ถอดวิธีคิด “บริทาเนีย” บริษัทพัฒนาอสังหาฯ แนวราบ ที่กำลังจะ IPO

ถอดวิธีคิด “บริทาเนีย” บริษัทพัฒนาอสังหาฯ แนวราบ ที่กำลังจะ IPO

7 ธ.ค. 2021
ถอดวิธีคิด “บริทาเนีย” บริษัทพัฒนาอสังหาฯ แนวราบ ที่กำลังจะ IPO | THE BRIEFCASE
แม้จะเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์น้องใหม่ที่เพิ่งแจ้งเกิดในวงการได้ไม่นาน
แต่ บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI ซึ่งอยู่เบื้องหลังโครงการพัฒนาบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดที่มีศักยภาพการเติบโตสูง
ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ระยะเวลา” อาจไม่ได้เป็นตัวการันตีความสำเร็จได้เท่า “ผลงาน”
เพราะถ้าไปดูผลงานย้อนหลังจะพบว่า บริทาเนีย มีรายได้รวมปี 2561-2563 เติบโตเฉลี่ยต่อปี 113.16%
ปี 2561 มีรายได้รวม 515.47 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้รวม 1,561.01 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้รวม 2,342.09 ล้านบาท
และในปี 2564 (9 เดือนแรก) มีรายได้รวม 2,808.57 ล้านบาท
นอกจากตัวเลขดังกล่าว จะสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ยังตอกย้ำถึงการเป็น Specialist ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบได้อย่างไร้ที่ติ
ปัจจุบัน BRI มี 4 แบรนด์ในเครือ ได้แก่ เบลกราเวีย (Belgravia), แกรนด์บริทาเนีย (Grand Britania), บริทาเนีย (Britania) และไบรตัน (Brighton) ครอบคลุมลูกค้าหลากหลายเซกเมนต์
อะไรคือ Key Success ที่ทำให้ “บริทาเนีย” กลายเป็นขวัญใจของผู้ที่มองหาที่อยู่อาศัยแนวราบ
และยังสามารถแจ้งเกิดได้อย่างสง่างาม ท่ามกลางสมรภูมิธุรกิจ ที่มีดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ยึดหัวหาดอยู่ไม่น้อย
THE BRIEFCASE ชวนมาหาคำตอบกับแม่ทัพหญิงคนเก่ง คุณศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRI
ก่อนจะเฉลยถึงหมัดเด็ด คุณศุภลักษณ์ ฉายภาพให้เห็นเส้นทางของ “บริทาเนีย” ก่อนว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นบริษัทย่อยที่ Spin-Off ออกมาจากบริษัทแม่ คือ ​ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI)
ซึ่งเป็นหนึ่งในดีเวลลอปเปอร์แถวหน้าของเมืองไทย ที่เด่นเรื่องการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม
โดย “BRI” ถูกวางให้เป็น The New S Curve ของ ORI ที่จะบุกตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ
ซึ่งเป็นตลาดที่มีดีมานด์สูงขึ้นต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเมือง บวกกับวิถี New Normal
ที่ทำให้นิยามของบ้านเปลี่ยนไป จากที่อยู่อาศัยกลายเป็นทุกอย่างของชีวิต​
ส่วนเคล็ดลับที่ทำให้ทุกโครงการของ BRI ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนกลายเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ที่น่าจับตามอง คืออะไร
คุณศุภลักษณ์สรุปให้เข้าใจง่ายเป็น 4 หมัดเด็ด ดังนี้
1. เข้าใจอินไซต์ของผู้อยู่อาศัย
หน้าที่ของดีเวลลอปเปอร์คือ นำอินไซต์ของกลุ่มลูกค้าหลัก​ ​มาหลอมรวมกับความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่มี เพื่อตกผลึกออกมาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ลูกค้า
สำหรับ BRI กลุ่มลูกค้าหลักคือ Young Successor ที่ชอบความเรียบง่าย แต่สิ่งที่เลือกต้องพร้อมตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างครบครัน
ดังนั้น ทุกโครงการของ BRI จึงอยู่ภายใต้แนวคิด A Life You Love ให้ลูกค้าใช้ชีวิตในแบบที่รัก
สะท้อนนิยามของบ้าน ที่เป็นมากกว่าบ้าน ตอบโจทย์ทั้งการอยู่อาศัย​ ฟังก์ชันการใช้งาน
และที่สำคัญต้องเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานดี ๆ ให้สมาชิกในบ้านมีพลังที่จะก้าวไปสู่โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง
“เราดีไซน์บ้านอย่างเข้าใจบริบทของผู้อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป โดยยึดหลัก​ Human Centric ไม่ใช่ Customer Centric
เราไม่ได้มองแต่ลูกค้า หรือคนที่จะตัดสินใจซื้อบ้านของเราเท่านั้น แต่เรามองไปถึงครอบครัวของลูกค้า
นี่เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้โครงการของเรามีเอกลักษณํไม่เหมือนใคร
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ จากแต่ก่อนเราอาจจะออกแบบ Co-Working Space เพื่อให้ผู้คนมาใช้เวลาร่วมกัน เกิดเป็นคอมมิวนิตีใหม่
แต่ตอนนี้ Pain Point ของผู้คน คือ Social Distancing ทำให้ขาดการมีปฏิสัมพันธ์ เราเลยออกแบบ​ Co-Happy Space เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสขยายพื้นที่ Comfort Zone ของตัวเอง และมีความสุขกับการใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น
2. ทีมงานมืออาชีพ
แม้จะเป็นอสังหาฯ น้องใหม่ แต่ผู้บริหารและทีมงานที่เป็นกำลังสำคัญอยู่เบื้องหลัง BRI นั้นต้องใช้คำว่า​ “เก๋าเกม”
มีประสบการณ์ในวงการอสังหาฯ มามากกว่า 10 ปี ที่สำคัญมีความเป็นมืออาชีพ
จึงพร้อมรับมือกับสารพัดความท้าทาย รวมทั้งพร้อมปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์และยืดหยุ่นตามสถานการณ์
“เสน่ห์ของการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ นอกจากจะอยู่ในตลาดที่เป็น Real Demand​ เพราะผู้บริโภคซื้อ เพื่ออยู่อาศัยจริง
ยังมีความยืดหยุ่นพอสมควร อย่างเวลาพัฒนาโครงการ ถ้าเป็นแนวราบ เราสามารถลงทุนเป็นเฟส ไม่ต้องลงทุนก้อนใหญ่ทีเดียว
เพราะ​ในแต่ละโครงการ เราอาจจะมีบ้านที่สร้างเสร็จ พร้อมให้เข้าอยู่ไว้ล็อตหนึ่ง
แต่ส่วนที่กำลังก่อสร้าง เราอาจจะศึกษาเทรนด์หรือดีมานด์ของลูกค้าไปด้วยว่า ลูกค้ากำลังมองหาอะไร
เพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสิ่งที่ลูกค้ามองหา หรือบางครั้งอาจจะนำอินไซต์ที่ได้ไปต่อยอดในการพัฒนาโครงการต่อ ๆ ไป” ​
3. ติดอาวุธให้ทีมงานคิดแบบเชิงกลยุทธ์
นอกจากการมีกำลังพลที่ดีแล้ว BRI ยังส่งเสริมให้ทีมงานก้าวไปอีกขั้น ด้วยการสนับสนุนให้ทุกคนคิดวิเคราะห์ก่อนที่จะลงมือทำทุกงาน
ว่าทำงานนี้ไปเพื่ออะไร ผลประโยชน์ที่จะได้รับกลับมาคืออะไร ทำแล้วดีกับใคร ดีอย่างไร
เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกงานที่ออกมามีคุณค่า ไม่สูญเปล่า และยังเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ
“สไตล์การทำงานของเรา ไม่เน้นขั้นตอนเยอะ แต่เห็นเป้าหมายที่ตรงกัน เลยทำให้เรื่องยาก ๆ สำหรับคนอื่น กลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับเรา
สมมติจะพัฒนาโครงการใหม่ เราจะวิเคราะห์ว่า ทำไปแล้วลูกค้าจะได้อะไร ตอบโจทย์แนวคิด A Life You Love ให้ลูกค้าใช้ชีวิตในแบบที่รักที่เราวางไว้ ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายหรือไม่
ถ้าคำตอบคือใช่ทั้งสามข้อ ก็ลุยเลย
ที่นี่เราจะไม่ให้กำลังใจด้วยการบอกว่า สู้ ๆ แต่จะบอกว่า ลุยเลย
อีกอย่างที่เราให้ความสำคัญมาก คือ พลังของทีมเวิร์ก เราเชื่อว่า การมีทีมเวิร์กที่ดี เป็นอาวุธลับที่ใครก็ทำเลียนแบบไม่ได้ และทำให้เรามีพลังเหลือเฟือไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม”
4. จูนมายด์เซต​ “ทุกอย่างคือโอกาส”
การที่ BRI เจาะตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่า ธุรกิจอสังหาฯ เป็นวัฏจักร
เทรนด์แนวราบมาเดี๋ยวก็ไป ซึ่งคุณศุภลักษณ์ไม่แย้ง แต่มองว่า ตอนนี้เทรนด์แนวราบยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรเท่านั้น
“เราตั้งใจว่าจะโฟกัสตลาดแนวราบ เพราะเชื่อว่า​ ยังมีช่องว่างอีกเยอะให้เราเติบโต
อย่างในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เรามีแผนจะเปิดโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบอีก 6 โครงการ
ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมถึงพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมโซนภาคตะวันออก โดยเฉพาะบนทำเลโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)
รวมมูลค่าโครงการ 4,300 ล้านบาท
นอกจากนี้​ ในปี 2565 ยังมีแผนเปิดอีกอย่างน้อย 10 โครงการใหม่
5. การมีแบ็กอัปที่ดี
ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งแต้มต่อสำคัญของ BRI คือการได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเงิน, พาร์ตเนอร์ในเครือ, การมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง เมื่อมีการผลิตในปริมาณที่มากขึ้น รวมไปถึงเรื่องของแชร์ Data จาก ORI ซึ่งเป็น​ดีเวลลอปเปอร์ที่อยู่ในวงการมานาน มีการพัฒนาโครงการที่ครอบคลุมในหลายเซกเมนต์
จึงมีความรู้และความชำนาญ ที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยน และนำ Data ที่มี​ค่ามาก ๆ มาใช้ต่อยอดพัฒนาโครงการในอนาคตให้ยิ่งตรงใจลูกค้าได้อย่างดี
จาก Key Success ดังกล่าว ทำให้ BRI ไม่เพียงมั่นใจว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ธุรกิจจะยังคงเติบโตต่อไป แม้​จะไม่ได้โตแบบหวือหวา แต่เติบโตอย่างมั่นคง
และการที่บริษัทกำลังอยู่ในกระบวนการทำ IPO เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นอีกแต้มต่อสำคัญในการตอกย้ำการเป็น Specialist ในแนวราบ
เนื่องจาก BRI มีแผนว่าจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO ไปใช้พัฒนาโครงการ, ขยายธุรกิจในอนาคต พร้อมลดภาระเรื่องดอกเบี้ย ชำระเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณศุภลักษณ์ ย้ำว่า การติดนามสกุลมหาชน ไม่ได้ส่งผลดีแค่ในเชิงธุรกิจอย่างเดียว
แต่นี่คืออีกก้าวสำคัญ ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนให้โลกใบนี้
“เราไม่ได้เน้นแค่ตัวเลขหรือผลกำไรอย่างเดียว ไม่ได้มองแค่ว่า ทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง
แต่เราให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม มองไปถึงการสร้างความยั่งยืน
ภายใต้โจทย์ว่า เราจะรับผิดชอบต่อโลกที่เราอยู่อย่างไร เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขไปอีกนานแสนนานเช่นกัน”
ดังนั้น ถ้าถามว่าเป้าหมายที่คุณศุภลักษณ์อยากพา BRI ไปให้ถึง คืออะไร ?
แน่นอนว่า นอกจากการเป็นดีเวลลอปเปอร์ที่เน้นที่อยู่อาศัยแนวราบที่ติด Top 3
BRI ก็อยากเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนเช่นกัน..
หากนักลงทุนสนใจหุ้น IPO ของ BRI สามารถจองซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 7 - 9 ธันวาคม ที่ราคา 10.00 - 10.50 บาทต่อหุ้น โดยจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือ ORI ที่มีสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ BRI (Pre-emptive Rights) จองซื้อผ่านช่องทาง
1. จองซื้อผ่านระบบ Electronic Rights Offering (“E-RO”) บนเว็บไซต์ www.yuanta.co.th
2. ยื่นใบจองซื้อ ณ สำนักงานใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด
3.จองซื้อผ่านทางโทรศัพท์บันทึกเทป (สำหรับผู้ที่มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เท่านั้น)
ส่วนนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ จองซื้อได้ในวันที่ 13 – 15 ธันวาคมนี้ โดยมีผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด
รวมถึงผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 4 ราย ได้แก่
1.บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด
2. บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
3. บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)
4. บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
Reference
-วิดีโอสัมภาษณ์ ​​คุณศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI โดยเพจ THE BRIEFCASE
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.