Productivity Dysmorphia ภาวะที่ “ทำดี” แค่ไหน ก็ยังรู้สึกว่า “ไม่ดีพอ”

Productivity Dysmorphia ภาวะที่ “ทำดี” แค่ไหน ก็ยังรู้สึกว่า “ไม่ดีพอ”

26 ต.ค. 2021
Productivity Dysmorphia ภาวะที่ “ทำดี” แค่ไหน ก็ยังรู้สึกว่า “ไม่ดีพอ” | THE BRIEFCASE
เคยรู้สึกไหม ? ว่าบางครั้ง ทำดีแค่ไหน ก็ยังรู้สึกว่าไม่ดีพอ
อย่างเช่น หลังจากพรีเซนต์งาน หรือทำงานเสร็จ แล้วได้คำชมว่าทำได้ดีมาก
แต่เราก็ยังไม่สามารถสลัดความคิดแย่ ๆ จากความผิดพลาดขณะนำเสนอออกไปจากหัวได้ เช่น เมื่อกี้เราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ หรือเมื่อกี้ไม่น่าพูดแบบนั้นออกไปเลย
ถ้าคำตอบ คือ “ใช่” เราอาจเจอกับภาวะที่เรียกว่า “Productivity Dysmorphia”
แล้ว Productivity Dysmorphia คืออะไร ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
Productivity Dysmorphia คือ ภาวะที่เราไม่กล้าฉลองความสำเร็จของเรา หรือมีความสุขได้ไม่เต็มที่ เมื่อทำงานที่สำเร็จไปได้ด้วยดี
เพราะไม่ว่าเราจะทำผลงานออกมาได้ดีแค่ไหน เรากลับไม่สนใจผลงานด้านดี ๆ ที่เราทำออกมา
แต่กลับไปโฟกัส สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำไม่ดีแทน
หรือเราสลัดความรู้สึกที่อยู่ลึก ๆ ในใจของเรา ที่ว่าเรายังทำได้ไม่เต็มที่ ออกไปไม่ได้
หรือรู้สึกว่า เรายังไม่ Productive มากพอ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ถึงแม้ว่า เราจะทำงาน ทำผลงาน ออกมาดีแค่ไหน เราก็ยังไม่พอใจอยู่ดี และเราก็จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยการทำงานให้หนักขึ้น และหนักขึ้น..
เพื่อชดเชยกับสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี หรือทำให้ตัวเองรู้สึก Productive มากขึ้น
ซึ่งอาการของ Productivity Dysmorphia หลายคนอาจจะคิดว่าคล้าย ๆ กับ Imposter Syndrome หรือ โรคที่คิดว่าตัวเองนั้นไม่เก่ง แต่จริง ๆ แล้วมันต่างกันตรงที่ คนที่เป็น Imposter Syndrome จะทำงานหนักเกินความจำเป็น และกดดันตัวเองจนมากเกินไป เพื่อให้แน่ใจว่าคนอื่นจะจับไม่ได้ว่า “จริง ๆ แล้วเราไม่เก่ง”
ส่วน Productivity Dysmorphia ไม่ได้กลัวว่าตัวเองจะถูกจับได้
แต่แค่ทำงานให้หนักเกินความจำเป็น เพื่อชดเชยความรู้สึกของตัวเอง
และไม่กล้าฉลองความสำเร็จ หรือชัยชนะที่ได้รับ
เพราะยังรู้สึกว่า “เรายังไม่ดีพอ”
หลายคนอาจจะคิดว่า การที่เราทำงานให้หนักขึ้นกว่าเมื่อวาน พยายามขึ้นกว่าเมื่อวาน
ก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว เพราะมันจะทำให้เราพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
แต่ก็อย่าลืมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีความพอดีของมัน
อะไรที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป มักจะไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป
ถ้าเราพยายามทำงานให้หนักมากขึ้น ในทุก ๆ วัน จนมากเกินไป
หรือมัวแต่ยึดติดกับเรื่องในอดีต ที่เรายังรู้สึกว่าไม่ดีพอ
เราก็คงจะไม่มีโอกาสได้ฉลองความสำเร็จ
หรือมีความสุขจากงานที่เราทำเสียที..
References
-https://www.linkedin.com/pulse/do-you-have-productivity-dysmorphia-lisa-sheppard
-https://www.inc.com/jessica-stillman/productivity-dysmorphia-psychology-success-anna-cordrea-rado.html
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.