CEO คนใน กับ คนนอก มีข้อดีข้อเสีย ต่างกันอย่างไรบ้าง

CEO คนใน กับ คนนอก มีข้อดีข้อเสีย ต่างกันอย่างไรบ้าง

26 ส.ค. 2021
CEO คนใน กับ คนนอก มีข้อดีข้อเสีย ต่างกันอย่างไรบ้าง | THE BRIEFCASE
เคยสังเกตไหมว่า ทำไมบางบริษัทถึงเลือกแต่งตั้ง CEO จากคนภายใน หรือลูกหม้อที่ทำงานในบริษัทมาหลายสิบปี แต่บางบริษัทกลับเลือก CEO หน้าใหม่ ที่เป็นคนนอก หรือจากบริษัทอื่น ๆ มานั่งตำแหน่งนี้
แน่นอนว่า CEO ทั้งสองประเภทนั้น มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป
แล้วอะไรคือปัจจัยสำคัญ ในการเลือก CEO ของแต่ละบริษัท ?
เริ่มกันที่ CEO จากภายในก่อน
ลองมาดู ตัวอย่างข้อดีของ CEO ประเภทนี้
1. คนภายใน จะเข้าใจองค์กรดีที่สุด
สาเหตุแรก ๆ ที่ทำให้ทางคณะกรรมการบริษัท ตัดสินใจคัดเลือก CEO ในบริษัทเข้ามาบริหาร คือเขามีประสบการณ์และเข้าใจระบบวัฒนธรรมขององค์กรเป็นอย่างดี
เขามีความสนิทสนม และคุ้นเคยกับทีมบริหารหรือคนในองค์กร และรู้ว่าบริษัทต้องการที่จะเดินไปในทิศทางไหน ทำให้ง่ายต่อการเปลี่ยนผ่าน เมื่อต้องเข้ามารับตำแหน่ง
2. เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับคนในองค์กร
แน่นอนว่า พนักงานที่ทำงานในองค์กร ย่อมต้องหวังว่าเส้นทางอาชีพของแต่ละคน จะมีจุดหมายปลายทางที่ดีในอนาคต
ซึ่งการแต่งตั้ง CEO ที่มาจากคนในบริษัท จะเป็นการช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับพนักงานคนอื่น ๆ ให้พวกเขาเห็นว่า การทำงานที่นี่ก็มีโอกาสเติบโต และจูงใจให้พวกเขาอยากพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
ส่วนข้อเสียหลัก ๆ ของ CEO จากภายใน ก็คือ “ไม่ได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ”
เมื่อต้องอยู่ในที่เดิม ๆ ความสัมพันธ์เดิม ๆ หรือวัฒนธรรมเดิม
บางครั้งก็ทำให้ CEO หลายคนมองไม่เห็นปัญหา เพราะไม่เคยมองเข้ามาหรือรับรู้ภาพกว้าง จากมุมข้างนอก
รวมถึงไม่เคยได้เห็นว่าองค์กรอื่น มีรูปแบบการทำงานอย่างไร ถึงทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้
ทำให้หลายครั้ง CEO ภายใน จึงอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาเดิม ๆ ที่ผิดซ้ำ ๆ ของบริษัทได้
ลองมาดูทางฝั่ง CEO จากภายนอกกันบ้าง
ตัวอย่างข้อดีคือ
1. ช่วยเสริมมุมมองใหม่ ๆ ที่กว้างขึ้น ให้กับบริษัท
ผู้บริหารจากภายนอก มักมีประสบการณ์ในการบริหารที่อื่นมาก่อน และที่สำคัญ เขาจะเป็นหนึ่งในคนนอกที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวขององค์กร ในมุมมองของคนภายนอกมาก่อน
ซึ่งคนเหล่านี้ จะมีมุมมองที่สดใหม่ และอาจมองเห็นปัญหาบางอย่างได้ชัดเจนกว่าคนภายใน
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าบ่อยครั้งที่ผู้นำจากภายนอก จะสามารถนำเสนอทางออก หรือวิธีแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิม ให้กับบริษัทได้
2. จัดการกับปัญหาเรื้อรังบางอย่างได้
ด้วยความที่เป็นคนจากภายนอก ทำให้เขาไม่มีความเกี่ยวข้องหรือความสัมพันธ์กับคนในองค์กร
เรื่องนี้ทำให้สามารถจัดการกับ “บางปัญหา” ที่คนในอาจจะทำไม่ได้มาก่อน
หรือสามารถทำการเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่างได้ง่ายขึ้น ทั้งในเรื่องของทรัพยากรบุคคล หรืองบประมาณ ที่คนภายในอาจจะไม่กล้าตัดสินใจ
ส่วนข้อเสียของ CEO จากภายนอก
หนึ่งเรื่องที่มักพบบ่อยก็คือ “อาจมีต้นทุนที่สูง” โดยต้นทุนที่ว่านี้ รวมทั้งในเรื่องของค่าจ้างและเรื่องเวลา
โดยมีการวิจัยพบว่า CEO จากภายนอกนั้น มีค่าจ้างที่สูงกว่าภายในราว 18-20%
นอกจากนี้ การที่จะเปลี่ยนมาใช้ CEO จากภายนอก ทำให้องค์กรต้องใช้เวลานานในการปรับตัว เรียนรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม หรืออุตสาหกรรม ที่ทำอยู่ ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าคนในองค์กร
แล้วแบบนี้ เราควรเลือก CEO แบบไหนให้เหมาะกับองค์กร ?
ทั้งนี้ต้องมาดูสถานการณ์ขององค์กร ว่าเป็นแบบไหน และต้องการเสริมเพิ่มเติมอะไร
ตัวอย่างเช่น
ถ้าองค์กรของเรามีเสถียรภาพ มีรายได้ที่มั่นคง มีอนาคตที่ชัดเจน และมีเส้นทางการเดินที่แข็งแกร่ง
การจ้าง CEO จากภายใน อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากมีความรู้ความเข้าใจในตัวองค์กรเป็นอย่างดี และมั่นใจได้ว่าเขาจะสามารถรักษาชื่อเสียงขององค์กร ให้คงเดิมไว้ได้ต่อไป
อย่างเช่นในกรณีของ ธนาคารกสิกรไทย ที่ล่าสุดได้แต่งตั้งคุณขัตติยา อินทรวิชัย มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
คุณขัตติยา มีประสบการณ์ทำงานที่ ธนาคารกสิกรไทยมายาวนานกว่า 32 ปี ก่อนขึ้นรับตำแหน่ง โดยเริ่มต้นมาจากฝ่ายสินเชื่อ และมีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนมากว่า 9 หน่วยงาน จนขึ้นไปอยู่ระดับ CFO และกรรมการผู้จัดการบริษัท ก่อนจะขึ้นมาเป็นตำแหน่ง CEO ในเวลาต่อมา
แต่หากเราเป็นองค์กรที่ยังมีทิศทางที่ไม่แน่นอน หรือมีผลประกอบการที่แย่ลง ไม่เติบโต
การเลือก CEO ใหม่ ที่มาจากภายนอก อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจขึ้นมา
เนื่องจากเขาจะมีมุมมองใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยเหลือบริษัทได้ หรือแม้แต่สามารถที่จะทำการตัดสินใจที่เด็ดขาดในการปฏิรูปองค์กรไปในทิศทางที่ดีขึ้น
อย่างในกรณีของสายการบินญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง Japan Airlines ที่ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ก่อนทางรัฐบาลจะแต่งตั้งให้ คุณ Kazuo Inamori ผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์ เข้ามานั่งตำแหน่ง CEO
คุณ Kazuo Inamori เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการบริหารในองค์กร ตั้งแต่การแบ่งพรรคแบ่งพวกภายในองค์กร การวิเคราะห์รายได้ต้นทุนใหม่ จนสามารถทำให้ Japan Airlines กลับมามีกำไรอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่า แต่ละองค์กรนั้น มีความต้องการผู้นำลักษณะต่าง ๆ แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบริบทขององค์กรนั้น ๆ
และก็อย่าลืมว่า ในความเป็นจริงแล้ว อาจมีเงื่อนไขต่าง ๆ อีกมากที่ซ่อนอยู่ ซึ่งทำให้ในบางครั้งอาจทำให้องค์กรไม่สามารถเลือกผู้นำตามที่ต้องการได้ 100%
แต่จากแนวทางที่เราได้นำเสนอนี้
ก็น่าจะพอพิจารณาได้ในเบื้องต้นว่า
เราควรเลือกผู้นำที่มีคุณสมบัติแบบไหน เพื่อให้องค์กรเดินหน้าไปในทิศทาง ที่เราต้องการ..
-----------------------
Sponsored by JCB
เอกสิทธิ์สไตล์ญี่ปุ่นเหนือระดับกับบัตรเครดิต JCB สามารถติดตามข้อมูลที่น่าสนใจ ทั้งเกร็ดความรู้จากประเทศญี่ปุ่น และสิทธิประโยชน์พิเศษเฉพาะผู้ถือบัตรเครดิต JCB ได้ สนใจคลิก https://www.facebook.com/JCBCardThailandTH
#JCBThailand #JCBใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา
-----------------------
References:
-https://www.longtunman.com/23312
-https://hbr.org/2020/03/how-insider-ceos-succeed
-https://www.moneyandbanking.co.th/article/interview/special-interview-mb457-kbank-may-2020
-https://www.sigmaassessmentsystems.com/selecting-a-ceo-internal-vs-external-hires/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.