สรุปความเป็นมา และการปรับตัวของ นมไทย-เดนมาร์ค

สรุปความเป็นมา และการปรับตัวของ นมไทย-เดนมาร์ค

26 พ.ค. 2022
สรุปความเป็นมา และการปรับตัวของ นมไทย-เดนมาร์ค | BrandCase
นมไทย-เดนมาร์ค ถือเป็นนมอีกแบรนด์ที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน แล้วเราเคยสงสัยไหมว่า ทำไม นมไทย-เดนมาร์ค ต้องมีคำว่า “เดนมาร์ค” อยู่ด้วย
แล้วความเป็นไทยกับเดนมาร์กนั้น เกี่ยวข้องอะไรกัน ?
ในบทความนี้ BrandCase จะสรุปให้ฟัง..
จุดเริ่มต้นของนมไทย-เดนมาร์ค หรือที่คนทั่วไปมักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “นมวัวแดง” เกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2503 หรือเมื่อ 62 ปีที่แล้ว
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสประเทศเดนมาร์ก และให้ความสนพระทัยในกิจการโคนมของที่นั่น
ต่อมารัฐบาลของเดนมาร์ก ได้ตกลงทำสัญญาโครงการโคนมระหว่างไทยกับเดนมาร์กขึ้น
และในเวลาต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งฟาร์มโคนมที่ใช้ชื่อว่า “ไทย-เดนมาร์ค” ขึ้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ในปี 2505
และนี่ก็คือความเป็นมา ของชื่อนม ไทย-เดนมาร์ค นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ากิจการฟาร์มโคนมของไทย-เดนมาร์ค ในช่วงแรกก็ถือว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เนื่องจากในเวลานั้น คนไทยยังไม่นิยมดื่มนมโคกันมากนัก
ดังนั้น ในปี 2515 จึงได้มีการก่อตั้ง องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง อ.ส.ค.
คือ ต้องการส่งเสริมกิจกรรมการตลาด ประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมในประเทศ เพื่อให้คนไทยรู้ถึงประโยชน์ของการดื่มนมมากขึ้น
หลังจากได้ทำการตลาด ยอดขายนมโคของ อ.ส.ค. ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จนในปัจจุบัน นมไทย-เดนมาร์ค ครองส่วนแบ่งทางการตลาดราว 9% ในตลาดนมกล่องพร้อมดื่ม
แต่ปัจจุบัน เนื่องจากมีคู่แข่งทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ อ.ส.ค. จำเป็นต้องมีการพัฒนาสินค้าให้หลากหลายมากขึ้นกว่าการขายเพียงแค่นมโค
เราจึงเห็นผลิตภัณฑ์ของไทย-เดนมาร์คในวันนี้ ที่ไม่ได้มีเพียงแค่นมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโยเกิร์ตพร้อมดื่ม น้ำดื่ม และไอศกรีม อีกด้วย
สำหรับในปี 2563 ที่ผ่านมา มูลค่าตลาดนมพร้อมดื่มในประเทศไทย อยู่ที่ประมาณ 61,000 ล้านบาท และในอนาคตก็มีโอกาสที่จะเติบโตต่อไป
แล้วทำไมนมพร้อมดื่มในประเทศไทย ถึงมีโอกาสเติบโตต่อได้ ?
ทั้งนี้ ก็เนื่องจากอัตราการดื่มนมของคนไทยนั้นยังถือว่าต่ำ
โดยมีสัดส่วนการบริโภคนมเพียงแค่ 19 ลิตรต่อคนต่อปี ซึ่งน้อยกว่าสิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 62 ลิตรต่อคนต่อปี
ทำให้รัฐบาลไทยตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวให้คนไทย มีการบริโภคนมไม่ต่ำกว่า 25 ลิตรต่อคนต่อปี ภายในปี 2570
ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นปัจจัยบวกแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตนมพร้อมดื่ม รวมทั้งนมไทย-เดนมาร์ค ด้วยเช่นกัน
แล้วรายได้ของ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย เป็นอย่างไร ?
ปี 2562 รายได้ 10,116 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 9,652 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 9,726 ล้านบาท
จากตัวเลขข้างต้นนี้ เราจะเห็นว่ารายได้ในช่วง 2 ปีล่าสุด ลดลงต่ำกว่าหลักหมื่นล้านบาท
ซึ่งทางผู้บริหารของ อ.ส.ค. มองว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากการระบาดของโควิด 19 จนส่งผลกระทบต่อยอดขายไปบ้าง แต่ก็ตั้งเป้าที่จะทำรายได้ให้กลับไปทะลุ 10,000 ล้านบาทอีกครั้ง ในปีนี้
ส่วนในปัจจุบัน ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการแปรรูปนมและผลิตภัณฑ์นมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยแล้ว
ที่ฟาร์มแห่งนี้ยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัส และชื่นชมความงดงามของธรรมชาติ พร้อมเรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจร
ซึ่งเป็นอีกส่วนที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ อ.ส.ค. อีกทางหนึ่งด้วย
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าในปี 2565 นี้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย จะทำให้รายได้ดีดกลับมาเป็นหลักหมื่นล้านบาทได้หรือไม่..
References:
- https://thaidanskmilk.com/ตำนานแห่งไทย-เดนมาร์ก-นม
- http://fic.nfi.or.th/FoodMarketShareInThailandDetail.php?id=307
https://investexportbrasil.dpr.gov.br/arquivos/Publicacoes/Estudos/final-report-cheese-and-dairy-products-bangkok.pdf
- รายงานประจำปีขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย
- งบการเงินองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย
- http://www.thaismescenter.com//10-เรื่องจริงที่คุณไม่รู้-นมไทย-เดนมาร์ค/
- https://mgronline.com/business/detail/9640000122764
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.