ผู้นำแบบ “ผู้รับใช้” วิธีบริหาร แบบยึดทีมงานเป็นศูนย์กลาง ฉบับ Google

ผู้นำแบบ “ผู้รับใช้” วิธีบริหาร แบบยึดทีมงานเป็นศูนย์กลาง ฉบับ Google

9 ก.ย. 2021
ผู้นำแบบ “ผู้รับใช้” วิธีบริหาร แบบยึดทีมงานเป็นศูนย์กลาง ฉบับ Google | THE BRIEFCASE
พนักงาน คือ ฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทก้าวไปข้างหน้า
การบริหารงานที่เน้นพนักงานเป็นจุดศูนย์กลาง จะช่วยให้บริษัทก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งผู้นำที่ เห็นพนักงานเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ เรียกว่า “Servant Leadership”
แล้วการเป็นผู้นำแบบ Servant Leadership หรือ การเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้ คืออะไร ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง..
Servant Leadership ถูกคิดค้นโดย Robert K. Greenleaf ในปี 1970
โดยเขาได้อธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ไว้ว่า ผู้นำแบบผู้รับใช้นั้นจะต้องมีความรู้สึกอยากจะช่วยเหลือผู้อื่นก่อน
และจากความรู้สึกดังกล่าว ทำให้อยากจะก้าวมาเป็นผู้นำ
โดยลักษณะของผู้นำแบบผู้รับใช้ คือ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหรือยกระดับผู้อื่นในทีมของตนและประสบความสำเร็จในฐานะที่เป็นทีมเดียวกัน และทำให้พนักงานมั่นใจว่าตัวเองจะถูกพัฒนาในทุก ๆ ด้าน
ไม่ว่าจะเป็น ด้านอาชีพ ความรู้ ความเป็นอิสระ หรือแม้กระทั่งสุขภาพและการพัฒนาด้านจิตใจ
ซึ่งวิธีการเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้ หลัก ๆ ก็คือ
1. การแสดงให้เห็นว่าเราเป็นผู้ฟังที่ดี
ฟังความคิดเห็นของลูกทีม ก่อนแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมา
เพื่อให้รู้ว่าลูกทีมต้องการอะไร หรือรู้สึกอย่างไร
2. มีความเห็นอกเห็นใจและสามารถเยียวยาลูกทีมได้
ทำความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจลูกทีม ไม่เมินเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
ระวังการใช้คำพูดที่บั่นทอนกำลังใจ ควรให้ความสำคัญกับอารมณ์และความรู้สึก
และตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและสงบสุขในการทำงาน
3. รู้จักโน้มน้าว มากกว่าการบังคับ
ผู้นำที่ดี คือ คนที่สามารถโน้มน้าวใจผู้คนได้หลากหลายวิธี คอยสนับสนุนลูกทีม
มากกว่าการใช้อำนาจของตัวเอง บังคับให้คนทำในสิ่งที่ต้องการ
4. การสร้างชุมชนที่ดีในที่ทำงาน
การที่ผู้นำสร้างชุมชน หรือที่เรียกว่า Community นั้น ก็เพื่อให้ทีมงานได้พูดคุยกัน และได้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในที่ทำงานกับผู้บริหารระดับสูง อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะทำให้ทีมเกิดความจงรักภักดีต่อองค์กร ทำให้พนักงานและผู้นำพาองค์กรก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน
และหนึ่งในบริษัทที่เชื่อว่า การบริหารที่โฟกัสพนักงานมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะผลิตพนักงานที่มีทักษะ ความสามารถ มีความรู้ และมีแรงจูงใจ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการดำเนินงานโดยรวม และช่วยให้ปัญหาภายในองค์กรนั้นดีขึ้น
บริษัทนั้นก็คือ “Google”
โดย Google ได้นำหลักของ ผู้นำแบบผู้รับใช้ มาปรับใช้ดังนี้
- ให้ความใส่ใจและดูแลพนักงานเป็นอย่างดี ด้วยการสนับสนุนทางอารมณ์ความรู้สึก หรือการมุ่งเน้นที่การพักผ่อนและความสะดวกสบาย
เช่น ให้บริการอาหารฟรี บริการตัดผม สมาชิกยิม หรือรถรับส่งฟรี
เพราะพวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นการลงทุนในตัวของพนักงาน ให้พวกเขาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การพูดคุยแบบตรงไปตรงมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ
ที่ Google ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งระบบความโปร่งใสและการพูดคุยแบบตรงไปตรงมา
ทำให้พนักงานเห็นว่าฝ่ายบริหารมีความสนใจ และสนับสนุนให้มีการสื่อสารและการรับฟังอย่างเปิดเผยในบริษัท
โดย Larry และ Sergey ผู้ก่อตั้ง Google ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีการประชุมทางโทรศัพท์ทุกสัปดาห์
ซึ่งพวกเขาจะคอยตอบคำถาม รับฟัง และช่วยแก้ไขปัญหาของพนักงานเป็นการส่วนตัว
- สนับสนุนให้พนักงานดีขึ้น มากกว่าลงโทษ
ที่ Google มักจะสำรวจพนักงานที่เป็นผู้จัดการอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อดูว่าผู้จัดการแต่ละคนทำงานเป็นอย่างไรบ้าง มีปัญหาอะไรหรือไม่
จากนั้นก็ใช้ข้อมูลดังกล่าว มาประเมินผลงาน
ในส่วนของผู้จัดการที่ผลงานไม่ค่อยดี แทนที่จะมีการลงโทษหรือลดตำแหน่ง
Google เลือกที่จะช่วยผู้จัดการเหล่านั้น ด้วยการอบรมฝึกสอนในส่วนที่พนักงานผิดพลาด เพราะการมีความรู้ที่เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น
- การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในที่ทำงาน
เช่น พื้นที่สำหรับนันทนาการในบริษัท หรือสนับสนุนให้พนักงานใช้เวลา 20% ในการเล่น เรียนรู้ หรือทำสิ่งอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากทำงาน
สิ่งเหล่านี้เองที่ช่วยให้ พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ จนสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา เช่น Google News, Google Alerts และ Google Maps Street View
อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้ ไม่ได้หมายความว่า ผู้นำจะต้องตามใจลูกทีมทุกเรื่อง
เพียงแต่แนวคิดนี้ จะช่วยให้เราได้ลองทบทวนดูว่า ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับทีมงานมากพอแล้วหรือยัง..
References
-https://www.forbes.com/sites/forbescoachescouncil/2020/03/11/traditional-leadership-vs-servant-leadership/?sh=37b382c5451e
-https://www.linkedin.com/pulse/how-google-gets-servant-leadership-right-4-steps-your-michael-flynn/
-https://sites.psu.edu/leadership/2016/06/26/what-google-is-getting-right-with-servant-leadership/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.