วิธีซ่อมหัวใจ เมื่อต้องทำงานที่ ตัวเองไม่ชอบ

วิธีซ่อมหัวใจ เมื่อต้องทำงานที่ ตัวเองไม่ชอบ

18 ต.ค. 2021
วิธีซ่อมหัวใจ เมื่อต้องทำงานที่ ตัวเองไม่ชอบ | THE BRIEFCASE
ใครที่กำลังรู้สึกไม่ชอบงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ขอให้ลองอ่านบทความนี้กันดูก่อน..
จากการวิจัยประจำปีของกลุ่ม Conference Board พบว่า ชาวอเมริกันเกินครึ่ง รู้สึกไม่ชอบงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2000 ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคโควิด 19
ซึ่งอาจบอกได้ว่า ชาวอเมริกันเหล่านี้กำลังเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า Quiet Desperation หรือ ภาวะที่เกิดความรู้สึกจนตรอก และไม่สามารถบอกกับใครได้ มาเป็นเวลานาน
และเนื่องจากหลายคน เอาคุณค่าของตัวเองไปผูกกับอาชีพการงาน ทำให้เมื่อไม่มีความสุขในการทำงาน ก็รู้สึกเหมือนว่าความสุขในชีวิต มันหายไปด้วย..
ทำให้หลายคนพยายามหาทางออกต่าง ๆ และมักจะเจอกับทางออกประมาณว่า
ต้องขึ้นเงินเดือน ต้องเลื่อนตำแหน่ง ต้องเปลี่ยนเจ้านาย หรือต้องเปลี่ยนทีมงาน
แต่หลายคนมักลืมนึกถึง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีความสุขในการทำงานไป
ซึ่งงานวิจัยจาก University of Southern California เรื่อง Over Long Haul, Money Doesn’t Buy Happiness พบว่า
การเปลี่ยนเจ้านาย หรือขึ้นเงินเดือนในทันทีนั้น มีผลต่อความสุขของคนเราเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้พนักงาน มีความสุขในการทำงานระยะยาวก็คือ
1. ความสามารถในการควบคุมหรือตัดสินใจเอง
2. มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับเพื่อนร่วมงานในแต่ละวัน
3. งานที่ทำมีความหมาย ทำให้อยากตื่นขึ้นมาในทุก ๆ เช้า
แล้วในฐานะพนักงาน เราจะสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง..
วิธีที่ 1: ลองเขียนลิสต์ว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร เกี่ยวกับตัวงาน แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง
โดยมีวิธีการดังนี้คือ
1. เขียนสิ่งที่เราชอบเกี่ยวกับงาน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่
2. เขียนถึงความยุ่งยากและความน่าปวดหัวเกี่ยวกับงานของเรา
3. เขียนสิ่งที่เราต้องการจะทำ (แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้ทำ) โดยที่เรื่องนั้นอาจจะไม่เกี่ยวกับตำแหน่งของเรา
ในแต่ละข้อ คุณสามารถเขียนเพิ่ม หรือลบเอาบางสิ่งออกได้ตลอดเวลา
และการเขียนรายการทั้ง 3 ข้อนี้ สามารถทำได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน
ซึ่งการเขียนรูปแบบนี้ จะช่วยให้เราทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ
และบางครั้งก็ช่วยให้หลาย ๆ คนเริ่มเห็น “ช่องทาง” ที่จะเพิ่มความหมายให้กับงานของตัวเอง
และเมื่อเวลาผ่านไป รายการเหล่านี้ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับบางคน รายการที่เคยไม่ชอบ ก็อาจจะค่อย ๆ ลดน้อยลง หรือมีสิ่งที่ชอบเกี่ยวกับงานมากขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งนี่คือสัญญาณแรกที่กำลังบอกว่า เราได้เริ่มเจอบันไดของความสุขขั้นแรกในการทำงาน
เพราะตัวคุณจะได้เห็นว่า ตัวเองกำลังเติบโตมากขึ้นจริง ๆ จากการทำงานนี้
วิธีที่ 2: ตั้งใจสร้างความสัมพันธ์ที่ดี กับเพื่อนร่วมงาน
เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนตัวละครในที่ทำงานได้ แต่เรายังพอที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับพวกเขาได้
โดยเราต้องค่อย ๆ เรียนรู้และทำการบ้านเพิ่มเติมว่า คนอื่นต้องการอะไร และเราจะช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายได้อย่างไรบ้าง ?
และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการทักทาย ด้วยการถามคำถามกับเพื่อนร่วมงาน เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เรากับคนอื่นเชื่อมโยงถึงกันได้ และมันก็จะทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนร่วมงานนั้นดีขึ้นได้
เพราะในบางวันเราอาจจะไม่ชอบงานที่เราต้องเจอ แต่อย่างน้อยการที่เราเข้าบริษัทในวันนี้ ก็จะได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานดี ๆ เหล่านั้น
พูดง่าย ๆ ก็คือ แม้วันนี้จะเจอลูกค้าที่น่าหงุดหงิดใจ แต่เมื่อมีเพื่อนร่วมงานดี ๆ คอยให้กำลังใจ เราก็จะผ่านวันนี้ไปได้อีกวัน ดังนั้นอย่ามองข้ามการสร้างมิตรภาพกับเพื่อนร่วมทีม
วิธีที่ 3: สร้างตำแหน่งงานของเราใหม่ ในจินตนาการของเรา
บางคนอาจจะรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่มีความหมาย หรือเป็นตำแหน่งเล็กน้อย ที่แสนน่าเบื่อหน่าย
และนี่เองจึงเกิดเป็นงานวิจัย ที่ได้มีการไปสำรวจ “กลุ่มพนักงานทำความสะอาด ในโรงพยาบาล”
บางคนอาจมองว่า การเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงพยาบาล เป็นงานที่ไม่น่าพอใจและคงไม่ใช่งานในฝันของใครหลาย ๆ คน เพราะตำแหน่งนี้มีหน้าที่ที่ต้องทำความสะอาดถาดรองสิ่งปฏิกูล หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนป่วย หรือคนที่ใกล้เสียชีวิต
แต่ในงานวิจัยนี้พบว่า ปัจจัยสำคัญในกลุ่มของคนที่ยังรักงานนี้ก็คือ “พวกเขาปรับกรอบความคิดใหม่”
พวกเขามองว่า ตัวเองมีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาผู้ป่วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลคนหนึ่งก็ถือว่าตัวเองเป็น "ทูตคนสำคัญ" เลยทีเดียว
และเมื่อเขามีความคิดเช่นนี้ พฤติกรรมการทำงานของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ตัวอย่างเช่น ในขณะที่คุณกำลังทำความสะอาดถาดรองบนที่นอน
ถ้าคุณคิดว่าตัวเองเป็นผู้ดูแลหรือเป็นทูต คุณจะมองหาสัญญาณของปัญหาสุขภาพในถาดรองที่นอน เพื่อเตือนให้พยาบาลทราบ ซึ่งมันมีผลต่อการช่วยชีวิตคนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
แต่ถ้าคุณคิดว่านี่เป็นงานที่น่ารังเกียจ คุณจะไม่มีแรง แม้แต่จะตื่นขึ้นมา และรู้สึกเวลามันช่างยาวนาน เพราะต้องผ่านแต่ละวันไป ด้วยความทุกข์ทรมานใจ
ดังนั้น การเห็นว่าตัวเองเป็นทูตคนสำคัญ ที่มีส่วนในการช่วยเหลือผู้คนนี้เอง ทำให้เขามองว่าสิ่งที่ทำอยู่มีความหมาย
ทำให้สิ่งที่ยากหรือสิ่งที่คนอื่นรังเกียจ ไม่ใช่อุปสรรคของเขา และเขาได้กลายเป็นคนที่มีพลังบวกเต็มเปี่ยม จนทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ตัวเองไปถึงเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือผู้คนให้ได้ นั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้.. สำหรับบางคนแล้ว การเปลี่ยนงานมันอาจจะดูง่ายกว่า แต่สำหรับบางคนที่ไม่สามารถเปลี่ยนงานได้ บางคนเปลี่ยนงานมาหลายสิบที่ ก็ยังไม่เจองานที่ชอบเสียที หรือบางคนมีเงินเดือนที่สูงมากแล้ว แต่ก็ไม่อยากตื่นขึ้นมาทำงานเลย
เราอาจจะต้องลองทำสิ่งเหล่านี้ เพื่อหาสาเหตุให้เจอว่า ที่เราไม่ชอบงาน เป็นเพราะปัญหาจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ตัวงาน หรือจริง ๆ เป็นที่ตัวเรากันแน่..
References
-https://edition.cnn.com/2016/09/05/health/love-job-you-hate-wisdom-project/index.html
-https://www.sciencedaily.com/releases/2010/12/101213151407.htm
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.