ย้ายงานไปที่ใหม่ ควรทำอย่างไรกับ Provident Fund ?

ย้ายงานไปที่ใหม่ ควรทำอย่างไรกับ Provident Fund ?

28 ม.ค. 2022
ย้ายงานไปที่ใหม่ ควรทำอย่างไรกับ Provident Fund ? | THE BRIEFCASE
แม้พนักงานหลายคนจะมีการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)
แต่เมื่อต้องย้ายไปที่ทำงานใหม่ หลายคนก็เกิดอาการสับสนว่า ต้องจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไร เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์
THE BRIEFCASE จะสรุปประเด็นนี้ให้คนที่กำลังย้ายงานใหม่ได้เข้าใจแบบไม่เสียผลประโยชน์กัน
โดยวิธีในการจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานที่ย้ายงานนั้นสามารถทำได้ 4 วิธีด้วยกัน คือ
1. คงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับบริษัทเดิม
ในการคงเงินไว้ หมายความว่าเงินของเรายังมีการลงทุนต่อไป เพียงแต่ไม่ได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเก่าเท่านั้น
โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมการคงเงินไว้ที่ 500 บาทต่อปี (อ้างอิงจาก SET investnow)
ซึ่งสามารถฝากไว้ได้ไม่ต่ำกว่า 90 วัน และไม่เกินตามที่เงื่อนไขของแต่ละกองทุนกำหนด
หลายคนเลือกใช้วิธีนี้ในช่วงแรกของการเริ่มงาน เพราะก่อนที่เราจะได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ จะมีช่วงของ “การทดลองงาน” ซึ่งระยะเวลาในการทดลองงานก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 4-6 เดือน และบางทีอาจจะต้องรอให้ผ่านการทดลองงานไปก่อน ถึงจะเข้าเป็นสมาชิกกองทุน หรือสามารถเลือกกองทุนใหม่ได้
2. ย้ายเงินไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำงานใหม่
ในกรณีที่บริษัทใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ การขอย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทเดิมไปออมต่อกับที่บริษัทใหม่ ก็เป็นทางเลือกที่ดีและมักนิยมทำกัน เพราะเงินในกองทุนมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และอายุของสมาชิกกองทุนก็ถูกนับต่อเนื่องอีกด้วย
โดยสามารถทำได้ 2 แบบ นั่นก็คือการนำเช็คกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม ไปให้ทาง HR ของบริษัทใหม่ดำเนินการต่อให้ หรือให้บริษัทเดิม จัดการส่งเช็คไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทใหม่ให้เลย
3. ย้ายไปกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
สำหรับคนที่ออกจากที่ทำงานเดิมและย้ายไปที่ทำงานใหม่ แต่บริษัทใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ ในปัจจุบันสามารถโอนย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือที่เรียกว่า “RMF” (Retirement Mutual Fund) ซึ่งเป็นอีกวิธีที่นิยมทำกัน เพราะสามารถนำไปลดหย่อนภาษี แถมเป็นการลงทุนระยะยาว โดยมีข้อกำหนดถอนเงินออกมาได้เมื่อถือครองจนถึงอายุ 55 ปี หรือถือไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ
โดยในปัจจุบัน RMF for PVD มีให้เลือกลงทุนมากถึง 128 กองทุน จาก 10 บลจ. (อ้างอิงข้อมูลจาก ก.ล.ต.) และมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายพร้อมให้เราได้เลือกสรรจัดการการลงทุนได้ด้วยตัวเองอีกด้วย
4. ขายทิ้ง
วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมและไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากจะทำให้เราสูญเสียผลประโยชน์ทางด้านภาษี เพราะหากออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนอายุ 55 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด ในส่วนของผลประโยชน์จากเงินสมทบ และผลประโยชน์จากเงินสะสมของเรา จะถูกนำไปคิดรวมกับเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ต่อไป
นอกจากนี้ยังรวมถึงการโดนเรียกสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากปีที่ผ่าน ๆ มาคืนอีกด้วย ซึ่งภาพรวมเป็นวิธีที่ขาดทุนมากกว่าได้กำไร และถ้าหากเราบริหารจัดการภาษีไม่ดี อาจทำให้เราต้องจ่ายภาษีในปีนั้นมากขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้น ก่อนที่ทุกคนจะย้ายงาน ก็อย่าลืมวางแผนบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ดี เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี และเงินทุนต่อการเก็บออมไว้ยามเกษียณ ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องนั่นเอง..
References
-https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/start-new-job-management-pvd
-https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/218-how-to-manage-money-of-pvd
-https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/216-benefits-when-quitting-pvd
-https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2563/250963.pdf
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.