กรณีศึกษา มหาเศรษฐีระดับโลก ที่เริ่มต้นจาก การเป็นพนักงานบริษัท

กรณีศึกษา มหาเศรษฐีระดับโลก ที่เริ่มต้นจาก การเป็นพนักงานบริษัท

16 พ.ย. 2021
กรณีศึกษา มหาเศรษฐีระดับโลก ที่เริ่มต้นจาก การเป็นพนักงานบริษัท | THE BRIEFCASE
หลายคนอาจคิดมาตลอดว่า การเป็นแค่พนักงานบริษัทเราคงไม่มีวันกลายมาเป็นมหาเศรษฐีได้
แต่วันนี้ THE BRIEFCASE จะพาไปดูกรณีศึกษาของบุคคล ที่เรียกได้ว่า กลายเป็นมหาเศรษฐี ด้วยการเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานกัน
โดยบุคคลที่ว่านั้นก็คือ..
1. Sundar Pichai - CEO ของบริษัท Alphabet
Sundar Pichai เข้าทำงานกับ Google ตั้งแต่ปี 2004 โดยเริ่มมาจากการเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เช่น Google Chrome รวมไปถึงระบบปฏิบัติการ Android
จนต่อมาเขาก็สามารถพิสูจน์ตัวเอง และไต่เต้าขึ้นมาเป็น CEO ได้ในปี 2015
ซึ่งถ้ามาดูจากผลงานที่ผ่านมานับตั้งแต่เขาขึ้นมาเป็น CEO
มูลค่าบริษัทของ Alphabet นั้นเติบโตขึ้นกว่า 360%
และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีได้นั้นก็มาจากการได้รับ Stock Awards หรือรางวัลเป็นหุ้นนั่นเอง
ซึ่งในปี 2019 ทางสำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานว่าเขาเป็น CEO ที่มีรายได้มากสุดเป็นอันดับที่ 8 ของโลก
โดยแบ่งเป็น Stock Awards เฉพาะในปีนั้นถึง 82.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,600 ล้านบาท
และค่าจ้างรายปีที่ 650,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 21 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 2,621 ล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้เขาก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นหุ้นอยู่หลายครั้ง อย่างในปี 2014 ที่เขาได้ผลตอบแทนเป็นหุ้นมูลค่ากว่า 8,180 ล้านบาท และอีก 2 ครั้งในปีต่อ ๆ มารวมอีกกว่า 9,800 ล้านบาท
ทำให้เมื่อรวมกับรางวัลหุ้นที่ได้ในอดีต ส่งผลให้ปัจจุบัน เขาได้ขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีพันล้าน (Billionaire) โดยมีทรัพย์สินรวมอยู่ที่ประมาณ 42,000 ล้านบาท อ้างอิงจากเว็บไซต์ Nationalworld ณ เดือนมิถุนายน
2. Sheryl Sandberg - COO ของ Meta (Facebook)
Facebook หรือ Meta ในปัจจุบันก็ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ก่อให้เกิดมหาเศรษฐีมากมาย
ซึ่งนอกจากผู้ร่วมก่อตั้งแล้ว หนึ่งในนั้นก็ยังมีพนักงานด้วย
Sandberg นั้นเคยทำงานที่ Google มาก่อน โดยดำรงตำแหน่งรองประธานฝ่ายขายและโฆษณา
และได้ฝากผลงานไว้มากมาย จนทีมฝ่ายขายและโฆษณาสามารถเติบโตขึ้นจาก 4 คนเป็น 4,000 คน
แต่ในปี 2007 เธอก็ได้พบเจอกับ Mark Zuckerberg แล้วเขาก็ได้มีโอกาสชวนเธอไปร่วมงานด้วย
โดยในปี 2008 Sandberg ได้เข้ามาร่วมงานกับ Facebook ในฐานะ COO หรือ Chief Operating Officer ซึ่งรับหน้าที่เกี่ยวกับ การดูแลระบบหลังบ้านของ Facebook และก็ยังคงดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปัจจุบัน
โดย Sandberg ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างการเติบโตของบริษัทนี้
อย่างการสร้างโมเดลธุรกิจสร้างรายได้จากโฆษณา จน Facebook สามารถทำกำไรได้ครั้งแรกในปี 2010
ซึ่งนับตั้งแต่เธอร่วมงานกับ Facebook เธอก็ได้รับผลตอบแทนเป็นหุ้นอยู่หลายครั้ง
ซึ่งพอรวมตั้งแต่ก่อนบริษัทจะเข้าตลาดหลักทรัพย์จนมาถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ Sandberg กลายเป็น “มหาเศรษฐินี” และมีทรัพย์สินรวมกว่า 62,000 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม
ก็มี CEO ที่เริ่มต้นจากการเป็นพนักงาน ที่โชว์ผลงานได้อย่างเยี่ยมยอด
แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ถือว่าเป็นเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือบุคคลที่มีทรัพย์สินมากกว่า 33,000 ล้านบาท เช่นกัน
อย่างเช่น CEO คนล่าสุดของ Amazon.com อย่างคุณ Andy Jassy
ที่ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นส่วนสำคัญในการปลุกปั้น AWS - Amazon Web Services
ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ Amazon.com ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้
แต่นับตั้งแต่ที่เขาอยู่กับ Amazon.com มาเป็นเวลากว่า 24 ปี
ปัจจุบันเขามีหุ้น Amazon.com อยู่ในมือเพียง 81,500 หุ้น
หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท
เมื่อรวมกับสินทรัพย์และการลงทุนอื่น ๆ ส่งผลให้ปัจจุบันเขามีทรัพย์สินรวมทั้งหมดประมาณ 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่แตะระดับที่จะเป็น Billionaire
และอีกคนก็คือ Satya Nadella CEO ของ Microsoft ที่ถึงแม้จะเป็นผู้ช่วยปลุกปั้นอาณาจักร Microsoft ให้เติบโตมาไกลมาก
แต่ปัจจุบันเขามีทรัพย์สินอยู่ที่ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8,000 ล้านบาทเท่านั้น
แต่ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยังไม่ได้ขึ้นแท่นมหาเศรษฐี
แต่ก็ต้องบอกว่า รายได้ของพวกเขานั้น ไม่ได้น้อยหน้าเจ้าของบริษัทหลาย ๆ แห่งเลย
และพวกเขาก็อาจพอใจแล้ว กับความสำเร็จ ณ ระดับนี้..
ทีนี้หลายคนอาจจะคิดว่า ต้องเป็นเพียงผู้บริหารระดับสูงเท่านั้นถึงจะได้มีโอกาสเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท หรือได้รับผลตอบแทนในรูปแบบนี้
แต่จริง ๆ แล้วจะเห็นว่า มีหลายคนเหมือนกัน ที่เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานของบริษัท
แต่ไต่เต้าขึ้นมา จนเป็นมหาเศรษฐีระดับโลกได้
และความจริงแล้วการให้ผลตอบแทนเป็นหุ้นนั้นมีมานานแล้ว
และไม่ได้มีเพียงผู้บริหารที่ได้เท่านั้น แต่รวมไปถึง นักกีฬาอาชีพ วิศวกรซอฟต์แวร์ของบริษัทเทคโนโลยี ผู้จัดการหรือหุ้นส่วนของวาณิชธนกิจ
และยังรวมไปถึงพนักงานที่ได้เลื่อนขั้นเป็นหุ้นส่วนของบริษัทตรวจสอบบัญชีหรือที่ปรึกษาอีกหลายแห่ง ก็มีโอกาสกลายเป็นมหาเศรษฐี ได้เช่นกัน..
References
-https://www.nationalworld.com/arts-and-culture/film-and-tv/sundar-pichai-salary-net-worth-and-career-history-of-google-ceo-explained-and-who-is-his-wife-anjali-pichai-3305097
-https://www.bloomberg.com/graphics/2020-highest-paid-ceos/
-https://www.sec.gov/Archives/edgar/data/1652044/000130817920000203/lgoog2020_def14a.htm
-https://www.theverge.com/2019/12/20/21031629/google-ceo-sundar-pichai-pay-package-amount-alphabet-compensation-stock
-https://www.nationalworld.com/arts-and-culture/film-and-tv/sundar-pichai-salary-net-worth-and-career-history-of-google-ceo-explained-and-who-is-his-wife-anjali-pichai-3305097
-https://www.forbes.com/profile/sheryl-sandberg/?sh=6edfa4b158b6
-https://www.forbes.com/sites/laurendebter/2021/02/03/andy-jassy-owns-more-amazon-stock-than-any-employee-except-jeff-bezos-and-hes-still-not-a-billionaire/?sh=7f9b32a151af
-https://www.inc.com/quora/they-say-youll-never-get-rich-working-as-an-employee-but-they-are-wrong.html
-https://finance.yahoo.com/news/much-satya-nadella-worth-165542428.html
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.