สรุป Mindset การทำงาน ของ “ต้อง-กวีวุฒิ” CEO ป้ายแดง แห่ง AISCB

สรุป Mindset การทำงาน ของ “ต้อง-กวีวุฒิ” CEO ป้ายแดง แห่ง AISCB

7 ต.ค. 2021
สรุป Mindset การทำงาน ของ “ต้อง-กวีวุฒิ” CEO ป้ายแดง แห่ง AISCB | THE BRIEFCASE
ใครที่ชอบฟังพอดแคสต์แนวพัฒนาทักษะการทำงาน
น่าจะต้องรู้จัก คุณต้อง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร
เจ้าของพอดแคสต์ และเพจ “แปดบรรทัดครึ่ง”
หรือใครที่เป็นนิสิตจุฬาฯ ก็อาจจะรู้จักคุณต้อง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สอนวิชานวัตกรรม Design Thinking for Business Innovation
ที่สำคัญคือ ในตอนนี้ คุณต้อง กวีวุฒิ ได้ก้าวมาเป็น CEO ของ AISCB บริษัทให้บริการการเงินดิจิทัล ที่เกิดจากการร่วมทุนกันระหว่าง AIS และ SCB
แล้ว Mindset ในการทำงานที่น่าสนใจ ของ CEO ป้ายแดงคนนี้ เป็นอย่างไร ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
- ในมุมการทำงานขององค์กร
องค์กรยุคนี้ นอกจากต้องปรับตัวได้ดี ต้องปรับตัวได้เร็วด้วย
บริษัทที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ที่เราเห็นกัน คือบริษัทที่เจอปัญหา แล้วรีบเรียนรู้ รีบหาทางแก้ไข รีบหาทางปรับตัว
และยิ่งสมัยนี้ ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “ความเร็วในการตัดสินใจ” และทดลองสิ่งใหม่ ๆ ก็ยิ่งสำคัญมากขึ้น
ตัวอย่างของบริษัทเก่าแก่ ที่เราเห็นเขาปรับตัวได้ดีในยุคนี้
ก็อย่างเช่น The Walt Disney ที่มีอายุเกือบ 100 ปี
ซึ่งเราเห็นเขาปรับตัวเอาเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอด
จนเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงวิดีโอ Disney+ ที่เสริมจุดแข็งในเรื่องคอนเทนต์ และสตอรีของตัวการ์ตูน หรือภาพยนตร์ ที่ Disney มีความโดดเด่นอยู่แล้ว
ส่วนบริษัทที่ล้มเหลว คือบริษัทที่ปรับตัวไม่ได้ ปรับตัวไม่เร็วพอ แล้วมีคนใหม่ เข้ามาทดแทน
- ในมุมการทำงานของตัวบุคคล
“กล้าถาม กล้าคิด กล้าลงมือทำ” 3 ความกล้านี้ คือหัวใจสำคัญ ของการสร้างนวัตกรรมและความสำเร็จ
“กล้าถาม” ในภาษานวัตกรรม จะสะท้อนผ่านคำว่า “Empathy”
คือต้องขี้สงสัยและเอาใจใส่ ในเรื่องที่สนใจอยู่เสมอ ซึ่ง Mindset แบบนี้ จะช่วยกระตุ้นความอยาก ที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา
“กล้าคิด” คือ พยายามคิดให้นอกกรอบ มองหาสิ่งใหม่ ๆ
ไอเดียที่เราเห็นวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น เก้าอี้ที่เรานั่ง คอมพิวเตอร์ที่เราใช้ พอดแคสต์ที่เราฟัง มันเกิดจากการที่มีคนคิดนอกกรอบมาแล้วทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น เรื่องการคิดนอกกรอบ และการจินตนาการถึงสิ่งใหม่ ๆ ให้มีความเป็นไปได้ เป็นทักษะสำคัญ ที่จะช่วยสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้
“กล้าลงมือทำ กล้าทดลอง” อันนี้คือความกล้า ที่สำคัญที่สุด
ถ้าในมุมของการสร้างนวัตกรรม สินค้า หรือบริการใหม่ ๆ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่ความคิดหรือไอเดียแรกของเรา ผู้ใช้งานอาจจะไม่ได้ชื่นชอบในทันที
เพราะฉะนั้น ต้องลงมือทำ เก็บฟีดแบ็ก แล้วปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ทดลองไปเรื่อย ๆ และสำคัญที่สุดคือ ต้องมองความล้มเหลวจากการลงมือทำ ให้เป็นเรื่องปกติ และเอามาเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาต่อให้ได้
แน่นอนว่าเรื่องนี้ เวลาพูดมันพูดง่าย แต่การจะมี Mindset แบบนี้ได้จริง มันต้องอาศัยการฝึกฝน และทำซ้ำเรื่อย ๆ ให้เป็นนิสัย
สุดท้ายแล้ว คุณต้อง กวีวุฒิ เปรียบเทียบการ “กล้าถาม กล้าคิด กล้าลงมือทำ” กับนิสัยวัยเด็กของเราได้อย่างน่าสนใจ
วัยเด็ก.. เราขี้สงสัย เราชอบถามอะไรที่เราอยากจะรู้ โดยไม่แคร์ว่าจะเป็นคำถามที่ไร้เดียงสาแค่ไหน
วัยเด็ก.. เรากล้าคิด กล้าเพ้อฝันถึงอะไรที่อาจจะดูไร้สาระ หรือเป็นไปได้ยาก
วัยเด็ก.. เราสนุกที่ได้ลงมือทำอะไรใหม่ ๆ ได้ประกอบของเล่นใหม่ ๆ หรือสร้างอะไรใหม่ ๆ
จริง ๆ แล้ว Mindset และทักษะความกล้าเหล่านี้
เราเคยมีมาหมดแล้วในตอนที่เราเด็ก ๆ
ก็อยู่ที่ว่าในวันนี้ เราจะเอาสิ่งที่เลือนหายไปเหล่านั้น
กลับมาประยุกต์ใช้กับโลกปัจจุบัน ได้ดีแค่ไหน..
References
-https://eighthalf.biz/about-us/
-สัมภาษณ์พิเศษ คุณต้อง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร โดยเพจลงทุนแมน
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.