สรุป 4 กลยุทธ์สร้างรายได้หลักพันล้าน แบบฉบับสุกี้ตี๋น้อย

สรุป 4 กลยุทธ์สร้างรายได้หลักพันล้าน แบบฉบับสุกี้ตี๋น้อย

19 ต.ค. 2021
สรุป 4 กลยุทธ์สร้างรายได้หลักพันล้าน แบบฉบับสุกี้ตี๋น้อย | THE BRIEFCASE
ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า หันไปทางไหนก็เจอแต่ร้านบุฟเฟต์ สุกี้-ชาบู
เพราะนอกจากจะเป็นเมนูโปรดของใครหลาย ๆ คนแล้ว ยังตอบโจทย์ในเรื่องของความคุ้มค่าคุ้มราคาสำหรับผู้บริโภคอีกด้วย
ทำให้ในตอนนี้ตลาดบุฟเฟต์ มีผู้เล่นมากมายเต็มไปหมด ทั้งเจ้าใหญ่เจ้าเล็ก
ซึ่งแน่นอนว่าแบรนด์ที่เกิดใหม่ในตลาดนี้ จะต้องเจอกับความท้าทายที่มากเป็นพิเศษ
ไม่ว่าจะสงครามราคา สงครามด้านการตลาด หรือแบรนด์เก่า ๆ ที่มีฐานลูกค้าขาประจำมากมาย
แต่ที่น่าสนใจก็คือ มีแบรนด์ร้านสุกี้-ชาบูน้องใหม่เจ้าหนึ่ง ที่เพิ่งเปิดตัวมาได้เพียงไม่กี่ปี แต่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และทำรายได้แตะหลักพันล้านแม้ในช่วงวิกฤติโควิด 19
ร้านนั้นก็คือ “สุกี้ตี๋น้อย” ที่ก่อตั้งโดยหญิงสาววัย 25 ปี ที่มีชื่อว่า คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช
แล้ว สุกี้ตี๋น้อย โตแรงแค่ไหน ?
เรามาดูผลประกอบการบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากัน
ปี 2562 รายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 1,223 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท
จากผลประกอบการของปี 2563 เราจะเห็นว่าในระยะเวลา 1 ปี รายได้ของสุกี้ตี๋น้อยนั้นเติบโตขึ้นถึง 2.5 เท่า และในส่วนของกำไรนั้นก็เติบโตมากขึ้นถึง 10 เท่า
ซึ่งถ้านับจากปีที่ก่อตั้งคือ ปี 2560 สุกี้ตี๋น้อยใช้เวลาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น ในการทำให้ธุรกิจมีรายได้แตะหลักพันล้านบาท..
แล้วอะไรคือกลยุทธ์ที่ทำให้คุณเฟิร์น พาแบรนด์สุกี้น้องใหม่ โตแรงท่ามกลางวิกฤติและการแข่งขันที่ร้อนแรงได้
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
1. เริ่มสร้างความแตกต่าง ด้วยการเปิดร้านสุกี้-ชาบู ในเวลาที่คนเขาไม่เปิดกัน
ก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด 19 สุกี้ตี๋น้อยเริ่มเป็นที่รู้จักจากกลุ่มลูกค้าที่ทำงานเลิกดึก กลับจากการแฮงเอาต์ รวมไปถึงกลุ่มนักเรียน และนักศึกษาที่ทำงาน หรืออ่านหนังสือเสร็จช่วงดึก ๆ แล้วอยากแวะร้านอาหารก่อนกลับบ้านหรือกลับหอพัก
ซึ่งในช่วงก่อนหน้าที่จะมีสุกี้ตี๋น้อย คงจะมีเพียงไม่กี่ร้านที่เปิดขายบุฟเฟต์ในช่วงค่ำจนถึงเช้ามืด
ทำให้สุกี้ตี๋น้อยมองเห็นโอกาสที่จะเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ไม่สะดวกทานบุฟเฟต์ในตอนกลางวัน หรือบางคนทำงานเลิกดึกทุกวัน อยากจะทานบุฟเฟต์ แต่ร้านตามห้างสรรพสินค้าก็ปิดหมด หรือกว่าจะได้กินก็ต้องรอให้ถึงวันหยุดงาน
สุกี้ตี๋น้อยจึงเลือกเวลาเปิดร้านตั้งแต่เที่ยงวัน จนถึง 4-5 ทุ่ม และเมื่อกระแสเริ่มดี ก็ขยับเวลาไปเปิดร้านจนถึงตี 5 ซึ่งการมองเห็นช่องว่างของตลาดนี้เอง จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้สุกี้ตี๋น้อยโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางศึกหม้อชาบูสุกี้ที่กำลังเดือดปุด ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ ได้
2. การเลือกทำเลสาขาให้สะดวกกับลูกค้า
การเลือกทำเลสาขาของสุกี้ตี๋น้อยส่วนใหญ่ มักจะเป็นสาขาสแตนด์อโลน หรือสถานที่ที่มีที่จอดรถ ซึ่งลูกค้าไม่ต้องไปแย่งที่จอดรถกันในห้าง หรือเสียค่าที่จอดรถแพง ๆ และยังทำให้ตัวร้านมีความโดดเด่นสะดุดตา ลูกค้ามองเห็นได้ง่ายอีกด้วย
3. โมเดลการตั้งราคา ที่ทำให้คนจ่ายแล้วไม่รู้สึกเสียดาย
การตั้งราคาของสุกี้ตี๋น้อย จะเป็นการเหมาจ่ายแบบบุฟเฟต์ ที่มีเมนูให้เลือกเกือบ 50 เมนู
ในราคาเพียงแค่ 199 บาท
ด้วยราคาที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม เมนูมีความหลากหลาย แถมได้ความอิ่มอร่อยกลับบ้าน
ก็ถือว่าราคานี้คุ้มค่าสำหรับใครหลาย ๆ คน
4. ร้านอาหารที่จะอยู่ในใจคนได้นาน คุณภาพคือหัวใจหลัก
เนื่องจากคุณเฟิร์นมีประสบการณ์ในการทำร้านอาหารกับครอบครัวมาก่อน ที่ชื่อว่า เรือนปั้นหยา ทำให้คุณเฟิร์นรู้ว่าการควบคุมคุณภาพของอาหารนั้นสำคัญขนาดไหน
คุณเฟิร์นจึงสร้างครัวกลางเพื่อควบคุมมาตรฐานวัตถุดิบได้จากที่เดียว ตั้งแต่ของสด ไปจนถึงน้ำจิ้ม และสามารถกระจายวัตถุดิบไปยังสาขาต่าง ๆ ได้
เพราะถึงแม้ว่าการขยายสาขา จะเพิ่มโอกาสที่ทำให้ธุรกิจโตไวได้ก็จริง
แต่ถ้าเราไม่สามารถควบคุมมาตรฐานของอาหาร ในแต่ละสาขาให้ดี โอกาสที่จะเสียลูกค้าก็มีมากเช่นกัน..
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงจะเห็นแล้วว่า แม้สุกี้ตี๋น้อยจะเป็นปลาตัวเล็กและมาทีหลัง แต่การเข้ามาทีหลังก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสในการทำธุรกิจ อย่างที่สุกี้ตี๋น้อยเห็นช่องว่างในเรื่องของเวลาทำการในช่วงดึกที่มีดีมานด์จำนวนไม่น้อยซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้แบรนด์ได้เข้าไปอุดรอยรั่ว จนสามารถครองใจลูกค้าได้ในที่สุด
อีกทั้งสุกี้ตี๋น้อยยังมีการควบคุมคุณภาพให้เหมาะสมกับราคา และเลือกทำเลที่น่าสนใจ จนกลายเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่กำไรโตแรง แซงพี่ใหญ่ไปหลายเจ้า
และถึงแม้ว่าปีนี้ สุกี้ตี๋น้อยจะกระทบหนัก เพราะมาตรการของรัฐ ที่ไม่ให้นั่งทานอาหารที่ร้านอยู่หลายเดือน
แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากรัฐบาลประกาศผ่อนปรนมาตรการเมื่อไม่นานมานี้ สุกี้ตี๋น้อยก็ยังมีลูกค้าที่นั่งรอต่อคิวยาวเหยียดในช่วงเย็นเช่นเคย
ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า สุกี้ตี๋น้อย ยังคงเป็นร้านในดวงใจ ที่หลายคนคิดถึง และอยากกลับไปนั่งทานที่ร้านอีกครั้งนั่นเอง..
Reference
-บทสัมภาษณ์คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช จากเพจลงทุนเกิร์ล
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.