การลงทุนที่ดี อาจเรียบง่ายกว่าที่คิด

การลงทุนที่ดี อาจเรียบง่ายกว่าที่คิด

1 ม.ค. 2022
การลงทุนที่ดี อาจเรียบง่ายกว่าที่คิด | THE BRIEFCASE
เมื่อพูดถึงการลงทุน หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของคนรวย และไกลเกินตัว
จนส่งผลให้ละเลยโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งในชีวิต
วันนี้ THE BRIEFCASE จะมาเล่าถึงชีวิตของคนสองคน ที่ลงทุนแบบธรรมดาแต่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เห็นว่า การลงทุนที่ดีอาจเรียบง่ายกว่าที่คิด จนใคร ๆ ก็สามารถทำตามได้
โดยคนแรกคือ โรนัลด์ รีด ภารโรงชาวอเมริกัน
รีดเกิดในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างยากจน นั่นทำให้ชีวิตวัยเด็กของเขาเรียนได้แค่ชั้นมัธยมเท่านั้นก็ต้องออกจากระบบการศึกษาไป และสมัครเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
หลังจากปลดประจำการทหาร เขาก็หันมาทำงานเป็นพนักงานช่างที่ปั๊มน้ำมัน
ก่อนที่เวลาต่อมาจะทำงานเป็นภารโรงที่ห้างสรรพสินค้า
และเมื่ออายุ 76 ปี รีดได้เกษียณตัวเอง และใช้ชีวิตบั้นปลายที่เหลืออย่างสงบสุข
เล่ามาถึงตรงนี้ อาจจะดูเป็นเรื่องราวธรรมดาของชายคนหนึ่ง ถ้าหากเวลาต่อมาครอบครัวของเขาไม่พบเจอว่า มรดกที่รีดทิ้งไว้คือทรัพย์สินที่มีมูลค่ารวมถึง 270 ล้านบาท
อีกคนที่มีเรื่องราวคล้ายกัน คือแอนน์ ไชเบอร์ พนักงานตรวจภาษี
เธอเป็นพนักงานที่ใช้ชีวิตธรรมดา อาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์เก่า ๆ และไม่ค่อยใช้เงินซื้อของอะไรมากนัก เรียกว่า เป็นคนประหยัด ก็ว่าได้
เธอเกษียณเมื่ออายุแตะเลข 5 เหมือนกับคนทั่วไป
และใช้ชีวิตบั้นปลายที่เหลืออย่างสงบสุข เช่นเดียวกันกับรีด
แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดา คือหลังจากที่ไชเบอร์เสียชีวิต เธอได้มอบทรัพย์สินทั้งหมด ให้แก่มหาวิทยาลัยเยชิวาเพื่อช่วยเหลือผู้หญิง โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาส คิดเป็นมูลค่าถึง 740 ล้านบาท
ซึ่งก็สร้างความแปลกใจ ให้คนรอบตัวอย่างมาก เพราะตอนเธอเกษียณมีเงินเก็บสะสมเพียง 170,000 บาท และได้รับเงินช่วยเหลือเพียง 100,000 บาทต่อปี
อะไรทำให้ทั้งสองมีทรัพย์สินสูงขนาดนี้ แม้ว่าพวกเขาจะเป็นลูกจ้างธรรมดา
คำตอบคือ “การลงทุน” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หลักการลงทุนของทั้งคู่ ไม่ได้ยุ่งยาก หรือคิดสูตรอะไรมากมายอย่างที่หลายคนคาดเดา แต่กลับเป็นการลงทุนง่าย ๆ ที่ใครก็เข้าใจได้
โดยหลักการลงทุนของพวกเขา สรุปได้ดังนี้
1. ลงทุนในธุรกิจที่เข้าใจ หลีกเลี่ยงธุรกิจที่ไม่เข้าใจ
แม้ว่าหลายครั้งที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี จะพุ่งทะยาน
แต่รีดก็ไม่เคยลงทุนในหุ้นกลุ่มเหล่านี้เลย เพราะตนไม่เข้าใจรูปแบบธุรกิจ
ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้ส่งผลให้เขาไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนแต่อย่างใด และการหลีกเลี่ยงหุ้นที่ตนไม่เข้าใจยังนับว่าเป็นผลดีด้วย เพราะนั่นทำให้พอร์ตของเขารอดในช่วงวิกฤติฟองสบู่ดอตคอม แตกต่างจากคนอื่น ๆ อีกหลายคนที่ต้องเจ๊ง จนเงินที่สะสมมาตลอดชีวิตหายไปหมด
ไชเบอร์เองก็ไม่ต่างจากรีด โดยเธอจะลงทุนเฉพาะในบริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้าและบริการที่ตนคุ้นเคย เพราะจะสามารถรู้ได้ว่า ธุรกิจที่ลงทุนอยู่นั้นดีจริงหรือไม่
จากความเข้าใจนี้เองทำให้พวกเขามั่นใจที่จะถือหุ้น แม้ว่าจะมีบ้างที่ราคาหุ้นนั้นลดลง
2. ลงทุนในแบรนด์ผู้นำตลาด หรือแบรนด์ที่ตัวเองใช้
กรณีนี้จะเห็นได้ชัดสำหรับไชเบอร์ เพราะหุ้นแต่ละตัวที่เธอเลือกลงทุน ล้วนมาจากการใช้สินค้าและบริการเองทั้งหมด
เช่น Coca-Cola หรือผู้ผลิตโค้ก ก็เป็นเครื่องดื่มที่เธอชื่นชอบ, Schering-Plough บริษัทยา และ Columbia Pictures บริษัทผลิตภาพยนตร์และจัดจำหน่าย เธอก็ได้มาจากนิสัยที่ชอบดูทีวี
3. กระจายความเสี่ยง
รีดเองก็เคยมีหุ้นที่ถือแล้วขาดทุน จากการล้มละลายในช่วงวิกฤติการเงินปี 2008 อย่าง Lehman Brothers แต่ด้วยการกระจายถือหุ้นหลายตัว นั่นทำให้พอร์ตของเขาได้รับผลกระทบจำกัด
4. ลงทุนระยะยาว เปรียบเสมือนเป็นเจ้าของบริษัท
เมื่อไชเบอร์ซื้อหุ้นที่เลือกแล้ว จะถือไว้ตลอดโดยไม่ขายออกไปเลย แม้ว่าตลาดหุ้นจะตกลงมาอย่างหนักก็ตาม ไม่ใช่เพราะความดื้อรั้น แต่เธอคิดว่าตราบใดที่สินค้าและบริการนั้น ๆ ตัวเองและคนรอบข้างยังคงซื้ออยู่ ธุรกิจก็ยังเติบโตต่อไปได้ สุดท้ายแล้วราคาจะกลับมาสูงอีกครั้ง
และหากเธอได้รับปันผลมา ก็จะเอาเงินส่วนนี้กลับไปลงทุนในหุ้นอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือหลักการลงทุนที่เรียบง่าย แต่สร้างผลตอบแทนมหาศาลของทั้งสองคน
จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วการลงทุนที่ดีสุดนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคมากมาย หรือลงทุนในสิ่งที่ดูเข้าใจยากเลย
เราแค่เริ่มจากการลงทุนในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
เช่นเดียวกับ รีดและไชเบอร์ ที่ลงทุนเฉพาะสิ่งที่ตนเข้าใจ
จนประสบความสำเร็จด้านการเงินในท้ายที่สุด..
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Anne_Scheiber
-https://www.thebalance.com/how-anne-scheiber-made-22-million-investing-357847
-https://www.washingtonpost.com/archive/business/1995/12/17/an-old-ladys-lesson-patience-usually-pays/ec000053-d7bf-4014-b841-546bd5847a80/?utm_term=.57608cd0396b
-https://www.cnbc.com/2016/08/29/janitor-secretly-amassed-an-8-million-fortune.html
-https://www.fool.com/investing/general/2015/02/15/how-did-a-janitor-amass-8-million-the-same-way-you.aspx
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.