วิเคราะห์ โปรโมชันตั๋ว 0 บาท สายการบินได้อะไร ?

วิเคราะห์ โปรโมชันตั๋ว 0 บาท สายการบินได้อะไร ?

19 มี.ค. 2022
วิเคราะห์ โปรโมชันตั๋ว 0 บาท สายการบินได้อะไร ? | BrandCase
ถ้าถามว่า ธุรกิจไหนที่ชอบใช้กลยุทธ์ จัดโปรโมชันที่มักสร้างความฮือฮา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า
หนึ่งในนั้นต้องมีธุรกิจสายการบิน ที่มักออกตั๋วโปรโมชัน 0 บาทออกมาเป็นระยะ ๆ
แล้วเคยสงสัยไหมว่า สายการบินที่ออกโปรโมชันตั๋วโดยสาร 0 บาท เขาได้อะไร ?
แน่นอนว่า โปรโมชัน “ตั๋ว 0 บาท” มักทำให้ลูกค้าถูกอกถูกใจ และพยายามหาทางจองตั๋วเครื่องบินลักษณะนี้ เพราะขึ้นชื่อว่า ของถูก เป็นใครบ้างจะไม่ชอบ
ยิ่งถ้าเป็นคนชอบเดินทางด้วยเครื่องบิน และเป็นเส้นทางที่เราต้องการเดินทางไปอยู่แล้ว แทบไม่ต้องคิดอะไรมาก
แต่อีกมุมหนึ่ง เราอาจสงสัยว่า แล้วสายการบินที่ออกตั๋ว 0 บาท จะมีกำไรตรงไหน และทำไมเขาจึงยอมที่จะขายตั๋วราคานี้
เรื่องนี้เราวิเคราะห์ได้เป็น 3 ประเด็นหลัก ๆ
ประเด็นที่ 1 ตั๋ว 0 บาท มาพร้อมกับการขายบริการเสริมอื่น ๆ
ถ้าเราลองจองตั๋วเครื่องบินภายใต้โปรโมชันนี้ เราจะพบว่า จริง ๆ แล้วเราไม่ได้จ่ายค่าตั๋วที่ราคา 0 บาท
เพราะสายการบินจะมีหมายเหตุระบุไว้ว่า ราคาบัตรโดยสาร จะไม่รวมค่าภาษีสนามบิน บริการเสริม และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายแยกต่างหาก
นั่นหมายความว่า จริง ๆ แล้ว ราคาที่เราต้องจ่ายจะไม่ได้เป็น 0 บาท อย่างที่เราเข้าใจ ซึ่งในทางการตลาดนั้น กลยุทธ์ที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า “Add-on Business Model”
ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ขาย ซึ่งในกรณีนี้คือ สายการบิน พยายามเสนอขายสินค้าราคาถูก บางทีถึงขนาดตั้งราคาไว้ที่ 0 บาท แล้วค่อยมาเพิ่มขายสินค้าและบริการอื่น ๆ ตามมา
โดยค่าบริการเสริมหลายอย่าง เป็นสิ่งจำเป็น
ทำให้ถ้าลูกค้าซื้อตั๋วเครื่องบินภายใต้โปรโมชัน 0 บาท พวกเขาก็จำเป็นและเต็มใจที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเหล่านั้น
ประเด็นที่ 2 เพื่อกระตุ้นยอดขายในเส้นทางการบินที่ไม่ค่อยมีคนเดินทาง
หลายครั้งเราจะเห็นว่า ตั๋วเครื่องบินที่มาพร้อมกับโปรโมชัน 0 บาท มักมีจำนวนจำกัด และยังมีให้บริการในบางเส้นทางและบางช่วงบางเวลาเท่านั้น
โดยเฉพาะในเส้นทางที่ได้รับความนิยมน้อย รวมไปถึงช่วงเวลาที่คนไม่ค่อยเดินทาง หรือ “Low season”
ที่เป็นแบบนี้เนื่องจาก การที่สายการบินจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายคงที่ หรือ Fixed cost เช่น ค่าน้ำมัน ที่ไม่ต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะบินด้วยจำนวนคนเต็มเครื่องหรือไม่เต็มเครื่อง
ดังนั้น การปล่อยให้มีที่นั่งว่างเยอะ ๆ ถือเป็นค่าเสียโอกาสของสายการบิน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ที่ว่างบนเครื่องเหล่านั้นถูกนำมาจัดเป็นโปรโมชันตั๋ว 0 บาท แทนที่จะปล่อยให้ที่ว่างไปแล้วไม่มีรายได้แม้เล็กน้อย จากที่นั่งเหล่านั้นเลย
ประเด็นที่ 3 ได้เงินสด มาหมุนเวียนในกิจการ
ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะส่วนใหญ่การจองตั๋วประเภทนี้ล่วงหน้า ลูกค้ามักต้องจองล่วงเวลานานพอสมควร หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “จ่ายก่อน บินทีหลัง”
ซึ่งมองอีกมุมหนึ่งหมายความว่า สายการบินนั้นมีการรับเงินค่าโดยสารล่วงหน้ามาก่อน ทำให้สายการบินสามารถนำเงินก้อนดังกล่าว มาหมุนเวียนใช้ในบริษัท โดยไม่จำเป็นต้องไปกู้แล้วต้องจ่ายดอกเบี้ย
เพราะเงินที่ได้จากการจองตั๋วล่วงหน้าของลูกค้านั้น แทบจะไม่มีต้นทุนเลย
ยังไม่รวมผลพลอยได้อื่น ๆ เช่น การสร้าง Brand awareness ให้แก่สายการบินที่จัดโปรโมชัน เพราะจะทำให้ลูกค้ามีการแชร์ข้อมูลดังกล่าว มีการพูดถึงเกี่ยวกับสายการบินที่จัดโปรโมชันกันมากขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ เราน่าจะหายสงสัยไปบ้างไม่มากก็น้อยว่า
ทำไมสายการบินถึงต้องออกตั๋วโดยสารราคา 0 บาท
และคงได้รู้ว่า การออกโปรโมชันแบบนี้ จริง ๆ แล้ว สายการบินได้อะไร มากกว่าที่เราคิด..
References:
-https://newsroom.airasia.com/news/2020/2/23/airasia-x-launches-first-ever-long-haul-free-seat-sale
-https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/992338
-https://digitalbusinessconsult.asia/view/668/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.