เรียนรู้เทคนิคการสื่อสาร จากคนได้เกรด C วิชาการพูด สู่ผู้กล่าวสุนทรพจน์ ที่ทั้งโลกจดจำ

เรียนรู้เทคนิคการสื่อสาร จากคนได้เกรด C วิชาการพูด สู่ผู้กล่าวสุนทรพจน์ ที่ทั้งโลกจดจำ

3 ก.ย. 2021
เรียนรู้เทคนิคการสื่อสาร จากคนได้เกรด C วิชาการพูด สู่ผู้กล่าวสุนทรพจน์ ที่ทั้งโลกจดจำ | THE BRIEFCASE
“อย่าถามว่าประเทศทำอะไรให้คุณ แต่จงถามว่า คุณทำอะไรให้กับประเทศบ้าง”
หนึ่งในคำสุนทรพจน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของศตวรรษ ที่กล่าวโดย จอห์น เอฟ. เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่สื่อสารได้ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก
แต่รู้หรือไม่ว่า กว่าที่ จอห์น เอฟ. เคนเนดี จะสามารถพูดได้จับใจคนฟังขนาดนี้ เขาเคยสอบวิชาการพูดในที่สาธารณะ หรือ Public Speaking ได้เกรด C+ มาก่อน
เรื่องราวนี้เป็นมาอย่างไร และเขามีเทคนิคอะไรให้สามารถสื่อสารได้ดีขึ้นบ้าง ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
ในวัยเด็ก จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นคนขี้อาย ไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ
และในช่วงที่เขากำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย Harvard นั้น เขายังเคยได้เกรด C+ ในวิชาการพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking)
โดยหัวข้อที่เขาเลือกมาพูดก็คือ Supreme Court nominee หรือ “การเสนอชื่อผู้พิพากษา”
ในช่วงเริ่มต้นของการพูด เคนเนดีทำได้ค่อนข้างดี แต่พอเวลาผ่านไปได้ประมาณ 25 วินาที เขาก็เริ่มเสียการควบคุม และไม่มีสมาธิ
จากนั้นเขาก็เริ่มพูดติด ๆ ขัด ๆ ลักษณะท่าทางของเขาได้แสดงออกถึงความลังเล ตลอดระยะเวลาที่เขากำลังพูดอย่างเห็นได้ชัด สรุปแล้วพอเรียนจบเทอมนั้น จอห์น เอฟ. เคนเนดี ได้เกรด C+ ในวิชาการพูดในที่สาธารณะไปในที่สุด
อย่างไรก็ตามการได้ C+ ในครั้งนั้น ทำให้เขามองว่า นิสัยที่ไม่กล้าพูดนี้เป็นเรื่องที่เขาต้องพัฒนา
โดยเขาได้ฝึกฝนการพูดอยู่เสมอ เริ่มจากการพูดในกลุ่มเล็ก ๆ แล้วค่อยพูดในกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น
ซึ่งคนสำคัญที่มีส่วนช่วยให้ เคนเนดีพูดได้ดีขึ้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ คุณแจ็กเกอลีน เคนเนดี ภรรยาของเขานั่นเอง
โดยแจ็กเกอลีน ช่วยเปลี่ยนเคนเนดีให้เป็นนักพูดในที่สาธารณะที่ดีขึ้น เช่น
- ช่วยฝึกให้เขาสามารถใช้น้ำเสียงได้ไพเราะและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
- สอนให้เขาพูดช้าลง ปรับเสียงให้เหมาะสม
- ขยับร่างกายให้น้อยลง และใช้มือเป็นภาษากายประกอบให้ชัดขึ้น
นอกจากภรรยาจะช่วยฝึกให้เขาเป็นนักพูดที่ดีแล้ว ตัวของเคนเนดีเองก็ยังฝึกฝนด้วยตนเอง ผ่านการอ่านหนังสือและฟังสุนทรพจน์จำนวนมาก
นอกจากน้ำเสียงที่ใช้ในการพูดแล้ว การแสดงออกผ่านทางสีหน้า แววตา หรือบุคลิก ก็เป็นสิ่งที่เคนเนดีให้ความสำคัญ
ถ้าอยากรู้ว่า บุคลิกและภาษากาย ระหว่างการสื่อสารสำคัญขนาดไหน ?
เราลองมาฟังตัวอย่างบรรยากาศ การอภิปรายทางโทรทัศน์ของเขากัน
ระหว่าง “จอห์น เอฟ. เคนเนดี” ผู้ท้าชิงสมัครลงเลือกตั้งครั้งแรก กับ “ริชาร์ด นิกสัน” รองประธานาธิบดีในขณะนั้น โดยการอภิปรายในครั้งนี้ มีผู้ชมกว่า 70 ล้านคน
ซึ่งย้อนไปในสมัยก่อน ประชาชนทั่วไปแทบจะไม่เคยเห็นผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแบบตัวเป็น ๆ เลย ทำได้เพียงเห็นจากรูปถ่าย หรือฟังคำอภิปรายผ่านทางวิทยุเท่านั้น
พอเข้ามาสู่ยุคที่มีการถ่ายทอดการอภิปรายทางโทรทัศน์ เคนเนดีก็เตรียมตัวมาอย่างดี ทั้งใส่สูทสีเข้ม เพื่อให้ขึ้นกล้อง และนำช่างแต่งหน้ามาเอง ในวันที่มีการถ่ายทอดการอภิปรายในโทรทัศน์
ในขณะที่นิกสันใส่สูทสีเทาอ่อน ทำให้ภาพที่ออกมากลืนไปกับพื้นหลัง นอกจากนั้นเขายังปฏิเสธการแต่งหน้าจากคำแนะนำของโปรดิวเซอร์ด้วย
ระหว่างการอภิปราย เคนเนดีได้แสดงออกด้วยการมองตรงไปข้างหน้า ดึงดูดผู้ชมทางโทรทัศน์ตลอดเวลา ซึ่งในภาพรวมแล้ว บุคลิกท่าทาง สีหน้า เคนเนดีเป็นฝ่ายที่ถ่ายทอดออกมาได้ดูดีกว่าฝั่งของนิกสัน
แล้วผู้ที่ชมผ่านทางโทรทัศน์ กับทางวิทยุ มีความรู้สึกแตกต่างกันอย่างไร ?
ผู้ที่เป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดีของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ได้ฟังการอภิปรายผ่านทางวิทยุ และคิดว่า เคนเนดี แพ้แน่ ๆ
ในขณะที่ผู้สมัครรองประธานาธิบดีของ ริชาร์ด นิกสัน ที่รับชมการอภิปรายทางโทรทัศน์และเห็นภาษากาย ท่าทาง การมองกล้องของจอห์น เอฟ. เคนเนดี ที่ทำได้ดีกว่า เขากลับมองว่า นิกสัน แพ้แน่ ๆ
นอกจากนี้ ในปี 2003 ยังมีการศึกษาจาก James N. Druckman นักรัฐศาสตร์
โดยเขาได้ให้กลุ่มผู้ทดลองทั้งหมด 171 คน ที่ไม่มีความรู้ในการอภิปรายระหว่างเคนเนดีและนิกสันเลย
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ ฟังการอภิปรายทางโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว และฟังผ่านวิทยุเพียงอย่างเดียว
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ฟังผ่านโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว เข้าใจการอภิปรายได้ดีกว่า
และชื่นชอบท่าทางบุคลิกของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี มากกว่า และตัดสินผู้ชนะจากบุคลิกภาพของผู้อภิปรายเพียงเท่านั้น
ในขณะที่ผู้ที่ฟังผ่านทางวิทยุ จะตัดสินผู้ชนะ จากเนื้อหาการอภิปราย และบุคลิกการพูดของผู้อภิปราย
สรุปวิธีการทั้งหมดทั้งมวลที่เคนเนดีใช้ก็คือ การใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล การหยุดเว้นวรรคในประโยคที่ต้องการเน้นย้ำ การแสดงออกทางภาษากาย รวมไปถึง การดึงผู้ฟังให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพูด
เช่น ประโยคที่เราบอกไปในข้างต้น ที่เขาได้พูดว่า “อย่าถามว่าประเทศทำอะไรให้คุณ แต่จงถามว่า คุณทำอะไรให้กับประเทศบ้าง”
เคนเนดีได้เน้นเสียงไปที่คำว่า “อย่าถาม” เพื่อสร้างความหนักแน่นให้กับข้อความ และดึงดูดคนฟังให้เข้ามามีส่วนร่วมกับเขา ผ่านประโยคที่ว่า “คุณทำอะไรให้กับประเทศบ้าง”
นอกจากนี้ เวลาที่เคนเนดีพูด เขายังแสดงออกด้วยความมั่นใจ และความมุ่งมั่น สิ่งเหล่านี้เอง ที่หลอมรวมจนทำให้ การพูดในแต่ละครั้งของเคนเนดีนั้นทรงพลัง
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ทักษะการพูดของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิด
แต่ความสำเร็จด้านการพูดของเขา คือผลลัพธ์ของความพยายามฝึกฝนอยู่เสมอ และใส่ใจในทุกรายละเอียดให้มากที่สุด จนสามารถพูดในที่สาธารณะได้อย่างประสบความสำเร็จ
ขอปิดท้ายบทความด้วย หนึ่งในคำพูดอันทรงพลังของเคนเนดี ที่ได้กล่าวว่า
“Every accomplishment starts with the decision to try”
หรือ ทุกความสำเร็จเริ่มต้นจากการตัดสินใจลงมือทำ
เหมือนที่เขาตัดสินใจที่จะฝึกพูดให้เก่งขึ้น
จนกลายเป็นหนึ่งในนักพูดสุนทรพจน์ที่ทรงพลังที่สุดคนหนึ่งของโลก..
References
-https://www.communicaid.com/communication-skills/blog/communication-skills/speeches-dramatic-enough/
-https://www.huffpost.com/entry/the-7-reasons-why-jfk-is-_b_6200548
-https://www.forbes.com/sites/carminegallo/2020/10/16/jfk-got-a-c-in-public-speaking-a-new-book-traces-his-transformation-into-a-captivating-leader/?sh=7bcff6c045ce
-https://www.nationalgeographic.com/history/article/behind-scenes-first-televised-presidential-debates-nixon-jfk-1960
-https://www.syracuse.com/politics/2016/09/3_myths_about_first_presidential_debate_between_kennedy_nixon.html
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.