รู้จัก “Job Hopper” กลุ่มคนชอบเปลี่ยนงานบ่อย ที่สาเหตุ อาจไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน

รู้จัก “Job Hopper” กลุ่มคนชอบเปลี่ยนงานบ่อย ที่สาเหตุ อาจไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน

31 ต.ค. 2021
รู้จัก “Job Hopper” กลุ่มคนชอบเปลี่ยนงานบ่อย ที่สาเหตุ อาจไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน | THE BRIEFCASE
ในแวดวงการทำงาน เราอาจเคยเห็นคนที่ชอบเปลี่ยนงานบ่อย ๆ หรือไม่ได้อยู่บริษัทใดบริษัทหนึ่งนานเท่าไร พูดง่าย ๆ ว่า อาจจะทำงานแต่ละที่แค่ไม่กี่ปี หรือไม่กี่เดือนก็ย้ายงานแล้ว
กลุ่มคนเหล่านี้มีชื่อในวงการว่า “Job Hopper”
เบื้องหลังการเปลี่ยนงานบ่อยของคนกลุ่มนี้ มีเหตุผลอะไรซ่อนอยู่บ้าง ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
หลายคนอาจมองว่า พนักงานในกลุ่ม Job Hopper มักเป็นคนที่เปลี่ยนงานบ่อยเพื่อเพิ่มเงินเดือน
แต่จริง ๆ แล้วก็ยังมีอีกหลายปัจจัย..
1. เพิ่มขยับฐานเงินเดือนแบบรวดเร็ว
ต้องยอมรับว่า หนึ่งในวิธีที่เพิ่มเงินเดือนได้เร็วที่สุดคือ การย้ายงาน เพราะโดยธรรมชาติเวลาที่การย้ายงานเกิดขึ้นนั้น คนส่วนใหญ่มักจะขอเงินเดือนนั้นเพิ่ม 20-30% หรืออาจมากกว่านั้น
ในขณะที่ถ้าทำงานที่บริษัทเดิม ตำแหน่งเดิม อาจมีการปรับเงินเดือนแค่ 5-7% ซึ่งกลุ่มคนที่อยู่ใน Job Hopper นั้นมองว่าน้อยเกินไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ฐานเงินเดือนที่สูง มักตามมาด้วยความคาดหวังที่สูงเช่นกัน
ซึ่งบางครั้ง ถ้าประสบการณ์และความสามารถที่มีนั้น ยังไม่สามารถรับภาระและความคาดหวังจากการทำงานนั้นได้ อาจทำให้ Job Hopper บางคนเกิดความกดดัน จนเกิดความเครียดสูงได้ด้วยเช่นกัน
2. ต้องการความท้าทายใหม่ ๆ ในทันที
บางครั้งการย้ายงานของคนกลุ่ม Job Hopper ก็อาจไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้งเท่านั้น แต่อาจมาจากการที่พวกเขาต้องการความท้าทายใหม่ ๆ
ซึ่งกรณีนี้มักเกิดจากกลุ่มคนที่อายุน้อย ๆ หรือเพิ่งจบมาไม่นาน ที่มักไม่ชอบงานที่จำเจ
หรือบางทีอาจเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จหรือบรรลุเป้าหมายอะไรบางอย่างที่ต้องการแล้วในงานปัจจุบัน ทำให้คนกลุ่มนี้มักจะเปลี่ยนงานเพื่อหาความท้าทายใหม่ ๆ เสมอ
อีกประเด็นคือ บางครั้งคนกลุ่มนี้อาจจะยังอยู่ในช่วงระหว่างค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบหรือต้องการจะทำอยู่ ดังนั้น จึงอาจมาลองทำงานปัจจุบันไปก่อน
และเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน พวกเขากลับพบว่า งานที่ทำยังไม่ตอบโจทย์สิ่งที่ชอบหรือที่ต้องการ พวกเขาก็มักจะเปลี่ยนงานในทันที เมื่อเจอสิ่งที่คิดว่าจะตอบโจทย์ตัวเองมากกว่า
3. มีปัญหากับคนที่ทำงาน
หลายคนอาจไม่ได้ต้องการลาออกจากงานหรือเปลี่ยนงานเร็วเพราะเรื่องเนื้องาน ในทางกลับกัน จริง ๆ แล้วพวกเขาต้องการทำงานในที่ใดที่หนึ่งไปนาน ๆ ด้วยซ้ำ
แต่เมื่อพวกเขามีปัญหากับคนที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ลูกน้อง พวกเขาก็พร้อมที่จะลาออกเพื่อไปทำงานในที่ที่ตัวเองคิดว่า น่าจะสบายใจ หรือมีปัญหาน้อยกว่า ที่เจออยู่ในตอนนี้
4. เปลี่ยนงานเพราะสถานการณ์บังคับ
บางครั้งกลุ่มคนที่อยู่ใน Job Hopper ในตอนนี้พวกเขาอาจจะยังไม่ได้ต้องการขยับฐานเงินเดือน ไม่ได้ต้องการความท้าทายใหม่ ๆ หรือก็ยังไม่ได้มีปัญหากับคนที่ทำงาน
แต่การที่พวกเขาต้องเปลี่ยนงานก็เพราะสถานการณ์บังคับ เช่น บริษัทที่ทำอยู่เดิมต้องปิดตัวลงกะทันหัน บริษัทมีการปรับโครงสร้างการทำงานใหม่
หรือแม้แต่ต้องการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน เมื่อตัวเองต้องย้ายที่อยู่อาศัย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องหางานใหม่ แม้จะยังทำงานที่เดิมมาได้ไม่นานก็ตาม
นอกจากนี้ กลุ่มคนที่อยู่ใน Job Hopper บางส่วนก็อาจทำงานที่มีลักษณะสัญญาเป็นแบบสัญญาจ้าง หรือมีสถานะเป็นพนักงานชั่วคราว เมื่อหมดโครงการ พวกเขาก็ต้องหางานใหม่เช่นกัน
ดังนั้น ถ้าพูดโดยรวมแล้ว ก็คงต้องบอกว่า
จริง ๆ แล้ว คนกลุ่ม Job Hopper นั้น การที่พวกเขาเปลี่ยนงานบ่อย ๆ ก็เกิดมาจากหลายเหตุผล ไม่ใช่เพียงแค่ย้ายงานเพิ่มเงินเดือน เหมือนอย่างที่หลายคนคิดกันแต่แรก
และในมุมกลับกัน ข้อดีของคนกลุ่ม Job Hopper ก็มีเช่นกัน
โดยเฉพาะกรณีที่เขาเปลี่ยนไปทำงานอื่นบ่อย ๆ จะทำให้คนกลุ่มนี้ ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
ได้เห็นวัฒนธรรมการทำงาน ที่หลากหลายของแต่ละองค์กร ซึ่งหลายคนก็สามารถนำเอาข้อดีเหล่านั้นมาปรับใช้กับการเข้าไปทำงานในที่ใหม่ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
สำหรับในมุมของบริษัท ถ้าบริษัทต้องรับคนกลุ่มนี้มาทำงาน จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อบริษัทบ้าง ?
แน่นอนว่า ถ้าบริษัทเจอคนที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ที่กำลังมองหา แต่พวกเขากลับเป็นคนในกลุ่ม Job Hopper ที่มีการเปลี่ยนงานบ่อย ๆ อาจทำให้บริษัทลังเลที่จะรับคนเหล่านั้นเข้ามา เพราะไม่รู้ว่าเขาจะอยู่กับเรานานไหม
เพราะถ้าอยู่ไม่นาน ก็จะทำให้บริษัทมีต้นทุนต่าง ๆ ทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย ในการไปหาคนใหม่ ๆ มาแทนคนกลุ่ม Job Hopper ที่ลาออกไป
ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นต้องสอบถามข้อมูลจากคนกลุ่มนี้ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมเขาจึงเปลี่ยนงานบ่อย ซึ่งบางครั้งอาจไม่ได้เกิดจากการที่พวกเขาอยากเปลี่ยนงานเอง แต่มาจากสถานการณ์บังคับก็เป็นได้
ซึ่งถ้าสุดท้ายแล้วบริษัทอยากได้และต้องจ้างคนกลุ่มนี้มาทำงาน
ก็ลองมาชั่งน้ำหนักดูว่า ระหว่างประโยชน์ที่ได้รับจากความสามารถและประสบการณ์ของพวกเขา จะคุ้มค่าที่จะรับเขาเข้ามาทำงานไหม ถ้าเขาอยู่กับเราไม่นาน เหมือนที่แล้ว ๆ มา..
References
-https://www.goodhire.com/resources/articles/what-employers-should-know-about-job-hoppers/
-https://www.indeed.com/career-advice/starting-new-job/job-hopping
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.