รู้จัก Hindsight Bias ที่ทำให้คนปัดความรับผิดชอบ เพราะคำว่า “รู้อยู่แล้ว”

รู้จัก Hindsight Bias ที่ทำให้คนปัดความรับผิดชอบ เพราะคำว่า “รู้อยู่แล้ว”

11 ม.ค. 2022
รู้จัก Hindsight Bias ที่ทำให้คนปัดความรับผิดชอบ เพราะคำว่า “รู้อยู่แล้ว” | THE BRIEFCASE
“ว่าแล้ว ว่าต้องเป็นแบบนี้”
หรือ “รู้อยู่แล้วว่าโครงการนี้จะไปไม่รอด ไม่น่าทำเลย”
เชื่อว่าหลาย ๆ คงคุ้นเคยกับคำคำนี้ ไม่ว่าเราจะเคยพูดเอง หรือเคยมีคนมาพูดกับเรา
แต่คำถามคือ ถ้าเรารู้จริง ๆ ว่าผลลัพธ์จะเกิดขึ้นแบบไหน ทำไมเราถึงตัดสินใจพลาด หรือปล่อยให้ผลลัพธ์เป็นแบบเดิม ?
หรือว่าจริง ๆ แล้ว เราไม่ได้รู้จุดจบของเหตุการณ์ล่วงหน้านั้นเลย
แล้วอะไรทำให้เรารู้สึกแบบนั้น ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนว่ารู้ตอนจบอยู่แล้ว เรียกว่า Hindsight Bias หรือ อคติแห่งการมองย้อนหลัง
ซึ่งก็คือ การที่เราเจอเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่ได้ผ่านมาแล้ว เราก็มักจะคิดว่า เรารู้มาก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น หรือรู้จุดจบของมัน
ซึ่งเรื่องนี้ก็มีผลการศึกษาที่น่าสนใจ
คือ ได้มีการสำรวจผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจสตาร์ตอัป ที่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยจากการรวบรวมผลสำรวจ ก็พบว่าก่อนที่บริษัทจะล้มเหลว มีผู้ประกอบการกว่า 77% ที่เชื่อว่า ธุรกิจของตัวเองจะประสบความสำเร็จ
แต่หลังจากที่ธุรกิจของพวกเขาไปไม่รอด กลับมีผู้ประกอบการเพียง 58% เท่านั้นที่บอกว่า พวกเขาเคยเชื่อว่าธุรกิจของเขาจะประสบความสำเร็จ
หรือพูดง่าย ๆ คือ ผู้ประกอบการอีก 19% ที่เคยตอบว่าธุรกิจจะไปได้สวย กลับมาตอบว่า รู้อยู่แล้วว่าธุรกิจ
สตาร์ตอัปของตัวเองจะไปไม่รอด
ซึ่งการตอบในลักษณะนี้ ทำให้เห็นว่า กลุ่มผู้ประกอบการ 19% นั้น มี Hindsight Bias
คุณ Richard Thaler นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ก็เชื่อว่าอคติการมองย้อนหลัง หรือ Hindsight Bias เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับการบริหารจัดการ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้
เช่น ตอนที่คุณ Thaler ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร McKinsey Quarterly ถึงตัวอย่างปัญหาจาก Hindsight Bias คือ เมื่อ CEO ตัดสินใจที่จะเดิมพันกับไอเดียธุรกิจที่ค่อนข้างดูดี แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปีกลับกลายเป็นว่าคู่แข่งมีผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่า CEO ก็อาจจะออกมาพูดว่า “ฉันไม่เคยชอบความคิดนี้เลย”
หรือการที่ผู้จัดการถูกโน้มน้าวให้ทำโครงการที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงลิ่ว
ซึ่งผู้จัดการที่รับผิดชอบโครงการนี้ก็มักจะกังวล ไม่กล้าลงมือทำ
โดยมีเหตุผลสำคัญคือ หากโครงการที่เขารับผิดชอบนั้นล้มเหลวขึ้นมา พวกเขาก็จะถูกต่อว่า
และอคติการมองย้อนกลับจะยิ่งรุนแรงขึ้น
เพราะตอนที่โครงการเกิดปัญหา ก็มักเกิดการโบ้ยความผิดโทษกันไปมา เช่น ไปต่อว่าคนที่เป็นผู้จัดการ
ว่าควรมองเห็นต้นตอของปัญหามาแล้วล่วงหน้า
และด้วยอคติของการมองย้อนหลัง ก็จะทำให้บางคน เกิดความคิดขึ้นมาในหัวว่า “ฉันรู้อยู่แล้วว่าโครงการนี้จะมีปัญหา” และลอยตัวปัดความรับผิดชอบทิ้งไป
พอเรื่องเป็นแบบนี้บ่อย ๆ ก็คงไม่มีใครอยากที่จะก้าวเข้ามารับผิดชอบโครงการ
หรือกล้าลงมือทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อบริษัทเลย
เพราะจริง ๆ แล้ว ในช่วงเวลาที่เราตัดสินใจลงมือทำอะไรบางอย่าง เราก็มีข้อมูลอยู่เท่า ๆ กัน
แต่ทำไมพอล้มเหลว กลับผลักให้คนคนหนึ่งรับผิดชอบ ด้วยการออกมาพูดว่า “รู้อยู่แล้วว่าเรื่องจะจบแบบนี้
แล้วก็ไม่รับผิดชอบ”
ซึ่งถ้าเราเห็นข้อผิดพลาดอยู่แล้ว ทำไมถึงไม่ออกมาบอกตั้งแต่แรก
หรือจริง ๆ แล้ว เราไม่ได้รู้อะไรเลย แต่มีอคติการมองย้อนหลังมาบังตา
แต่ยังมีอีกสิ่งที่ทำให้เรื่องราวยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก
คือการมองเห็นอคติในตัวของทุกคน ยกเว้นตัวเอง..
References
-https://www.britannica.com/topic/hindsight-bias
-https://toggl.com/blog/hindsight-bias-workplace
-https://www.bbc.com/worklife/article/20190430-how-hindsight-bias-skews-your-judgement
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.