สรุปสิ่งต้องรู้ หากอยากเป็น สตาร์ตอัปที่เนื้อหอม จากคุณหมู ผู้บริหาร 500 TukTuks

สรุปสิ่งต้องรู้ หากอยากเป็น สตาร์ตอัปที่เนื้อหอม จากคุณหมู ผู้บริหาร 500 TukTuks

6 พ.ย. 2021
สรุปสิ่งต้องรู้ หากอยากเป็น สตาร์ตอัปที่เนื้อหอม จากคุณหมู ผู้บริหาร 500 TukTuks | THE BRIEFCASE
“การปั้นสตาร์ตอัป” ถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากของวงการธุรกิจ ไม่ว่าจะทั้งในไทยหรือต่างประเทศ
ทุกอย่างที่ทำ ล้วนต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล และหยุดการเติบโตไม่ได้ เพราะต้องบริหารความคาดหวังของนักลงทุนให้ดี
อีกทั้งการปั้นสตาร์ตอัปในไทย ก็ดูหมือนจะทวีความท้าทายมากขึ้นไปอีก
เพราะแทบทุกบริการในประเทศไทย ไม่ว่าจะฟูดดิลิเวอรี แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มที่พัก มักจะถูกสตาร์ตอัปจากต่างชาติยึดครองตลาดและกินส่วนแบ่งขนาดใหญ่
นี่ยังไม่รวมบริษัทขนาดใหญ่ ๆ ในประเทศ
ที่ช่วงหลัง ๆ ก็ลงมาปรับตัวออกบริการในแนวเทคโนโลยีแข่งกับสตาร์ตอัปอีกด้วย
เมื่อเรื่องมันเป็นอย่างนี้แล้ว โอกาสที่เราจะปั้นสตาร์ตอัปในไทยยังจะมีอยู่บ้างหรือไม่
และถ้าเรามั่นใจว่าตัวเองมีไอเดียที่ดี ไม่แพ้ต่างชาติ จะทำอย่างไรให้นักลงทุนเชื่อมั่นและกล้าเข้ามาลงทุนกับเรา ?
วันนี้ THE BRIEFCASE ได้สรุปข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับประเด็นการปั้นสตาร์ตอัปในเมืองไทย
จากการพูดคุยกับคุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้คร่ำหวอดในด้าน Tech Startup ของไทย
ซึ่งปัจจุบันคุณหมูเป็นทั้งผู้ก่อตั้ง Ookbee สตาร์ตอัปแพลตฟอร์มดิจิทัลคอนเทนต์สัญชาติไทย
และยังเป็นผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks ที่ลงทุนในระดับ Seed Stage ให้กับสตาร์ตอัปชั้นนำต่าง ๆ ของไทย ที่ล่าสุดเพิ่งจับมือกับ OR ในการก่อตั้ง ORZON Ventures เพื่อสนับสนุนสตาร์ตอัปใหม่ ๆ ในระดับ Series A-B
และนี่คือ 3 ประเด็นใหญ่ ๆ จากคุณหมู ที่คนอยากทำสตาร์ตอัปให้เนื้อหอม ควรต้องรู้..
1. วิธีประเมินว่าบริษัทตัวเองพร้อมแล้ว ที่จะเข้าไปขอเงินจากนักลงทุน
ส่วนใหญ่แล้วการจะเป็นสตาร์ตอัป ที่นักลงทุนสนใจเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ควรจะมีมากกว่ากระดาษกับไอเดีย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนอยากเข้ามาลงทุน คือ
- ควรลงทุนกับธุรกิจของตัวเองไปบ้างแล้ว เพื่อให้มีเรื่องราวที่สามารถเล่าได้ว่าเริ่มทำมาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ผลตอบรับเป็นอย่างไร เล่าได้ว่าเราได้เรียนรู้อะไร แล้วจะทำอะไรต่อ
นักลงทุนจะรู้สึกมั่นใจระดับหนึ่งเมื่อได้ค้นพบว่า ผลการดำเนินการเบื้องต้นเป็นอย่างไร และอย่างน้อยเจ้าของก็ลงมือทำแล้ว เป็นคนที่ลงมือทำจริง ๆ ไม่ได้ต้องรอให้มีคนลงทุนก่อนแล้วค่อยลงแรงทำ
แต่ก็อาจจะมีกรณียกเว้น ที่อาจมีคนลงทุนให้เลย ซึ่งก็อาจเพราะว่าผู้ที่ทำสตาร์ตอัปนั้น เป็นคนดังมีชื่อเสียงมาก ๆ หรือมีผลงานจนเป็นที่ประจักษ์ เช่น เคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจอะไรที่เกี่ยวข้องมาก่อน หรือเคยทำสตาร์ตอัปแล้ว และเคยมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันออกสู่ตลาดมาก่อนแล้ว
แล้วที่บอกว่ามีชื่อเสียง เราต้องมีชื่อเสียงแค่ไหน ?
อันนี้ก็แล้วแต่ว่าธุรกิจอะไรในวงการไหน หากจะพูดให้เห็นภาพชัด ๆ ก็เช่น
ถ้าในวงการเทคโนโลยี แล้วมีคนอย่าง อีลอน มัสก์ บอกว่าจะทำบริษัทใหม่ ถึงจะพูดแค่ไอเดียออกมาว่าจะทำแล้วเปิดให้ลงทุน นักลงทุนและ VC ทั่วโลกก็คงอยากที่จะแย่งกันขอลงทุนแล้ว แม้จะมีแค่ไอเดีย ยังไม่เคยทำธุรกิจใหม่นี้จริงก็ตาม
ในความเป็นจริง ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปที่เคยทำธุรกิจประสบความสำเร็จ
หรือเป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในสตาร์ตอัปชื่อดังต่าง ๆ ก็จะเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักลงทุนที่เคยลงทุนในธุรกิจก่อนหน้า ถ้าบอกว่ามีไอเดียทำอันใหม่ นักลงทุนก็อาจให้ความสนใจเลย
แต่ถ้าเป็นคนใหม่ คนทั่วไปที่เพิ่งเริ่ม การลงมือทำก่อนเป็นสิ่งที่ควรทำก่อนเดินไปหานักลงทุนแน่นอน
- สตาร์ตอัปจะต้องทำผลิตภัณฑ์ ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นตลาดขนาดใหญ่ และต้องมีแผนให้นักลงทุนเห็นว่าเงินของพวกเขาที่ลงทุนไปจะมีโอกาสเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น นักลงทุนอยากเห็นเงินสิบล้านบาทของตัวเอง เติบโตสิบเท่า ภายในเวลา 5 ปี
ดังนั้นการตั้งเป้าว่าธุรกิจตัวเองจำเป็นต่อกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ ก็ถือว่ามีผลต่อการตัดสินใจลงทุนเช่นกัน บางธุรกิจอาจเป็นไอเดียที่ดี แต่ถ้าไม่มีตลาดรองรับใหญ่มากพอก็อาจไม่ได้เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน
ต้องมองว่านักลงทุนที่ลงทุนในสตาร์ตอัปของเรา ก็จะต้องเปรียบเทียบว่าเงินเท่ากันที่ลงทุนในบริษัทเรา ถ้าเอาไปลงทุนในอีกบริษัทหนึ่ง อันไหนผลตอบแทนดีกว่ากัน โดยที่ทั้งสองบริษัทไม่จำเป็นต้องทำธุรกิจเดียวกัน
ซึ่งในมุมมองของนักลงทุน การที่ตลาดใหญ่กว่า ก็ดูจะมีโอกาสให้เติบโตได้สูงกว่า
- มีเทคโนโลยีที่ดี หรือคนในทีมมีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี นอกเหนือจากแค่ประสบการณ์ในธุรกิจที่สนใจทำ
หากเรามีทรัพยากรคน ที่เคยทำงานด้านเทคโนโลยีมาก่อน มีผลงานที่เห็นว่าจะพัฒนาไปอีกขั้นได้ ก็มีโอกาสที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในบริษัทเราง่ายขึ้น
เช่น ในสตาร์ตอัป A มีคนในทีมเคยเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันดัง ๆ มาก่อน มี Reference มีผลงานที่คนในวงการรู้จัก ยืนยันได้จริง นักลงทุนก็จะให้คะแนนทีมพัฒนาสตาร์ตอัปนั้นมากขึ้น
- คนทำสตาร์ตอัป ต้องมีคอนเน็กชันที่ดี
หลาย ๆ ครั้งคนที่จะปั้นสตาร์ตอัป แล้วมีแนวโน้มที่จะเจอนักลงทุนเข้ามาลงทุนด้วย มักจะเป็นคนในแวดวงเดียวกัน หรืออยู่ในวงการสตาร์ตอัปมาก่อน เพราะคนในวงการจะพูดถึงและแนะนำต่อ ๆ กันไป
ดังนั้นก่อนที่จะปั้นสตาร์ตอัปของตัวเอง คุณหมูแนะนำว่า ถ้ายังไม่มีประสบการณ์เลย
ทางหนึ่งที่ทำได้ คือควรลองพิจารณาการเข้าไปทำงานในบริษัทสตาร์ตอัป หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เราสนใจทำสตาร์ตอัปก่อน
เพื่อให้ตัวเองมีผลงานและเป็นที่รู้จักบ้าง เพื่อเพิ่มประสบการณ์และได้รู้จักกับคนต่าง ๆ ในวงการธุรกิจและสตาร์ตอัป เป็นการเพิ่มเครดิตที่ดีให้กับตัวเองเวลาเราตัดสินใจออกมาทำสตาร์ตอัปของเราเอง
2. อุปสรรคใหญ่ ๆ ที่ต้องเจอของการทำสตาร์ตอัป นอกจากเรื่องของเงินทุน
- บุคลากรสาย Tech ขาดแคลนมาก ๆ ในตลาด บริษัทใหญ่ ๆ ก็ทุ่มสุดตัวเพื่อหาคนสายเทค หรือบางครั้งหาคนมาได้ ถ้ารักษาไว้ได้ไม่ดีก็มักจะโดนแย่งตัวไปได้ง่าย ๆ
ดังนั้นสิ่งที่ต้องเจอคือ หากเราเป็นคนตัวเล็ก แล้วเข้ามาอยู่ตลาดเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ก็ต้องทำงานหนักตั้งแต่การเริ่มหาคน และการดูแลคนในทีมของเราดี ๆ
- การรักษาคนเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะสตาร์ตอัปเป็นบริษัทที่อยากเติบโตเร็ว แต่ในตอนเริ่มต้นที่ยังมีเงินน้อย งานก็เยอะ ก็จะทำให้ยิ่งเหนื่อยมากในการรักษาคน หรือการปรับโครงสร้างองค์กร
ดังนั้นผู้ก่อตั้ง จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนในทีมเชื่อมั่น
เช่น มีความโปร่งใส จริงใจ ให้คนในทีมเห็นสถานะปัจจุบัน เล่าเรื่องการเติบโตและให้ความรู้สึกว่าทุกคนเป็นส่วนสำคัญ มีส่วนร่วมในการเติบโต
อาจมีการเสนอให้เขาได้หุ้นบริษัท ซึ่งมีโอกาสที่จะมีผลตอบแทนมากกว่าเงินเดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเก่ง ๆหลาย ๆ คนเลือกมาทำงานสตาร์ตอัปก็เพราะเรื่องเหล่านี้
- ต้องมีการวางแผนตลอดโดยเข้าใจว่าสเกลธุรกิจ มันต้องเติบโตไปเรื่อย ๆ ในตลาดทุกปี
โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีแรก ต้องเติบโตให้ได้สูงมาก ๆ ต่างจาก SME ที่เจ้าของคนเดียวอาจจะพอใจกับรายได้หรือกำไรของตัวเองได้เมื่อถึงจุดหนึ่ง
แต่สตาร์ตอัปต้องพยายามเติบโตต่อเนื่อง เพราะมักมีการระดมทุนเพิ่มทุก ๆ สองปี และนักลงทุนที่ลงทุนใหม่แต่ละรอบก็ต่างอยากเห็นเงินตัวเองเติบโต 5 เท่า 10 เท่าทั้งนั้น ซึ่งธุรกิจก็ต้องเติบโตต่อไปให้ได้ตามนั้น
ดังนั้นการทำสตาร์ตอัปจะต้องเข้าใจว่ามีความคาดหวังจากนักลงทุนเรื่องการเติบโตแน่นอน เจ้าของจะต้องคอยวางแผนให้บริษัทโตตลอด เพื่อให้ตอบโจทย์เรื่อง ว่าจะเอาเงินไปคืนให้กับนักลงทุนได้อย่างไร
- การทำสตาร์ตอัปมีโอกาสล้มเหลวตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องเตรียมใจไว้เลยว่า “ความล้มเหลว” คือสิ่งที่เราต้องเจอ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไม่เติบโต
และควรเรียนรู้ให้เร็วว่าอะไรทำแล้วไม่เวิร์ก ดังนั้นการทำทีมให้เล็ก ปล่อยสินค้าออกไปทดสอบทีละน้อย
หรือที่เรียกว่าการทำงานแบบ Lean Startup หรือ แบบ Agile ซึ่งจะช่วยให้เราเจ็บตัวน้อยลง ไม่ต้องรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แล้วค่อยทำ เพราะมันจะไม่มีอะไรสมบูรณ์ตั้งแต่แรก
3. ที่ผ่านมาในฐานะนักลงทุน เกณฑ์อะไรที่เราใช้ตัดสินบ้างว่าสตาร์ตอัปไหนน่าลงทุน
คุณหมูบอกว่าที่ผ่านมา 500 TukTuks และ ORZON ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ตอัปที่น่าสนใจ
จะเลือกลงทุนในหัวข้อที่น่าสนใจตามเทรนด์ในแต่ละช่วงของตลาดตอนนั้น
เช่น ก่อนหน้านี้ในไทยก็มีพวก E-commerce, Logistics, Payment, SaaS
ถ้าในปัจจุบัน ก็เช่น Blockchain, Food Tech, FinTech, Health Tech ซึ่งก็คือ Mega Trend ตอนนี้นั่นเอง
เพราะตลาดเหล่านี้ มีโอกาสที่จะพัฒนาและเติบโตไปเรื่อย ๆ จากนั้นก็เลือกดูทีมผู้ก่อตั้ง และผลประกอบการเบื้องต้นที่ทำมา
ดังนั้นคนทำสตาร์ตอัปจะต้องรีเซิร์ชให้ดีว่าตลาดกำลังต้องการอะไร และเตรียมข้อมูลที่สามารถอธิบายผลประกอบการที่ทำอยู่และแนวโน้มการเติบโตในสามปีข้างหน้า
สุดท้ายนี้คุณหมูก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า
ถึงแม้จะดูเหมือนว่าสตาร์ตอัปต่างชาติยักษ์ใหญ่ จะเข้ามาครอบครองตลาดในไทยมากมาย แต่โอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ก็ยังคงมีอยู่ตลอด
ถ้าเรารู้จักมองหาโอกาส ไม่ยอมแพ้ เรียนรู้ความผิดพลาดและแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เป็นผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญและมีวิสัยทัศน์ที่ดี
โอกาสที่จะเป็นสตาร์ตอัปเนื้อหอม ที่ดึงดูดนักลงทุนและทีมงานเก่ง ๆ ก็มีอยู่แน่นอน..
Reference
-สัมภาษณ์พิเศษคุณหมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ โดยเพจ THE BRIEFCASE
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.