สรุปกลยุทธ์ ชาตรามือ ทำอย่างไรให้ขายดี มากว่า 70 ปี

สรุปกลยุทธ์ ชาตรามือ ทำอย่างไรให้ขายดี มากว่า 70 ปี

20 ก.พ. 2022
สรุปกลยุทธ์ ชาตรามือ ทำอย่างไรให้ขายดี มากว่า 70 ปี | THE BRIEFCASE
เมื่อพูดถึงแบรนด์ไทยที่เป็นตำนาน และยังคงเป็นกระแสอยู่จนถึงปัจจุบัน
หนึ่งแบรนด์ที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีคงต้องยกให้ “ชาตรามือ” แบรนด์ชาสูตรต้นตำรับ ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานถึง 77 ปี
ชาตรามือ แบรนด์ชาที่มีโลโกรูปมือชูนิ้วโป้งข้างกระป๋องสีแดง ที่ไม่ว่าจะไปร้านขายน้ำชาที่ไหน ทุกคนต่างก็ต้องเคยเห็น
แล้วชาตรามือมีกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างไร ? ถึงทำให้เป็นชาไทยอันดับหนึ่ง
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
1. ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับคนไทย
เริ่มแรกของธุรกิจชาตรามือนั้น คือการนำเข้าผลิตภัณฑ์ชาจากประเทศจีนเพื่อขายในประเทศไทย โดยใช้ชื่อร้านว่า ลิมเมงกี ตั้งอยู่ที่เฉลิมบุรี บนถนนเยาวราช มีผลิตภัณฑ์หลักคือ ชาจีน ชาอูหลง ชาเขียว และชาแดง
แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ชาร้อนจึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก
ดังนั้นร้านลิมเมงกีจึงได้เริ่มนำชาแดงของจีนมาประยุกต์ โดยการชงและเสิร์ฟพร้อมน้ำแข็งในรูปแบบเมนูชาไทย และชาดำ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ “ชาตรามือ” แบรนด์ที่ทุกคนได้เห็นกันในวันนี้
2. มองหาแหล่งทรัพยากรภายในประเทศ
เมื่อเวลาผ่านไปประเทศไทยเองก็ได้มีการปลูกใบชา และพัฒนาขึ้นเป็นชาไทย โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ปลูกใบชานั้นจะเป็นแถบภูเขาสูงในภาคเหนือของประเทศไทย
เช่น จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, แพร่ และแม่ฮ่องสอน
ผู้จัดการร้านในตอนนั้นที่ชื่อ นายทิง ได้ทำการบุกเบิกและตั้ง “โรงงานชาหอม” ขึ้น ณ ดอยวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
แต่ด้วยการขนส่งที่มีความยากลำบากในสมัยนั้นทำให้ต้องยกเลิกการผลิตไป แต่ก็ยังคงพัฒนาและสร้างเครือข่ายการจัดซื้อใบชากับผู้ปลูกชาในท้องถิ่นแทน
และเมื่อเวลาผ่านไปจึงได้ตั้ง “โรงงานใบชาสยาม” ขึ้นที่จังหวัดเชียงราย
ซึ่งปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็น บริษัท ชาไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ที่มีรายได้ในปี 2563 มากถึง 1,599 ล้านบาท และกำไร 26 ล้านบาท
3. พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ปัจจุบันชาตรามือได้ดำเนินธุรกิจและได้สืบทอดมาถึงทายาทรุ่นที่ 3
ซึ่งก็คือ คุณพราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช และได้มีการต่อยอดทางธุรกิจด้วยการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นที่จดจำมากขึ้น
โดยผลิตภัณฑ์ที่คนพูดถึงเป็นอย่างมากในปี 2560 นั่นก็คือ ชากุหลาบ
ด้วยสรรพคุณของชาที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ทำให้เกิดกระแสปากต่อปากกันในกลุ่มลูกค้า จนสามารถขยายการขายไปถึงกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นและคนทำงานได้
นอกจากการขยายธุรกิจร้านเครื่องดื่มชา-กาแฟแล้ว
คุณพราวนรินทร์ ยังคงนำเสนอซอฟต์ไอศกรีม เพื่อสื่อสารให้กับลูกค้าที่ซื้อชา ว่าผลิตภัณฑ์ของชาตรามือนั้นสามารถนำไปทำเมนูอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเครื่องดื่มได้อีกด้วย
ในปี 2563 บริษัท ทิพย์ธารี จำกัด (แปรสภาพมาจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพย์ธารี) ที่ดำเนินกิจการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มของชาตรามือ
มีรายได้รวม 446 ล้านบาท และกำไร 49 ล้านบาท
สรุปได้สั้น ๆ ว่า เพราะความคิดทางธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่ง การปรับเปลี่ยนสินค้าให้เข้ากับสังคม และความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีอยู่เสมอ
ทำให้ชาตรามือสามารถดำเนินธุรกิจมาได้อย่างยาวนานนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มก็ยังถือว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง และเนื่องจากกระแสชาไต้หวันในปัจจุบันที่เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจและน่าจับตามองคือ ธุรกิจการขายเครื่องดื่มของชาตรามือ จะสามารถเป็นเจ้าตลาดของเครื่องดื่มชาในไทย ได้หรือไม่..
References
- https://www.cha-thai.com/history
- https://www.longtunman.com/1682
- https://readthecloud.co/nextgen-4/
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.