กรณีศึกษา แคมเปญให้เช่าห้องเดือนละ 30 บาท ของ IKEA ในญี่ปุ่น

กรณีศึกษา แคมเปญให้เช่าห้องเดือนละ 30 บาท ของ IKEA ในญี่ปุ่น

16 เม.ย. 2022
กรณีศึกษา แคมเปญให้เช่าห้องเดือนละ 30 บาท ของ IKEA ในญี่ปุ่น | BrandCase
ถ้าเราต้องการเช่าห้องพักในประเทศญี่ปุ่น ที่มีขนาดห้องใกล้เคียงกับคอนโดมิเนียมในประเทศไทย (ประมาณ 30 ตารางเมตร) เราจะต้องจ่ายเงินราว ๆ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป
ยิ่งเป็นมหานครใหญ่อย่าง โตเกียว ราคาค่าเช่าห้องต่อเดือนก็ยิ่งเริ่มต้นสูงขึ้นไปกว่านั้นได้อีกเป็นเท่าตัว
แต่เมื่อปีที่แล้ว ทาง IKEA ได้ออกแคมเปญ “Tiny Homes” ให้เช่าห้องขนาด 10 ตารางเมตร ในราคาไม่ถึง 30 บาทต่อเดือนเท่านั้น
ถึงแม้ภายในห้องจะมีขนาดเล็กมากก็ตาม แต่ IKEA ก็ออกแบบ และใส่เฟอร์นิเจอร์เข้าไปได้อย่างครอบคลุมครบทุกฟังก์ชัน เพื่อให้เหมาะสมกับวิถีการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น
โดยแคมเปญนี้ถูกจัดขึ้นในอะพาร์ตเมนต์ เขตชินจูกุ จังหวัดโตเกียว
ซึ่งเป็นย่านการค้า และย่านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ที่ปกติแล้วค่าเช่าห้องย่านชินจูกุ จะเริ่มต้นที่ราคาประมาณ 21,000 บาทต่อเดือน สำหรับขนาดห้อง 13-20 ตารางเมตร
พอเป็นแบบนี้ ก็ทำให้การทำแคมเปญ Tiny Homes ของ IKEA ในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากคนญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก
หลายคนอาจจะมองว่าแคมเปญนี้ไม่ได้อะไร นอกจากคำว่า “ขาดทุน”
แต่หากมองไปที่รายละเอียด และเงื่อนไขต่าง ๆ นั้น จะพบว่า IKEA ได้อะไรมากกว่าที่เราคิด
1. ได้โปรโมตแบรนด์แบบเต็ม ๆ
สิ่งที่ได้จากการทำแคมเปญนี้คือ การถูกเป็นที่พูดถึง ทั้งจากสื่อและจากคนในประเทศญี่ปุ่น
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ที่ดินของประเทศญี่ปุ่นนั้นมีราคาสูงมาก แต่ IKEA กลับตั้งราคาค่าเช่าเพียงแค่ประมาณ 30 บาทต่อเดือนเท่านั้น
การออกแคมเปญนี้ จึงเรียกความสนใจจากผู้คนอยู่ไม่น้อย ถึงแม้ไม่ได้สนใจเช่าห้องพักของ IKEA แต่สามารถเห็นการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA ตามโฆษณาของแคมเปญนี้ ที่นำเสนอให้เห็นว่าเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA สามารถเข้าไปอยู่ในที่พักอาศัยเล็ก ๆ ของคนญี่ปุ่นได้
หรือในลูกค้าบางคนที่มีห้องพักเป็นของตัวเองอยู่แล้ว เมื่อเห็นการแต่งห้องของ IKEA คงเกิดความคิดที่อยากจะแต่งห้องให้สวยแบบนั้นบ้าง ทำให้เกิดการซื้อสินค้าตามตัวอย่างห้องที่โฆษณานั่นเอง
2. โอกาสในการสร้างฐานข้อมูลจากลูกค้าที่สนใจเข้าร่วมแคมเปญ
เงื่อนไขที่น่าสนใจที่ทาง IKEA ได้กำหนดสำหรับการเข้าร่วมแคมเปญคือ ผู้ที่สามารถเช่าห้องพักได้ ต้องเป็นสมาชิกของ IKEA Family และมีอายุ 20 ปีขึ้นไปเท่านั้น จึงจะได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็นผู้เช่าในขั้นต่อไป
ส่งผลให้คนมากมายที่เดิมทีแล้วไม่ได้เป็นสมาชิก แต่ต้องการเช่าห้อง เข้ามาสมัครสมาชิกกันมากขึ้น เพื่อให้มีคุณสมบัติที่สามารถเป็นผู้เช่าในแคมเปญนี้ได้
ในการสมัครเป็นสมาชิกนั้น ทุก ๆ ครั้งที่มีการซื้อสินค้า บริษัทจะเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้า เพื่อนำมาปรับแผนการตลาด ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
เช่น สินค้าที่คนชอบถูกใจ สินค้าขายดี ขนาดสินค้าที่ขายดี หรือสีที่ได้รับความนิยม
เมื่อรู้ความต้องการเหล่านี้แล้ว จะนำไปสู่ขั้นตอนการวางแผนการขาย หรือการจัดโปรโมชันให้ถูกใจและตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด
3. การเสนอสินค้าทดลองใช้
เงื่อนไขอย่างที่ 2 คือแคมเปญได้บอกระยะเวลาในการเช่าไว้ว่า เป็นเพียงการเช่าระยะสั้นเท่านั้น
ซึ่งสัญญาการเช่านี้จะหมดลงในวันที่ 15 มกราคม 2023
การที่แคมเปญให้เช่าห้องนี้มีระยะเวลาที่จำกัดนั้น เปรียบเหมือนการให้สินค้าทดลองแก่ลูกค้า
แล้วจะเป็นอย่างไรเมื่อแคมเปญนี้สิ้นสุด ?
คงต้องติดตามกันต่อไปในอนาคตว่า IKEA จะทำธุรกิจให้เช่าที่พักอาศัยต่อไปหรือไม่
แต่สิ่งหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นคือ ลูกค้าที่ได้เช่าห้องพักจากแคมเปญนี้ คงต้องมีอาการติดใจกับเฟอร์นิเจอร์กันบ้าง และเมื่อเป็นแบบนี้ก็จะทำให้เกิดความต้องการบริโภคต่อไป
สรุปแล้วการออกแคมเปญนี้ของ IKEA ถึงแม้จะต้องใช้ต้นทุนสูง ทั้งด้านเฟอร์นิเจอร์และค่าเช่าที่
แต่สิ่งที่ได้มานั้น คิดดูดี ๆ มันมีอะไรมากกว่าที่เราคิด
เพราะมันคือการเปลี่ยนงบสำหรับทำการตลาดหรือโฆษณาแบบตรง ๆ มาโปรโมตแบบอ้อม ๆ
ด้วยกิมมิกที่ทำให้คนจำนวนมาก หันมาสนใจในตัวแบรนด์..
References:
-https://www.insider.com/ikea-japan-leasing-tiny-homes-less-than-dollar-a-month-2021-11
-https://blog.gaijinpot.com/how-much-is-the-average-rent-in-tokyo/
-https://resources.realestate.co.jp/rent/what-is-the-average-rent-in-tokyo-2020-ranking-by-ward-and-layout/
-https://www.globalpropertyguide.com/Asia/Japan
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.