รู้จัก Parkinson’s Law ที่บอกว่า เรื่องของเวลา มีเท่าไรก็มักไม่พอ

รู้จัก Parkinson’s Law ที่บอกว่า เรื่องของเวลา มีเท่าไรก็มักไม่พอ

24 ม.ค. 2022
รู้จัก Parkinson’s Law ที่บอกว่า เรื่องของเวลา มีเท่าไรก็มักไม่พอ | THE BRIEFCASE
ถ้าถามว่า อะไรที่ทำให้เราทำงานหนึ่งไม่เสร็จ หรือทำได้ไม่ดีอย่างที่หวังไว้ คำตอบคงเป็นเรื่องของการ “มีเวลาไม่มากพอ”
แต่หลายครั้ง เมื่อมองลงไปลึก ๆ สาเหตุที่แท้จริงของการไม่มีเวลานั้น อาจเกิดจากการที่เราปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป จนไม่เหลือเวลาเองเสียมากกว่า
ถ้าเป็นเช่นนั้น เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วย Parkinson’s Law ที่ว่าด้วยเรื่องเวลาของการทำงาน ที่มีเท่าไรก็มักไม่พอ
กฎนี้น่าสนใจอย่างไร THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับ Parkinson’s Law เราลองถามตัวเราก่อนว่า เคยผ่านหรือเห็นเหตุการณ์เหล่านี้มาบ้างไหม
- หัวหน้ามอบหมายให้ทำรายงาน โดยกำหนดส่งภายใน 1 เดือน ซึ่งเราก็ทำเสร็จภายในกำหนด ต่อมาหัวหน้ามีงานแบบเดียวกันนี้ กำหนดส่งภายใน 2 เดือน เรากลับเลือกที่จะทำในช่วงเดือนที่ 2 ทั้ง ๆ ที่เราสามารถเลือกทำในเดือนแรกให้เสร็จแต่เนิ่น ๆ
- ตอนต้นปีเราตั้งเป้าจะลดน้ำหนักลงปลายปีนี้ แต่เราอาจจะหันมาเริ่มดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ทานอาหารที่มีประโยชน์ ในช่วงกลางปี แทนที่จะทำตั้งแต่ต้นปีตอนที่ตั้งใจเลย
- อีก 1 เดือนจะสอบ เรามักจะมาเร่งอ่านหนังสือในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย แทนที่จะอ่านมาก่อนหน้านี้
- คนที่สูบบุหรี่หรือติดเหล้า แม้จะรู้ว่ามันไม่ดีและตั้งใจอยากจะเลิกสิ่งเหล่านั้นมาตั้งนานแล้ว แต่กว่าจะเลิกได้จริงก็ต้องรอให้สุขภาพย่ำแย่เสียก่อน
- คนที่ตั้งใจจะเก็บเงินเกษียณอายุตั้งแต่เริ่มทำงาน แต่บางคนกว่าจะเริ่มอย่างจริงจัง อาจเหลือเวลาไม่กี่ปีก่อนที่จะเกษียณ จนหลายครั้งก็เก็บเงินไม่ทัน
จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ว่ามานี้ มักจะถูกขยายออกไปใกล้ช่วงเดดไลน์หรือช่วงที่กำลังจะเกิดบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญ ทั้ง ๆ ที่เราสามารถเริ่มทำมันมาก่อนหน้านี้ได้ตั้งนานแล้ว
ทำไมเราต้องรอให้บางสิ่งบางอย่างกำลังจะเกิดขึ้นก่อน เราถึงค่อยลงมือทำ ?
ปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายได้ด้วยกฎพาร์กินสัน หรือ “Parkinson’s Law”
Parkinson’s Law ถูกอธิบายไว้โดยนักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวอังกฤษชื่อ Cyril Northcote Parkinson ซึ่งเขาเป็นคนที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และธุรกิจมากมายหลายเล่ม
แต่งานเขียนที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญในด้านศาสตร์การบริหารธุรกิจ คือ หนังสือเกี่ยวกับกฎของพาร์กินสัน (Parkinson’s Law) ซึ่งเขียนไว้ใน The Economist เมื่อปี 1955
ซึ่งใจความสำคัญของกฎนี้คือ “work expands so as to fill the time available for its completion”
หรือ “งานต่าง ๆ มักถูกขยายเวลาออกไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังมีเวลาเหลืออยู่”
เรื่องนี้เกิดมาจาก การที่เขาตั้งข้อสังเกตสมัยที่เขายังทำงานอยู่กับหน่วยงานข้าราชการพลเรือนของอังกฤษ ว่าคนที่นี่ทำงานกันไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
เพราะหลายครั้งเขามองว่า เมื่อหน่วยงานได้มอบหมายงานต่าง ๆ ให้พนักงานทำ พนักงานมักจะเริ่มทำเมื่อใกล้กำหนดส่ง
และในเวลาต่อมาเมื่อมีการมอบหมายงานลักษณะเดียวกัน เพียงแต่กำหนดเวลาส่งให้สั้นลงกว่าเดิม หลายครั้งพนักงานก็ยังสามารถทำงานนั้นเสร็จอยู่ดี แล้วทำไมพวกเขาถึงไม่ทำให้เสร็จตั้งนานแล้ว เพื่อที่จะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นต่อ
นี่จึงเป็นคำถาม ที่ทำให้เกิด Parkinson’s Law ขึ้น
แล้วเราสามารถใช้ประโยชน์จาก Parkinson’s Law ได้อย่างไร ?
กฎดังกล่าว มาจากรากฐานของแนวคิดที่ว่า งานบางงานถ้าเราสามารถจัดการให้เรียบร้อยได้เลย เราก็ไม่ควรปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเรื่อย ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เราไม่ได้มีงาน หรือสิ่งอื่นที่เร่งด่วนกว่าให้ต้องทำ
นอกจากนี้ การที่เราสามารถจัดการงานให้เสร็จก่อนกำหนด ยังช่วยให้เรามีเวลาเหลือเพื่อนำเอาไปทำอย่างอื่นได้อีกด้วย
ขณะที่การที่เราไม่ได้สะสางงานที่ควรจะทำให้เสร็จมาก่อนหน้า ไม่เพียงแต่งานที่ทำออกมานั้น อาจไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่คาดไว้ แต่อาจทำให้เราเกิดความกดดันในตัวเองเมื่อต้องมาทำงานใกล้ ๆ เดดไลน์ เพราะอาจเกิดความเครียดและความกดดันในที่สุด
จริงอยู่ที่ว่า งานบางอย่างเราอาจเลื่อนหรือขยับเวลาออกไปก่อนแล้วค่อยเริ่มทำ หรือบางคนอาจชอบทำงานใกล้ ๆ เดดไลน์ เพราะระยะเวลาที่กระชั้นเข้ามาเรื่อย ๆ นั้น จะสามารถช่วยดึงศักยภาพที่แท้จริงของตนเองออกมาได้ดีกว่าการเริ่มทำมันตั้งแต่เนิ่น ๆ
แต่ประเด็นสำคัญคือ การที่เราต้องสามารถจัดสรรเวลาที่เหมาะสมให้กับงานแต่ละงานหรือสิ่งที่สำคัญ
เพราะงานบางอย่าง สิ่งบางสิ่งนั้น การเริ่มทำเร็ว จะเป็นผลดีกว่าการที่เราเลื่อนเวลาออกไปเรื่อย ๆ
เช่น การดูแลรักษาสุขภาพให้ดี การเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณ
เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเครียด หรือมานั่งเสียใจในอนาคต ว่ารู้งี้ทำไมเราไม่รีบทำตั้งแต่เนิ่น ๆ..
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Parkinson%27s_law
-https://en.wikipedia.org/wiki/C._Northcote_Parkinson
-https://www.developgoodhabits.com/parkinsons-law/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.