กลยุทธ์ ปัดฝุ่นสินค้าเคยฮิต ให้กลับมาขายได้อีกครั้ง

กลยุทธ์ ปัดฝุ่นสินค้าเคยฮิต ให้กลับมาขายได้อีกครั้ง

24 เม.ย. 2022
กลยุทธ์ ปัดฝุ่นสินค้าเคยฮิต ให้กลับมาขายได้อีกครั้ง | BrandCase
เคยสังเกตกันไหมว่า สิ่งของที่เคยฮิต หรือเรื่องราวในอดีตที่อยู่ในความทรงจำของเรา มักย้อนกลับมาในรูปแบบใหม่ ๆ ให้เราได้เห็นอยู่เสมอ เหมือนอย่างเช่น ตู้ถ่ายรูปสติกเกอร์ เครื่องเล่นแผ่นเสียง และภาพยนตร์เก่า..
ปัจจุบันแบรนด์สินค้าหรือบริษัทต่าง ๆ เริ่มหันมาทำการตลาดที่เล่นกับความรู้สึกของผู้คนมากขึ้น ด้วยการนำสินค้าที่เคยดังในอดีต หรือเป็นกระแสที่คนเคยนิยม กลับมาขายในรูปแบบใหม่
ไม่ว่าจะเป็น สินค้า บริการ ไปจนถึงรายการทีวี และภาพยนตร์ที่ถูกนำมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์
การนำสิ่งเก่ามาเล่าเรื่องใหม่ สามารถอธิบายได้ด้วยกลยุทธ์ “Nostalgia Marketing” หรือที่เรียกกันว่า การตลาดแบบย้อนยุค
แล้วการตลาดแบบย้อนยุคนั้น มีความน่าสนใจอย่างไร ? BrandCase จะสรุปให้ฟัง..
คำว่า “Nostalgia Marketing” มาจากคำว่า Nostalgia ที่แปลว่า ความรู้สึกโหยหา หรือความคิดถึง
พอนำมารวมกับคำว่า Marketing จึงหมายถึง การตลาดที่นำเอาความคิดถึง มาต่อยอดทางธุรกิจ
การตลาดแบบย้อนยุค เป็นกลยุทธ์การตลาดที่นำเอาความคิดถึง หรือความคุ้นเคยจากความทรงจำในอดีต มาสร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ
เพราะบางครั้ง สิ่งที่เราคิดว่ามันตกยุคไปแล้ว แต่เมื่อมันย้อนกลับมาให้ได้เห็น ก็มักจะทำให้เรานึกถึงมันได้อยู่เสมอ
เพราะฉะนั้น การนำสิ่งที่เคยฮิตในอดีตกลับมาทำใหม่ จะทำให้คนเกิดความรู้สึกคิดถึง และตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการนั้นง่ายขึ้น
อย่าง “ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ” ที่ในสมัยก่อนได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่น
เมื่อถ่ายออกมา จะได้รูปสติกเกอร์ที่มีลวดลายน่ารัก ไว้แปะตามกระจกหรือไดอารีของเรา
แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ผู้คนหันไปใช้สมาร์ตโฟนถ่ายรูปแทน
ได้ทำให้ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติเหล่านั้น หมดความนิยมไป..
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการนำตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ มาทำเป็นรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการดีไซน์ตู้ให้ทันสมัย เช่น มีธีมต่าง ๆ ให้เลือกมากขึ้น, สามารถเก็บภาพแบบเคลื่อนไหวได้, กล้องมีความคมชัดมากขึ้น และนอกจากจะพรินต์รูปมาเก็บได้แล้ว ยังสามารถเก็บรูปให้เป็นแบบไฟล์ดิจิทัลได้อีกด้วย
จนกลายเป็นกระแสในสังคม ซึ่งเห็นได้จากการยืนรอต่อแถวเข้าใช้บริการตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติ
ที่จะมีตั้งแต่คนกลุ่ม Millennials ไปจนถึงกลุ่มคน Gen Z
อีกหนึ่งสินค้าที่กลับมาฮิต ก็คือ “เครื่องเล่นแผ่นเสียง” ที่เริ่มมาจากเทรนด์การสะสมแผ่นเสียง (Vinyl record)
ส่งผลให้บางอัลบั้มของศิลปินสมัยเก่า เริ่มกลับมามีความต้องการ และกลายเป็นสินค้าหายาก ทำให้มันมีราคาที่สูงขึ้น
และเมื่อเกิดกระแสการสะสมแผ่นเสียง การผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบใหม่ จึงเริ่มมีให้เห็นตามมา
โดยการพัฒนาแผ่นเสียงรูปแบบใหม่นี้ จะปรับให้เข้ากับพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น
ทำให้หลายบริษัทเริ่มปรับตัว ด้วยการนำเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบบลูทูทเข้ามาใช้
พร้อมกับปรับดีไซน์สินค้า ทั้งรูปทรงและสีให้ดูดีมากขึ้น
ที่เป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่า คนรุ่นใหม่บางกลุ่ม ไม่ได้ชอบความเก่าของเครื่องเล่นแผ่นเสียง แต่ชอบในความคลาสสิกของมันมากกว่า
ถึงแม้ว่าราคาสินค้าจะสูงก็ตาม แต่ด้วยความคลาสสิกของมัน ทำให้หลายคนยอมจ่ายเงินซื้อ
หรือจะเป็นช่วงเวลาดี ๆ ในอดีต ที่ถูกนำกลับมาทำเป็น “ธีม” ที่ใช้ในการโฆษณา
ด้วยการดึงอารมณ์ร่วมของผู้คนที่เคยอยู่ในสมัยนั้น และมีความทรงจำร่วมกันให้หันมาสนใจ
เหมือนอย่างแคมเปญ Netflix รามา ที่เป็นการโปรโมตหนังไทยในสมัยก่อนที่เคยดัง
ด้วยการนำโปสเตอร์หนัง ไปติดตามโรงหนังเก่าที่เลิกกิจการไปแล้ว
ซึ่งแคมเปญนี้ ได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก
เพราะเมื่อภาพของแคมเปญนี้ถูกปล่อยออกมา
ผู้คนต่างเข้าไปแสดงความคิดเห็นใต้รูป ตามโรงหนังที่ตัวเองเคยไปเมื่อในอดีตกันอย่างสนุกสนาน
จากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า หากเรามีการนำธุรกิจที่เคยฮิตในสมัยก่อน
มาปรับเปลี่ยนทั้งเทคโนโลยี รูปลักษณ์สินค้า ความทันสมัย และคุณภาพที่ดีมากขึ้น
ซึ่งถ้าทำได้ นอกจากจะทำให้คนรุ่นเก่าได้ย้อนกลับมาสัมผัสความรู้สึกเหมือนในสมัยก่อนแล้ว
ยังอาจดึงดูดความสนใจจากคนยุคใหม่
ให้สนใจคุณค่าของความคลาสสิกในอดีต ได้อีกด้วย..
References:
-https://fabrikbrands.com/nostalgia-marketing/
-https://bluesyemre.files.wordpress.com/2019/11/connecting-the-dots-consumer-trends-that-will-shape-2020.pdf
-https://advertisingweek.com/why-the-nostalgia-social-media-trend-is-one-to-watch-in-2021/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.