สรุปแนวคิดผู้บริหาร ศักดิ์สยามลิสซิ่ง บริษัท 20,000 ล้าน ที่เติบโตโดยไม่ง้อกรุงเทพฯ

สรุปแนวคิดผู้บริหาร ศักดิ์สยามลิสซิ่ง บริษัท 20,000 ล้าน ที่เติบโตโดยไม่ง้อกรุงเทพฯ

15 ธ.ค. 2021
สรุปแนวคิดผู้บริหาร ศักดิ์สยามลิสซิ่ง บริษัท 20,000 ล้าน ที่เติบโตโดยไม่ง้อกรุงเทพฯ | THE BRIEFCASE
“กรุงเทพฯ​ และปริมณฑล” คือทำเลธุรกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย
ที่แทบทุกบริษัทในตลาดหุ้นไทย จะให้ความสำคัญ
ถ้าไม่มีการตั้งสำนักงานใหญ่ ก็จะต้องมีการขยายสาขา มาทำธุรกิจในทำเลทองแห่งนี้
แต่ยังมีอยู่บริษัทหนึ่ง ที่มีมูลค่าบริษัทกว่า 21,000 ล้านบาท
แต่กลับเลือกตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่ต่างจังหวัด
และไม่มีสาขาของบริษัท ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเลย
บริษัทนั้นคือ ศักดิ์สยามลิสซิ่ง หรือ SAK บริษัทลีสซิ่งที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์
จังหวัดเล็ก ๆ ทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งธุรกิจของศักดิ์สยาม ก็ได้เริ่มต้นขึ้นที่จังหวัดแห่งนี้ ก่อนจะขยายสาขาไปทั่วภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง และภาคตะวันตก
ผู้ก่อตั้งศักดิ์สยามลิสซิ่ง คือ ผศ. ดร.พูนศักดิ์ และ อ.จินตนา บุญสาลี ซึ่งทั้งสองท่านเป็นคนอุตรดิตถ์ มีอาชีพเดิมคือเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มาก่อน
จุดเริ่มต้นของศักดิ์สยาม มาจากการทำธุรกิจติดตามลูกหนี้ให้กับบริษัทขายตรง ต่อมาเมื่อธุรกิจขายตรงเริ่มซบเซาลง ก็ได้ผันตัวธุรกิจจากการติดตามหนี้มาเป็นธุรกิจลีสซิ่ง หรือธุรกิจให้สินเชื่อกับบุคคลรายย่อย
ซึ่งสิ่งสำคัญที่ผู้ก่อตั้งทั้งสองท่านให้ความสำคัญมาก ๆ ก็คือ “ความยั่งยืนขององค์กร”
ดังนั้นผู้บริหารจะต้องคิดวิธีหาหนทางต่อยอด เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปอย่างมั่นคง
รวมถึง “การทำให้พนักงานเห็นคุณค่าในงาน” โดยเฉพาะการให้บริการลูกค้า ที่จะต้องเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจนี้
ในวันนี้ ศักดิ์สยามลิสซิ่ง ได้ถูกส่งต่ออำนาจการบริหารมายัง คุณศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้เป็นลูกชายคนโตของทั้งสองผู้ก่อตั้ง
ซึ่งทั้งคุณศิวพงศ์, ผศ. ดร.พูนศักดิ์ และ อ.จินตนา ก็ได้ใช้หลัก 3 ประการ ในการบริหารและพัฒนา ศักดิ์สยามลิสซิ่ง ให้เติบโตต่อไป ซึ่งก็ประกอบไปด้วย
1. เมื่อมีการถ่ายโอนอำนาจการบริหารมายังรุ่นลูก สิ่งที่รุ่นพ่อแม่ควรทำคือ แค่เฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ
ด้วยความที่จุดเริ่มต้นของบริษัทก่อตั้งโดยคุณพ่อและคุณแม่ เมื่อถ่ายโอนอำนาจมายังรุ่นลูกแล้ว
สิ่งที่รุ่นบุกเบิกควรทำที่สุดก็คือ การออกมาเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ คอยให้คำปรึกษา และยกอำนาจการตัดสินใจให้อยู่ที่ลูก
การทำเช่นนี้จะทำให้ระบบงานมีประสิทธิภาพ และไม่สร้างความสับสนให้กับพนักงานว่าจะต้องฟังการตัดสินใจจากใคร
ซึ่งคุณศิวพงศ์ หลังเรียนจบปริญญาโทด้านวิศวกรรม จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) และทำงานที่บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ประมาณ 10 ปี
ก็ได้กลับมาสานต่อธุรกิจ โดยปรับปรุงระบบการทำงาน นำระบบ IT เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อให้ระบบงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. การเข้าใจพื้นฐานของลูกค้าอย่างแท้จริง
ด้วยความที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของศักดิ์สยามลิสซิ่ง เป็นคนต่างจังหวัด ซึ่งยังมีความคุ้นเคยกับการเข้าหาผู้ให้บริการมากกว่าการใช้เทคโนโลยี บริษัทจึงเชื่อว่าการมีสาขาและพนักงานที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการเข้าถึงลูกค้า ให้คำปรึกษา รวมไปถึงการประเมินและติดตามอยู่เสมอ
แผนการทั้งในปัจจุบันและอนาคตของบริษัท จึงมุ่งเน้นไปที่การขยายสาขาในแนวราบ
โดยโฟกัสไปถึงระดับตำบล เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด
3. บริการอย่างเป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า
สิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจให้สินเชื่อ คือ “ความเชื่อมั่น”
บริษัทต้องทำให้บริการทุกอย่างมีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรงไปตรงมา และให้บริการอย่างไม่จุกจิก หรือไปสร้างความรำคาญให้กับลูกค้า
โดยบริษัทได้โฟกัสในส่วนของการเลือกลูกค้าให้ดีตั้งแต่แรกแทน วิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าอย่างละเอียด เพื่อตัดปัญหาหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้น และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้าที่มีอยู่ดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุด
ภายในปี 2565 ศักดิ์สยามลิสซิ่ง ตั้งเป้าว่าจะมีสาขาประมาณ 929 สาขา
ครอบคลุม 47 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง และภาคตะวันตก
ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อเนื่องจากปี 2564
เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จะเติบโตอย่างไรในอนาคต
แต่ตราบใดที่การเข้าถึงสินเชื่อยังคงเป็นปัญหาสำหรับบุคคลรายย่อย
โอกาสที่จะเติบโตของ ศักดิ์สยามลิสซิ่ง ก็ยังคงมีอยู่อีกมาก โดยไม่ต้องง้อคนกรุงเทพฯ เลย..
References
-บทสัมภาษณ์ ผศ. ดร.พูนศักดิ์, อ.จินตนา และคุณศิวพงศ์ บุญสาลี โดย THE BRIEFCASE
-ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.