ทำไม ผู้นำที่ตัดสินใจยอดเยี่ยมหลายคน ใช้สัญชาตญาณ มากกว่านั่งคิดนาน ๆ

ทำไม ผู้นำที่ตัดสินใจยอดเยี่ยมหลายคน ใช้สัญชาตญาณ มากกว่านั่งคิดนาน ๆ

27 ธ.ค. 2021
ทำไม ผู้นำที่ตัดสินใจยอดเยี่ยมหลายคน ใช้สัญชาตญาณ มากกว่านั่งคิดนาน ๆ | THE BRIEFCASE
บางคนอาจจะเคยได้ยินหรือมีความเชื่อมาตลอดว่า ยิ่งมีข้อมูลเยอะและใช้เวลาวิเคราะห์นานเท่าไร
ก็จะยิ่งช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นเท่านั้น
แต่สำหรับการทำธุรกิจแล้ว บางครั้งการใช้ “สัญชาตญาณ” อาจช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีกว่า
Malcolm Gladwell นักเขียนหนังสือที่มียอดขายถล่มทลายทั่วโลก อย่าง “The Tipping Point” และ “Blink” ได้ยกย่องการตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณ โดยเรียกมันว่า “พลังแห่งการไม่คิด”
Malcolm Gladwell ระบุว่า พลังแห่งการไม่คิด หรือสัญชาตญาณ คือการคิดอย่างรวดเร็วที่ช่วยประหยัดพลังงานและเวลา เพราะมันสามารถทำได้ในชั่วพริบตา
อีกทั้งยังมีผู้บริหารอีกมากมาย ที่มองว่าบางครั้งการตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณ อาจจะดีกว่าการรอข้อมูลให้ครบถ้วน หรือใช้เวลานั่งพิจารณาที่ยาวนาน
ทำไมพวกเขาถึงเชื่อในพลังแห่งการไม่คิด ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง..
ขอยกตัวอย่าง คุณ Sri Sharma ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของ Net Media Planet ที่เป็นอีกคนที่เชื่อว่า การประสบความสำเร็จนั้นมาจากการมีสัญชาตญาณที่ดี
โดยคุณ Sharma กล่าวว่า เขามักจะพึ่งพาเรดาร์ส่วนตัวของเขา ซึ่งก็หมายถึง สัญชาตญาณของตัวเอง ตั้งแต่ช่วงที่เขาสร้างบริษัทของตัวเองเพียงคนเดียว ซึ่งเขาก็ยังคงใช้สัญชาตญาณแบบเดียวกัน แม้ถึงวันที่ธุรกิจของเขามีคนมากมาย และเติบโตไปกว่าเดิมหลายเท่า
เพราะสัญชาตญาณมันทำให้เขาคิดและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว
“ผมคิดว่าสัญชาตญาณของคุณ ความรู้สึกข้างในของคุณ มันเป็นเรดาร์ที่ถูกสร้างขึ้น จากประสบการณ์หลาย ๆ ปีที่เราได้ผ่านและเรียนรู้มันมา และแม้บ่อยครั้งเราจะเจอกับช่วงที่ข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้วิเคราะห์มา มันไปซัปพอร์ต หรือมีข้อยืนยันที่ตรงกับสัญชาตญาณของเรา แต่ในความเป็นจริง การใช้ข้อมูลมันไม่สามารถแทนที่สัญชาตญาณได้”
Dr. Martin Clark ผู้อำนวยการโครงการและธุรกิจของ Cranfield School of Management ก็ได้เห็นด้วยกับคุณ Sharma โดยเขากล่าวว่า “ข้อมูล บางทีก็ไม่ได้ให้คำตอบ”
เขามองว่าผู้นำหลายคน ได้ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลจากสเปรดชีต และติดกับดักบางอย่างของข้อมูลเหล่านั้น และหมกมุ่นจมดิ่งกับมันนาน จนทำให้การตัดสินใจบิดเบี้ยวไป
อย่าลืมว่ายุคนี้เป็นยุคที่ข้อมูลหลั่งไหลเข้ามามากมายในทุกวัน ทำให้กระบวนการตัดสินใจนั้นซับซ้อนและยุ่งเหยิงมากขึ้น
โลกของเรามีการวัดปริมาณ หรือมีกฎเกณฑ์เกิดขึ้นมากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
เช่น เกิดระบบธุรกิจอัจฉริยะ มีการนำเสนอโซลูชันแพ็กเกจการวิเคราะห์ธุรกิจ หรือธุรกิจเก็บฐานข้อมูล ซึ่งธุรกิจทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพื่อให้บริษัทต่าง ๆ มีความเข้าใจเชิงสถิติเกี่ยวกับลูกค้าของตัวเอง
ทั้งหมดนี้ถูกรวบรวมไว้ในสิ่งที่เรียกว่า Big Data ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลสถิติที่ใหญ่ระดับคลื่นยักษ์สึนามิ ที่หลั่งไหลเข้าสู่ธุรกิจในแต่ละวัน
ลองคิดดูว่าหากเราต้องเผชิญกับข้อมูลที่มากมายขนาดนี้ แล้วไม่จัดการให้ดี หรือหยิบข้อมูลมาเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งพอเอาไปเทียบกับภาพรวมแล้ว มันสื่อความหมายไปคนละทางกัน มันก็ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
ดังนั้นความท้าทายที่แท้จริงสำหรับ Dr. Martin Clark และคุณ Sri Sharma คือความสามารถในการตีความข้อมูลเหล่านั้น และหยิบข้อมูลมาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมมากกว่า
อีกทั้งการที่เรามีข้อมูลที่มากเกินไป อาจนำไปสู่สิ่งที่นักจิตวิทยา เรียกว่า การวิเคราะห์อัมพาต (Analysis Paralysis) คือ แนวคิดที่ว่าการมีข้อมูลมากเกินไป อาจขัดขวางความถูกต้องของการตัดสินใจ หรือไปลดความเร็วในการตัดสินใจนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจ บางครั้งก็ไม่ใช่เพราะการได้รับข้อมูลที่มากเกินไปเสียทีเดียว แต่เป็นเพราะความไม่แน่นอนของโลกและเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นเราอาจจะใช้สัญชาตญาณกับทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้
และสำหรับข้อควรระวัง ในการใช้สัญชาตญาณในเวลาที่ต้องตัดสินใจก็คือ เราต้องไม่ใช้ตอนที่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะถ้าเราถูกอารมณ์ชักนำ จะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ เพราะอารมณ์จะไปบดบังสัญชาตญาณของเราทั้งหมด และไปควบคุมสติปัญญาของเราแทน
ดังนั้น ความท้าทายที่ผู้นำยุคนี้ต้องเจอก็คือ ต้องหาสมดุลให้ดีระหว่างสัญชาตญาณ กับความเข้าใจในข้อมูลต่าง ๆ
รวมถึงต้องแยกแยะให้ได้ว่า สิ่งที่เราตัดสินใจนั้นมันมาจากสัญชาตญาณ หรือมาจากอารมณ์กันแน่..
References
-https://www.theguardian.com/careers/careers-blog/instinct-insight-how-leaders-make-decisions-management
-https://en.wikipedia.org/wiki/Analysis_paralysis
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.