
นั่นแปลว่า ครูจะต้องทำการบ้านหนักขึ้น ต้องสังเกตนักเรียนเป็นรายบุคคล ถึงจะให้คำแนะนำพวกเขาได้ว่า ควรเริ่มต้นค้นหาตัวเองอย่างไร และให้ข้อมูลที่ถูกต้องได้
3. ครูจะเต็มที่กับการสอน นักเรียนจะเต็มที่กับการเรียน
เมื่อเด็ก ๆ ที่มีความถนัดและความมุ่งมั่นที่เหมือนกันมาอยู่ห้องเดียวกัน ครูก็จะได้เต็มที่กับการให้ความรู้ ไม่ต้องกังวลว่าเด็กบางคนจะตามทันเพื่อนหรือไม่
เช่น หากเป็นห้องเรียนของหมอ ครูก็จะสามารถสอนวิชาชีวะได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องสอนให้ช้าหรืออธิบายบางเรื่องอย่างละเอียด และผู้เรียนก็จะมีเวลาได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ อีกมากมาย
และเมื่อโรงเรียนสนับสนุนนักเรียนให้เก่งในแบบของตัวเองได้ พวกเขาก็จะไปได้ไกลกว่าเดิม ทั้งคณะที่อยากเรียนและอาชีพที่อยากทำ
ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นหลักสูตรไทย ที่เริ่มยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น เหมือนกับประเทศอื่น ๆ และเราก็คงจะได้เห็นเด็กไทยมีความสุขกับการเรียน มากขึ้นเช่นกัน..
References:
-https://www.parentsone.com/potisarnpittayakorn-school-change-curriculum/
-https://thepotential.org/creative-learning/tracking-bangkok-christian/
-https://www.spsm.ac.th/history.html
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.