ทำไม MAJOR ต้องลงทุนใน เถ้าแก่น้อย และ เวิร์คพอยท์

ทำไม MAJOR ต้องลงทุนใน เถ้าแก่น้อย และ เวิร์คพอยท์

28 มี.ค. 2022
ทำไม MAJOR ต้องลงทุนใน เถ้าแก่น้อย และ เวิร์คพอยท์ | BrandCase
เมื่อไม่นานมานี้ เราคงได้ยินข่าวว่า MAJOR เจ้าของธุรกิจโรงภาพยนตร์รายใหญ่ในไทย มีการเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นของเถ้าแก่น้อย และเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์
แล้วการเข้าไปลงทุนของ MAJOR ใน 2 บริษัทนี้ จะต่อยอดธุรกิจของ MAJOR ได้อย่างไร ?
เริ่มจากมารู้จัก MAJOR กันคร่าว ๆ
MAJOR เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์รายใหญ่ และมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ
เช่น ธุรกิจโบว์ลิงและคาราโอเกะ ธุรกิจลานสเกตน้ำแข็ง ธุรกิจพื้นที่ให้เช่าและศูนย์การค้า ธุรกิจการสร้างและการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ และธุรกิจบริการสื่อโฆษณา
แต่อย่างที่หลายคนทราบดีว่า
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้หลายธุรกิจได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก หนึ่งในนั้นคือธุรกิจโรงภาพยนตร์
ลองมาดูผลประกอบการของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2562 รายได้ 10,822 ล้านบาท กำไร 1,170 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 3,936 ล้านบาท ขาดทุน 527 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 3,365 ล้านบาท กำไร 1,581 ล้านบาท
แม้จะเห็นว่าปีที่ผ่านมา บริษัทจะพลิกกลับมาทำกำไรได้
แต่สาเหตุก็เนื่องจากการที่ MAJOR ได้รับรู้กำไร จากการขายหุ้นของบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ “SF” จำนวน 3,163 ล้านบาท
หมายความว่า ถ้าไม่มีกำไรจากรายการพิเศษก้อนนี้ บริษัทก็จะขาดทุนหนักอีกปีเช่นกัน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทาง MAJOR จึงต้องมีการปรับตัวกันครั้งสำคัญ ด้วยการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อต่อ
ยอดรายได้ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น
เริ่มจาก การซื้อหุ้นของเถ้าแก่น้อย หรือ “TKN”
ซึ่งปัจจุบัน MAJOR เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 4 ของเถ้าแก่น้อย โดยถือหุ้นอยู่ เป็นสัดส่วน 4.9%
คำถามคือ MAJOR มองเห็นโอกาสอะไรกับการลงทุนในครั้งนี้ ?
หลายคนที่ชอบไปดูหนังคงทราบว่า สำหรับธุรกิจโรงภาพยนตร์นั้น นอกจากจะมีรายได้จากการจำหน่ายบัตรแล้วนั้น
รายได้จากการขายเครื่องดื่มและพ็อปคอร์น ไปจนถึงของทานเล่นอื่น ๆ ก็ถือว่ามีความสำคัญต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์ไม่น้อย
โดยในปี 2563 นั้น รายได้ในส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 19% ของรายได้รวมของ MAJOR
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19
MAJOR ได้ขายพ็อปคอร์นแบบซื้อกลับไปทานที่บ้าน หรือ “Take Away”​ โดยสามารถสั่งผ่านช่องทาง Delivery ซึ่งปรากฏว่า ได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากลูกค้า
พอเรื่องเป็นแบบนี้ MAJOR จึงตัดสินใจซื้อหุ้นของบริษัทเถ้าแก่น้อย เพื่อเข้าไปเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน
เพราะเถ้าแก่น้อยนั้น มีช่องทางการจำหน่ายที่แข็งแกร่งและมีการตลาดที่ดี
ซึ่งน่าจะช่วยต่อยอดธุรกิจขายอาหารทานเล่นได้ ไม่มากก็น้อย ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากธุรกิจโรงภาพยนตร์ในอนาคต
หลังจากนั้นไม่นาน MAJOR ก็ได้ประกาศว่า บริษัทได้เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นของ เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ หรือ “WORK” ผ่านตลาดหุ้น
ปัจจุบัน MAJOR เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 3 ของ เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์
โดยถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 4.2%
ซึ่งสำหรับ MAJOR นั้น บริษัทก็มีธุรกิจผลิตภาพยนตร์อยู่แล้ว ในขณะที่ เวิร์คพอยท์ ก็เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่แข็งแกร่ง
ทางผู้บริหารของ MAJOR ก็บอกว่า การเข้าไปถือหุ้นในเวิร์คพอยท์ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ จากการต่อยอดอุตสาหกรรมภาพยนตร์กับการผลิตคอนเทนต์ให้มากขึ้น
ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างโอกาสในการลงทุน ร่วมกันในอนาคต
ซึ่งการลงทุนในหุ้นของทั้ง เถ้าแก่น้อยและเวิร์คพอยท์ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารเงินลงทุน ที่ได้จากการขายหุ้น SF เมื่อปีก่อน
โดยเป็นการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่มีโอกาสต่อยอดธุรกิจกับ MAJOR ในอนาคต รวมไปถึงโอกาสในการรับเงินปันผลจากทั้ง 2 บริษัทตลอดช่วงเวลาที่ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัทนี้
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การเดินเกมของ MAJOR ในครั้งนี้ จะช่วยให้บริษัทฟื้นตัวกลับมาเติบโตอีกครั้งได้มากน้อยแค่ไหน
แต่ที่แน่ ๆ สำหรับ MAJOR นั้น การลงทุนในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของบริษัท ที่น่าสนใจไม่น้อย..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
References:
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564, บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
-https://www.bangkokbiznews.com/business/994071
-https://www.set.or.th/set/pdfnews.do?newsId=16469550159101&sequence=2022032866
-แบบ 56-1 ปี 2563, บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.