สรุปเทคนิค เปลี่ยนการระดมความคิดแบบเดิม ๆ ให้ไม่น่าเบื่อ

สรุปเทคนิค เปลี่ยนการระดมความคิดแบบเดิม ๆ ให้ไม่น่าเบื่อ

27 ม.ค. 2022
สรุปเทคนิค เปลี่ยนการระดมความคิดแบบเดิม ๆ ให้ไม่น่าเบื่อ | THE BRIEFCASE
พอพูดถึงการระดมไอเดีย หรือการ Brainstorm หลายคนพอได้ยินอาจรู้สึกอยากส่ายหัว เพราะเป็นเรื่องที่ฟังแล้วอาจจะดูน่าเบื่อ และซ้ำซากไปมา
วันนี้ THE BRIEFCASE จะพามารู้จัก วิธีที่ช่วยทำให้องค์กรนั้นกลายเป็นแหล่งรวมนักคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ด้วยวิธีที่ไม่น่าเบื่อกัน
ซึ่งหนึ่งในวิธีที่เวิร์กที่สุดก็คือ การจัดการแข่งขันประลองไอเดียกันนั่นเอง
แล้วเราจะมีวิธีทำอย่างไรให้การแข่งขันนี้มีความสนุก น่าสนใจ และไม่น่าเบื่อ ?
1. จัดกลุ่มให้มีความหลากหลาย
แทนที่เราจะจัดการแข่งขันนี้ขึ้นกับแผนกเพียงแผนกเดียว ให้ลองเปลี่ยนมาเป็นการจัดทีมให้แข่งกันทั้งบริษัท
โดยจากเดิมที่เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ หรือจับคนในแผนกเดียวกันมาแข่งกัน ก็ให้ลองเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มย่อยลงไปอีก โดยให้ในแต่ละกลุ่มมีพนักงานจากหลากหลายแผนกมากขึ้น เช่น
จัดกลุ่มทีมละประมาณ 6-8 คน โดยให้แต่ละคนมาจากแผนกต่าง ๆ เช่น แผนกขาย มาร์เก็ตติง ลูกค้าสัมพันธ์ วิศวกร การผลิต และแผนกอื่น ๆ
ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น และยังช่วยให้แต่ละคนที่มาจากแผนกที่หลากหลาย ได้เรียนรู้มากกว่างานที่ตัวเองทำ เข้าใจภาพรวมของสิ่งที่บริษัททำอยู่มากขึ้นอีกด้วย
2. สร้างกฎเกณฑ์การแข่งขันให้ชัดเจน และกำหนดรางวัลเป็นตัวเสริมแรงจูงใจ
จัดการแข่งขัน โดยอธิบายกฎเกณฑ์ และเป้าหมายของการแข่งขันให้ชัดเจน
กฎเกณฑ์ - อธิบายให้ชัดเจนในเรื่องของวิธีการนับคะแนน เกณฑ์การให้คะแนนต่าง ๆ โดยอาจเน้นไปที่การให้คะแนนในเรื่องไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงระยะเวลาการแข่งขัน เช่น บางบริษัทอาจเลือกแข่งเป็นแบบวันเดียวจบ หรือบางบริษัทอาจเลือกใช้เวลานานหลายสัปดาห์
รางวัล - ควรเลือกของรางวัลที่มีความดึงดูด และมีคุณค่าสำหรับคนในองค์กร เช่น อาจเลือกเป็นเสื้อสกรีนลายพิเศษ ที่มีคำว่า ผู้ชนะสกรีนไว้ให้กับสมาชิก
หรือสิทธิพิเศษในการใช้งานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัท
3. กิจกรรมในการแข่งขัน
ลักษณะของเกมนี้ คือ การให้คนในทีม พยายามช่วยกันหาปัญหา หรือช่องว่างของบริการ หรือสินค้าของบริษัท ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แล้วจึงช่วยกันระดมสมอง หาวิธีในการแก้ไขที่เป็นไปได้มาให้มากที่สุด
ซึ่งในส่วนของการระบุปัญหานั้น แผนกที่จะทำได้ดีอาจเป็นส่วนของฝ่ายขาย หรือลูกค้าสัมพันธ์ เนื่องจากพวกเขาต้องมีการพูดคุยกับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา
โดยในช่วงแรกนั้นจะเป็นการช่วยกันโยนไอเดีย วิธีการแก้ปัญหาออกมาก่อน โดยยังไม่ต้องลงลึกถึงรายละเอียดวิธีการมาก หลังจากนั้นจึงค่อยปล่อยให้คนในทีม โหวตเลือกวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดมา 3-5 วิธี
เมื่อเลือกได้แล้วจึงค่อยมาลงลึกถึงวิธีการนำไปใช้ หรือทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
4. การให้คะแนน
การให้คะแนน นอกจากเกณฑ์ให้คะแนนแบบทั่วไปแล้ว อาจมีการเสริมเกณฑ์ให้คะแนน สำหรับรางวัลพิเศษต่าง ๆ เช่น ทีมที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด ทีมที่คิดปัญหาออกมาได้แปลกที่สุด หรืออาจมีการเปิดให้โหวตเพื่อเลือกไอเดียที่คนในบริษัทชอบมากที่สุด
สุดท้ายนี้ จุดประสงค์ของการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ก็คือ เพื่อการสร้างสภาพแวดล้อมในการประลองไอเดียที่สนุกสนานไม่น่าเบื่อ เพื่อให้คนทั้งบริษัทได้มีส่วนร่วม ในการเสนอไอเดีย และนวัตกรรมใหม่ ๆ
ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจที่ได้จากการแข่งขันคือ การเสนอไอเดียต่าง ๆ ก็ยังคงเกิดขึ้นต่อไป แม้ว่าการแข่งขันจะสิ้นสุดไปแล้ว เพราะการแข่งขันในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแข่งเพื่อหาไอเดียแล้ว มันยังสามารถจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ ให้กับคนที่ไม่ได้มีโอกาสในการร่วมการแข่งขันได้อีกด้วย..
Reference
-https://medium.com/@steve_2150/a-fun-way-to-create-an-innovation-culture-in-your-business-9de8811bf0d2
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.