ดาบสองคม ของการเป็น คนรักความสมบูรณ์แบบ

ดาบสองคม ของการเป็น คนรักความสมบูรณ์แบบ

24 ส.ค. 2021
ดาบสองคม ของการเป็น คนรักความสมบูรณ์แบบ | THE BRIEFCASE
หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า “Perfectionist” ซึ่งเป็นคำที่ใช้แทนคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน หรือชีวิตส่วนตัว
แน่นอนว่าในแง่ของการทำงานนั้น ความเรียบร้อย สมบูรณ์แบบ ความใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จะทำให้งานออกมาดี แต่ถ้าคนคนหนึ่งมีความเป็น Perfectionist มากเกินไป ก็ย่อมส่งผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้างได้เช่นกัน..
Perfectionist หรือ “คนรักความสมบูรณ์แบบ คือคนที่ไม่ว่าทำอะไรแล้วต้องมีความรู้สึกว่า ทุกอย่างที่กำลังทำนั้น ต้องออกมาแล้วมีความสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ ห้ามมีข้อผิดพลาดใด ๆ เลยแม้แต่น้อย
ในทางจิตวิทยานั้น บอกว่า ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การได้รับคำชมในวัยเด็กมากจนเกินไป
ถ้าตัวเราในสมัยเด็กได้รับคำชมมากจนเกินไป อาจทำให้ตัวเราเกิดความฝังใจ และเชื่อว่าตนเองนั้นเก่งจริง มีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก ดังนั้น พอยิ่งโตขึ้น เวลาที่เจออะไรที่ยากและท้าทายมากขึ้น จึงต้องการทำทุกอย่างออกมาให้ได้ดีที่สุด
- การได้รับความคาดหวังจากครอบครัวมากจนเกินไป
สมัยนี้หลายครอบครัวมักตั้งความหวังกับลูกตัวเองไว้สูง พ่อแม่หลายคนอยากเห็นลูกประสบความสำเร็จ
ซึ่งบางครั้งทำให้เด็กได้รับความคาดหวังจากครอบครัวมากจนเกินไป ทำให้เขาพยายามทำทุกอย่างออกมาให้สมบูรณ์แบบอย่างที่ครอบครัวนั้นคาดหวัง
- เติบโตมาอย่างไม่ได้รับการเอาใจใส่
การที่คนเรารู้สึกขาดความเอาใจใส่ หรือแม้แต่ขาดความรักความอบอุ่น ก็อาจทำให้เราพยายามทำตัวให้สมบูรณ์แบบ เพื่อทำให้คนอื่นหันมาสนใจหรือเอาใจใส่ตนเองมากขึ้น
แล้วมีสัญญาณอะไรบ้าง ที่บอกว่าเราคือ Perfectionist ?
1. งานทุกอย่างที่ทำต้องพิถีพิถัน สมบูรณ์แบบ ไม่เกิดข้อผิดพลาด
2. ใช้เวลานานกับทุกงาน เพราะต้องการลงรายละเอียดให้มากที่สุด
3. ตั้งมาตรฐานส่วนตัวในการทำงานไว้สูงกว่าคนอื่น
4. งานที่ลงมือทำ ต้องเริ่มต้นให้ดีตั้งแต่แรก
5. กังวลเกี่ยวกับข้อผิดพลาดมากจนเกินไป
6. ชอบตั้งข้อสงสัยในคุณภาพของการกระทำของคนอื่น หรือไม่ไว้วางใจให้คนอื่นทำงาน
7. ชอบการทำงานตามคำสั่งหรือเป็นระบบ
8. บางครั้งอาจเป็นคนชอบผัดวันประกันพรุ่ง รอจนกว่าตนเองจะพร้อม เพราะต้องการให้งานออกมาเรียบร้อยถูกต้องที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในสังคมการทำงานนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายองค์กรมักมองหาคนที่มีลักษณะและบุคลิกที่มีความเป็น Perfectionism มาร่วมงาน
เพราะพวกเขามองว่า Perfectionist จะสามารถทำงานออกมาได้สมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ ไม่มีข้อผิดพลาด
ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีแก่องค์กร เช่น
- Perfectionist คือ คนที่ตั้งเป้าหมายในการทำงานไว้สูง งานทุกอย่างที่ทำมักทำด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทเพราะคนเหล่านั้น ต้องการให้ผลงานเป็นที่ยอมรับ
- Perfectionist สร้างนวัตกรรมชั้นยอดให้องค์กรได้
เพราะหนึ่งในบุคลิกที่สำคัญของ Perfectionist คือ การเป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียด ซึ่งหลายครั้ง จุดเด่นตรงนี้สามารถนำไปต่อยอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ เช่น
Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในคนที่ถูกจัดเป็น Perfectionist
เพราะเขาชอบความสมบูรณ์แบบ ลงรายละเอียด และต้องการทำทุกอย่างออกมาอย่างสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งต้องยอมรับว่า ด้วยบุคลิกดังกล่าว ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Apple ก้าวขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้
แม้ว่าคุณลักษณะบางอย่างของ Perfectionist นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่คนทำงานควรมีไว้
ไม่ว่าจะเป็นการเป็นคนที่ทำงานละเอียด รอบคอบ ทำให้งานออกมามีคุณภาพ ไม่มีข้อผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้นในการทำงาน
แต่ก็ต้องยอมรับว่า การเป็น Perfectionist มากจนเกินไป ก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน
เพราะการทำงานให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด อาจทำให้เรากดดันตัวเองหรือแม้แต่คนรอบข้าง จนนำไปสู่ความเครียดที่ส่งผลไปทั้งสุขภาพกายและจิตใจได้เช่นกัน
ซึ่งในทางจิตวิทยาถือว่า ภาวะ Perfectionism หรือ “ภาวะรักความสมบูรณ์แบบ” เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าหากมีมากจนเกินไป อาจทำให้คนคนนั้นเกิดโรคซึมเศร้า หรือแม้แต่ทำร้ายตัวเองได้
จากเรื่องนี้ น่าจะบอกได้ว่า การเป็น Perfectionist ไม่ใช่เรื่องของการถูก ผิด ดีหรือไม่ดี
แต่ต้องบอกว่า ถ้าเรากลายมาเป็น Perfectionist แล้วนั้น เราควรรู้จักที่จะนำจุดแข็งตรงนี้ออกมาใช้ในช่วงเวลาที่ถูกต้อง เหมาะสม
เพราะงานบางอย่างต้องการความละเอียด รอบคอบ ในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ บุคลิกของ Perfectionist ก็มีความจำเป็น
แต่งานบางอย่างเราสามารถหาคนมาทำแทนได้ โดยมอบหมายให้คนที่ไว้ใจมาทำแทน เพื่อที่ตัวเราจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญของการเป็น Perfectionist อีกเรื่องก็คือ “การเปิดใจและเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง”
พร้อมทั้งยอมรับว่า ไม่ว่าเราจะทำงาน เรียนหนังสือ หรือทำอะไรอยู่ก็ตาม ในชีวิตของคนเรานั้น ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบได้ 100%
ถ้ารอให้ทุกอย่างพร้อม เราอาจจะไม่ได้เริ่มต้นอะไร เลยก็ได้..
References:
-https://th.jobsdb.com/th-th/articles/perfectionismต่อองค์กร/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Perfectionism_(psychology)
-https://shortrecap.co/thinking/perfectionist/
-https://www.softbankthai.com/Article/Detail/21513
-https://www.gfmag.com/global-data/economic-data/largest-companies
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.