ทำไม เราชอบพูดว่า “รู้งี้” และคำนี้ มีผลเสียอย่างไร ?

ทำไม เราชอบพูดว่า “รู้งี้” และคำนี้ มีผลเสียอย่างไร ?

15 ก.ย. 2021
ทำไม เราชอบพูดว่า “รู้งี้” และคำนี้ มีผลเสียอย่างไร ? | THE BRIEFCASE
รู้งี้ ก่อนหน้านี้ซื้อหุ้นไว้เยอะ ๆ ก็รวยแล้ว
รู้งี้ นั่งรถไฟฟ้าดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลารถติด
รู้งี้ ซื้อเครื่องสำอางวันนั้นก็ดี ได้ของแถมด้วย
นี่เป็นเพียงตัวอย่างการใช้คำว่า “รู้งี้” ที่กลายเป็นคำพูดติดปากของใครหลายคนไปแล้ว
“รู้งี้” เป็นคำพูดแก้เขินที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น การเรียน การทำงาน หรือการดำเนินชีวิตประจำวัน
หลายคนมักจะพูด “รู้งี้” เพื่อสื่ออารมณ์ประมาณว่า “เรื่องแค่นี้ แต่ทำไมเราถึงมองไม่ออก” สะท้อนถึงความรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้เลือกทำพฤติกรรม หรือเลือกเส้นทาง ไปยังเหตุการณ์หรือผลลัพธ์ที่เรารู้และเข้าใจว่าจะเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว
คำถามก็คือ ถ้าเรารู้ผลลัพธ์ปลายทางนั้นอยู่แล้ว.. ทำไมเราถึง “มองไม่ออก” ว่าควรจะเลือกอะไร
หรือว่าจริง ๆ แล้วเราเองอาจจะไม่ได้รู้ผลลัพธ์หรือเหตุการณ์ใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นเลยก็ได้
ถ้าเป็นแบบนั้น.. แล้วอะไรอยู่เบื้องหลังคำพูดติดปาก “รู้งี้” ?
รู้หรือไม่ว่า Hindsight Bias หรืออคติจากการมองย้อนกลับ
คือ อคติที่มักจะเกิดขึ้นตอนที่ผลลัพธ์ปรากฏแล้ว ทำให้การมองย้อนกลับไปในอดีต เพื่อสร้างคำอธิบายที่สมเหตุสมผลกับผลลัพธ์นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
จนทำให้คนเราคิดไปเองว่า เรารู้ผลลัพธ์นั้นอยู่ก่อนแล้ว ตอนที่ผลลัพธ์นั้นมันเกิดขึ้นจริง ๆ
ซึ่งอคตินี้เอง ที่กลายเป็นต้นตอของพฤติกรรมและที่มาของคำพูด “รู้งี้” รวมทั้งคำว่า ว่าแล้ว, นั่นไง, คิดไว้แล้ว
แล้วสงสัยไหมว่า อคตินี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
- การคิดย้อนกลับไปบนข้อมูลเก่า แต่เปลี่ยน “วิธีการเล่าใหม่”
เมื่อผลลัพธ์ปรากฏขึ้น อคติจะเปลี่ยนวิธีระลึกถึงข้อมูลเก่าของเรา ทำให้เราเลือกจำเฉพาะข้อมูลเก่า ๆ ที่ยืนยันว่าเรารู้ว่าผลลัพธ์จะเกิดขึ้น ซึ่งทันทีที่เรารู้สึกว่า เรารู้อยู่แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็จะไม่ทบทวนข้อมูลเก่าอื่น ๆ อย่างรอบคอบอีกต่อไป
- การคิดย้อนกลับด้วยการเชื่อมโยง “ข้อมูลเก่า” เข้ากับ “ข้อมูลปัจจุบัน”
สมองของคนเรา มักจะมีการเชื่อมต่อข้อมูลเข้าด้วยกันเป็นเรื่องปกติ
ซึ่งอคตินี้จะทำให้เราเลือกเชื่อมโยงข้อมูลเก่า ๆ ที่สอดคล้องกับข้อมูลปัจจุบันหรือผลลัพธ์ปัจจุบัน จนเข้าใจไปเองว่าเป็นเรื่องเดียวกันที่เรารู้อยู่ก่อนแล้ว
และยังทำให้เรามองข้ามข้อมูลเก่า ๆ ที่เราเคยคิดเห็นขัดแย้งกับข้อมูลปัจจุบันไปอีกด้วย
ทีนี้เมื่อเรามีคำพูดติดปากอย่าง “รู้งี้” หรือคำว่า “ว่าแล้ว”
ผลเสียที่ตามมาก็คือ เราจะเข้าใจผิดและคิดไปเองว่า ตนเองมีความรู้ความสามารถในการทำนายอนาคตเกินความเป็นจริง และเราก็จะมองข้ามการศึกษาข้อผิดพลาดของการตัดสินใจที่เกิดขึ้นไปอย่างน่าเสียดาย
แล้วเราจะแก้ไขพฤติกรรม “รู้งี้” ได้อย่างไร ?
เราสามารถแก้ไขพฤติกรรม “รู้งี้” ได้ไม่ยากด้วย “การจดบันทึก”
พยายามจดบันทึกทุกครั้งที่มีการตัดสินใจใด ๆ ออกไป โดยเขียนรายละเอียด, เหตุผล หรือกระบวนการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อสรุปหรือการตัดสินใจนั้น ๆ เพื่อเป็นหลักฐานชัดเจนในแต่ละช่วงเวลา
ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ผลลัพธ์ปรากฏออกมา
เราจะเข้าใจความเป็นจริงได้อย่างทันทีว่า ทำไมเราจึงเลือกทำพฤติกรรมหรือเส้นทางนั้น ๆ
แล้วจริง ๆ แล้วเราคาดการณ์ถึงผลลัพธ์หรือเหตุการณ์อนาคตได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน
ซึ่งก็จะทำให้เรายอมเปิดใจกลับมาศึกษาข้อผิดพลาดได้ง่ายขึ้น
สุดท้ายแล้ว ถ้าถามว่า “รู้งี้” เรื่องแค่นี้ แต่ทำไมเราถึงมองไม่ออก..
นั่นก็คงเป็นเพราะ Hindsight Bias หรืออคติจากการมองย้อนกลับ กำลังทำให้เราเข้าใจผิดว่า เรารู้เหตุการณ์หรือผลลัพธ์อยู่ก่อนแล้ว ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราก็เพิ่งมารู้ ตอนผลลัพธ์ปรากฏออกมา นั่นเอง..
References
-https://www.investopedia.com/terms/h/hindsight-bias.asp
-https://en.wikipedia.org/wiki/Hindsight_bias
-https://www.bbc.com/worklife/article/20190430-how-hindsight-bias-skews-your-judgement
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.