Google ทำอย่างไร ให้ได้คนที่เก่ง คนที่ใช่ มาร่วมงาน

Google ทำอย่างไร ให้ได้คนที่เก่ง คนที่ใช่ มาร่วมงาน

31 ม.ค. 2022
Google ทำอย่างไร ให้ได้คนที่เก่ง คนที่ใช่ มาร่วมงาน | THE BRIEFCASE
รู้ไหมว่า Google ได้รับใบสมัครงานเฉลี่ยแล้ว ปีละ 2 ล้านฉบับ
ส่วนตำแหน่งงานที่ Google เปิดรับแต่ละปีนั้น อาจมีไม่กี่พันตำแหน่งเท่านั้น
ซึ่งถ้าเทียบในแง่อัตราการแข่งขัน การแข่งขันเข้าทำงานที่นี่ยากกว่าการสมัครเข้าเรียนที่ Harvard มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกเสียอีก
จนพูดได้ว่า ถ้าไม่แน่จริง ไม่เก่งจริง หรือไม่เข้าตาบริษัทจริง ๆ คงเป็นเรื่องยากที่จะได้เข้ามาทำงานที่นี่ เพราะที่ Google ต้องการหาคนที่เป็น “The best of the best”
แล้ว Google ใช้วิธีอะไร เพื่อหาคนที่ใช่ มาทำงาน ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
คุณ Laszlo Bock อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายจัดการด้านบุคลากรของ Google เคยบอกว่า
โดยทั่วไปแล้ว ระยะเวลาในการสรรหาพนักงานมาทำงานที่ Google ใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 6 สัปดาห์
ที่น่าสนใจคือ ก่อนที่ Google จะตอบรับผู้สมัครสักคนมาร่วมงานนั้น บริษัทจะมีวิธีคัดเลือกผู้สมัครที่เข้มข้นมาก เริ่มตั้งแต่
1. ตั้งมาตรฐานการคัดเลือกสูงสุด เพราะต้องการคนที่เป็น “The best of the best”
ซึ่งเรื่องนี้คุณ Laszlo Bock พูดว่า ที่ Google นั้น ก่อนที่เราจะจ้างใคร จะมีการทำลิสต์คุณสมบัติที่บริษัทกำลังมองหาออกมาก่อน แล้วจึงค่อยมองหาคนที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ที่จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งนั้น
แต่สิ่งที่สำคัญและน่าสนใจอีกอย่างที่คุณ Laszlo Bock บอกไว้ก็คือ “Hire only people who are better than you” หรือ หาคนที่เก่งกว่าคุณมาร่วมงาน
เขาบอกว่า แนวคิดนี้ ใช้กับทุกตำแหน่งที่ Google ไม่เฉพาะแต่ตำแหน่งสำคัญ ๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกสร้างมาเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท
ยกตัวอย่างเช่น ถ้า Google กำลังมองหาผู้ช่วยฝ่ายธุรการ เราจะไม่เพียงแค่มองหาคนที่สามารถรับโทรศัพท์และจัดตารางการประชุมเท่านั้น
แต่จะมองหาคนที่ยังสามารถช่วยจัดลำดับความสำคัญของงานในฝ่ายได้ด้วย และจะยิ่งดีถ้าผู้ช่วยสามารถทำงานได้ดีกว่าที่หัวหน้าเคยทำ ซึ่งจะช่วยทำให้หัวหน้าฝ่ายธุรการทำงานง่ายขึ้น
หลายครั้ง Google ต้องปฏิเสธผู้สมัครจำนวนมาก เพราะไม่มีคุณสมบัติตรงตามที่บริษัทต้องการ และต้องใช้เวลานานกว่าจะเจอผู้สมัครคนที่ใช่
แต่คุณ Laszlo Bock บอกว่า ที่นี่เราจะตั้งมาตรฐานให้สูง และไม่ยอมลดมันลง แม้จะก่อให้เกิดต้นทุนด้านเวลาก็ตาม
เขาบอกว่า บริษัทจำเป็นต้องอดทน และค้นหาคนที่ใช่ต่อไป เพราะคนที่ Google ต้องการนั้นคือ The best of the best จริง ๆ
2. หาคนที่ใช่ ด้วยตัวของบริษัทเอง
สมัยนี้หลายบริษัทมักใช้บริษัทจัดหางาน คอยค้นหาคนทำงานที่ต้องการ ซึ่งข้อดีคือ เข้าถึงฐานผู้สมัครได้กว้างกว่า ประหยัดเวลากว่า และลดภาระการทำงานของฝ่าย HR ซึ่ง Google เองก็ใช้บริษัทจัดหางาน แต่เฉพาะบางกรณีเท่านั้น ไม่ใช่ในทุกกรณี
ปัจจุบัน การรับสมัครงานของ Google ส่วนมากแล้วจะมาจากทั้งสมัครผ่านช่องทาง เช่น เว็บไซต์ของบริษัท หรือการแนะนำกันเองของพนักงานที่มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Googler
นอกจากนี้ ผู้จัดการที่ Google หลายคนยังถูกแนะนำให้ค้นหาผู้สมัครที่ต้องการบนแพลตฟอร์มอย่าง LinkedIn, Google+ หรือสอบถามจากพนักงานเก่า ๆ ที่เคยทำงานกับบริษัท หรือสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อที่จะได้คนที่เราต้องการ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่บริษัทมีแนวคิดการสร้างแพลตฟอร์มการรับสมัครเองโดยตรง
ก็เพราะบริษัทเชื่อว่า คนที่เข้ามาสมัครกับ Google เองนั้น คือ คนที่อยากเข้ามาร่วมงานด้วยกันจริง ๆ แสดงให้เห็นถึง Passion ที่มีต่อบริษัท
ซึ่งคนเหล่านี้มีโอกาสที่จะอยู่ร่วมกับองค์กรไปในระยะยาวนั่นเอง
3. ใช้ประโยชน์จากทีมทั้งหมด
พอพูดถึงเรื่องการมองหาคนมาร่วมงาน หลายคนมักนึกว่าเป็นหน้าที่ของฝ่าย HR หรือหัวหน้างานของคนที่สมัครตำแหน่งนั้นโดยตรง
ซึ่งนั่นไม่ผิด แต่จะดีแค่ไหน ถ้าเราสามารถเอาคนจากฝ่ายอื่นมาช่วยคัดเลือก หรือมองหาคนที่ใช่ เพื่อมาร่วมงาน และนี่คือสิ่งที่ Google ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง
โดยบริษัทจะขอตัวแทนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานนั้น รวมไปถึงขอเวลาสัก 1-2 ชั่วโมง เพื่อเข้าร่วมกระบวนการสัมภาษณ์ เพื่อให้ทีมหรือผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน มีส่วนร่วมในการเลือกคนเข้ามาทำงานในทีมของตัวเอง
ที่เป็นแบบนี้เพราะหลายครั้งถ้าใช้ผู้สัมภาษณ์คนเดียวอาจนำไปสู่การเกิดอคติ ไม่ว่าด้านบวกหรือด้านลบต่อผู้สมัครงาน อาจส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครคนนั้นก็ตาม
4. บอกเหตุผลที่น่าสนใจแก่ผู้สมัครว่า ทำไมจึงควรมาร่วมงานกับบริษัทเรา
โดยทั่วไปเวลาสัมภาษณ์งานนั้น บริษัทส่วนใหญ่มักจะถามว่า ทำไมผู้สมัครถึงอยากมาร่วมงานกับบริษัทเรา แต่ที่ Google ยังมีการบอกเหตุผลแก่ผู้สมัครว่า ทำไมจึงควรมาร่วมงานกับ Google
คุณ Jonathan Rosenberg อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้แก่ Alphabet บริษัทแม่ของ Google บอกว่า
บางครั้งแม้บริษัทอยากได้ผู้สมัครสักคนมาร่วมงาน แต่คนคนนี้กลับลังเลว่าจะมาร่วมงานกับ Google หรือไม่
Google จะโน้มน้าวด้วยการบอกว่า งานที่คุณกำลังจะทำที่นี่นั้นสำคัญต่อองค์กรมากแค่ไหน รวมไปถึงการมาร่วมงานกับเรา คุณมีโอกาสที่จะได้ทำงานกับคนเก่ง ๆ มากมายภายในบริษัท
และนี่คือ 4 ข้อที่ Google นำมาใช้เมื่อต้องการหาคนที่ใช่มาร่วมงาน
ซึ่งถ้าวันนี้บริษัทเรากำลังอยากได้คนที่ใช่มาทำงานกับเรา ลองนำวิธีคิดของ Google ที่ว่านี้ไปปรับใช้ดู
ก็อาจทำให้เราเจอคนที่ใช่มาร่วมงาน เพื่อช่วยให้องค์กรของเราเติบโตและก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นไปอีก ในอนาคต..
References:
-https://careersidekick.com/get-a-job-at-google-this-infographic-shows-your-odds/
-https://www.kalibrr.com/sites/default/files/featured_images/White_Paper_How_Google_Hires_Their_Talent.pdf
-https://en.wikipedia.org/wiki/Laszlo_Bock
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.